โบราณสถานและสถานที่สำคัญในเขตเมืองสวางคบุรี ของ เมืองสวางคบุรี

ภาพเก่าวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ สถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรี
  • วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ วัดพระฝางหรือวัดพระมหาธาตุเมืองฝางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งชาวบ้านบางคนเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บารมีของเจ้าพระฝาง เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเมืองฝาง ปูชนียสถานสำคัญและเป็นศูนย์กลางของเมืองสวางคบุรี
  • โบราณสถานวัดโพธิ์ผียก ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองสวางคบุรี ใกล้กับหอประปาบ้านพระฝางหมู่ที่ 4 เดิมเคยเป็นที่ตั้งของที่ทำการป่าไม้แขวง บริเวณนี้มีเคยมีการพบฐานวิหารและฐานเจดีย์ ในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ตอนปลาย ซึ่งถูกทำลาย ปัจจุบันพบเพียงเศษอิฐและกระเบื้องแตกกระจายอยู่ทั่วบริเวณไร่อ้อย วัดนี้อยู่ทางตะวันออกของบ้านพระฝางในปัจจุบัน และคงถูกได้รับความเสียหายในช่วงศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313 ต่อมาจึงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากมีผู้คนและแรงงานในการปฏิสังขรณ์ไม่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีชาวเมืองสวางคบุรีมีการย้ายถิ่นฐานหลังสิ้นศึกครั้งนี้ เหตุที่ชาวบ้านเรียกชื่อวัดโพธิ์ผียกนั้น มาจากในอดีตบริเวณนี้มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ต่อมาในถูกพายุพัดโค่นลงในตอนเย็นของวัน ๆ หนึ่ง พอถึงรุ่งเช้าชาวบ้านมาดูอีกครั้งพบว่าต้นโพธิ์กลับยืนต้นอยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านจึงเชื่อว่ามีผีมายกต้นโพธิ์ขึ้น จึงเรียกชื่อว่าโพธิ์ผียกตั้งแต่นั้นมา[58]
  • ซากโบราณสถานใกล้กำแพงวัดพระฝางทางทิศตะวันออก ซากโบราณสถานแห่งนี้ปัจจุบันอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน อยู่ใกล้กับแนวกำแพงและประตูวัดพระฝางทางทิศตะวันออก แต่เดิมบริเวณนี้เคยมีการพบซากโบราณสถานกลุ่มหนึ่ง แต่ถูกชาวบ้านขุดหาของมีค่า ในระยะหลังมีการนำดินมาถมทับซากโบราณสถานจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว[59]
ซากโบราณสถานวัดคุ้งตะเภา ที่ตั้งค่ายพระตำหนักหาดสูงตามพระราชพงศาวดาร
  • โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี เป็นจุดที่ตั้งของที่พักทัพไพร่พลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวกระทำศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี และมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เกลี่ยกล่อมรวบรวมราษฎรที่หลบหนีภัยสงครามตามป่าเขา และจัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ พร้อมทั้งสถาปนาวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันนั้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี วัดคุ้งตะเภาเคยปรากฏหลักฐานการเป็นที่สถิตย์จำพรรษาของพระครูสวางคมุนี ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[60] มาแต่โบราณ ปัจจุบันปรากฏซากอาคารไม้ เศษอิฐโบราณ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานสมุดไทยดำพระราชกำหนดบทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ จำนวนมาก แสดงถึงการเป็นจุดศูนย์รวมสำคัญของชุมนุมผู้คนในสมัยอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากการที่บริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางชั่วคราวของเมืองสวางคบุรีในอดีต ก่อนการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังบริเวณท่าเสา ท่าอิฐ และเจริญขึ้นมาจากการค้าขายทั้งทางน้ำและทางบกกับหัวเมืองล้านนาและล้านช้าง จนทำให้ได้รับพระราชทานชื่อ "อุตรดิตถ์" ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้รับยกฐานะเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ในระยะต่อมา[61]
  • โบราณสถานวัดใหญ่ท่าเสา อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี ท่าเสาเป็นชุมชนที่เริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏหลักฐานว่าโบสถ์และหอไตรภายในวัดใหญ่ท่าเสาเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยเสด็จมาทอดพระเนตรโบราณวัดใหญ่ท่าเสาเมื่อปี พ.ศ. 2444 ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดเก่ามาก แต่เดิมชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ชื่อของบ้านคือ ท่าเสา จากเรื่องราวชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักที่แต่งขึ้นโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดีว่า นายทองดี (พระยาพิชัยดาบหัก) ได้เคยมาศึกษาวิชามวยกับครูเมฆที่บ้านท่าเสาด้วย[62]
โบราณสถานอุโบสถวัดดอยแก้ว ต.แสนตอ มีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับอุโบสถวัดพระฝาง
  • หลักประโคน หรือหลักมั่นหลักคง ตั้งอยู่ที่ บ้านผาเต่า ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหลักหินขนาดใหญ่ สูงราว 1.20 เมตร กว้างราว 40 เซนติเมตร ขาวบ้านเรียกว่า หลักมั่น อีกหลักมีขนาดเล็กกว่า สูงราว 50 เซนติเมตร เรียกว่า หลักคง เป็นแผ่นหินธรรมชาติ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเขตแดนระหว่างเมืองน่านกับเมืองสวางคบุรี ในจุดที่ห้วยสามแสน และห้วยไหวตามอย มาสบกันที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำน่าน เสานี้ปรากฏในแผนที่โบราณว่า “หลักประโคน”[63]
  • วัดวังยาง อยู่ที่บ้านวังยาง ตำบลผาจุก ที่ได้ชื่อว่าวังยางนั้น มาจากแม่น้ำน่านบริเวณดังกล่าวเป็นแอ่งน้ำลึก และมีต้นยางขึ้นอยู่ริมฝั่งจำนวนมาก จากตำนานเจ้าพระฝางทำให้ทราบว่าวัดวังยาง เป็นที่อยู่ของพระครูคิริมานนท์ สหธรรมิก (เพื่อน) ของเจ้าพระฝาง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการปกครองและควบคุมผู้คนสู้รบกับกองทัพจากกรุงธนบุรี[64]
  • อุโบสถโบราณวัดดอยแก้ว อยู่ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ใช้อิฐและศิลาแลงจากวัดทุ่งอ้อมโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 ในโบสถ์เคยประดิษฐานพระพุทธรูปไม้หน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ที่ฐานมีจารึกว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 พร้อมกับโบสถ์หลังเดิม แต่ปัจจุบันนี้โบสถ์ชำรุดทรุดโทรมมาก[65]
  • ม่อนพระพุทธบาทสี่รอยบ้านนาตารอด ตั้งอยู่ที่ยอดม่อนภูเขาสูงกลางป่าชุมชนบ้านนาตารอด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยรอบอาคารพระพุทธบาท มีที่พักสงฆ์และศาลาขนาดเล็กที่สร้างมาตั้งแต่สมัยก่อน พ.ศ. 2500 โดยพระครูนิกรธรรมรักษ์ (ไซร้) เจ้าอาวาสวัดช่องลม เกจิอาจารย์ใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น[66]
  • ด่านคุ้งยาง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ในเขตตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คุ้งยางเป็นคุ้งน้ำในแม่น้ำน่านที่มีต้นยางขึ้นอยู่มาก ใต้คุ้งยางลงมาก็จะมีแก่งและโขดหินที่สามารถเดินข้ามไปได้ในหน้าแล้ง ในขณะเดียวกันก็เป็นด่านทางด้านเหนือของเมืองสวางคบุรีด้วย ด่านคุ้งยางเป็นบริเวณที่เจ้าพระฝางเดินทางมาหลังตีฝ่าวงล้อมของกองทัพกรุงธนบุรีออกมาจากเมืองสวางคบุรีได้ โดยมีทหารหามเสลี่ยงหรือยานมาศ พามาจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็ได้ข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางพร้อมกับลูกช้างพังเผือก[67]
โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา จุดที่ตั้งของที่พักทัพไพร่พลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวกระทำศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี
  • ด่านกุมภีร์ทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง เหนือด่านคุ้งยางขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดกุมภีร์ทอง[68]
  • น้ำพุเจ้าพระฝาง คือ แหล่งน้ำซับที่ซึมไหลออกมาจากภูเขาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี ปัจจุบันอยู่ในเขตสำนักสงฆ์วัดพระบาทน้ำพุ (ชาวบ้านพระฝางเรียกว่า วัดเหนือ) ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำพุที่นี่เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ผุดมาจากใต้ดิน เจ้าพระฝางจึงได้ใช้น้ำที่นี่อาบสรงแทนน้ำในแม่น้ำน่าน เพื่อเพิ่มความเข้มขลัง อยู่ยงคงกระพันและสร้างความยิ่งใหญ่ในการเป็นผู้นำชุมนุม ในอดีตชาวบ้านพระฝางยังนำน้ำที่บ่อน้ำพุมาสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์ น้ำพุเจ้าพระฝางยังเป็นต้นกำเนิดของคลองน้ำพุ คูเมืองธรรมชาติทางทิศตะวันออกของเมืองสวางคบุรีอีกด้วย[69]
  • ขุนฝาง คือ เทือกเขาที่เป็นต้นกำเนิดของห้วยปากฝางหรือห้วยฝาง อยู่ในเขตตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เหตุที่ภูเขาลูกนี้มีชื่อว่า ขุนฝาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าตอนที่เจ้าพระฝางหลบหนีกองทัพของกรุงธนบุรีนั้น ได้เดินทางไปข้ามแม่น้ำน่านที่ด่านคุ้งยางแล้วขึ้นเหนือไปภูเขาลูกหนึ่ง และหายตัวไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม บ้างก็ว่าท่านมรณภาพที่นั่น บ้างก็ว่าท่านเดินทางไปยังเมืองแพร่หรือไปยังเมืองหลวงพระบาง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อภูเขาลูกนั้นว่า “ขุนฝาง”[70]
  • คลองพระฝาง เป็นคลองสายสั้นๆ ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาเหนือบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางขึ้นไปเล็กน้อย แล้วไหลมาทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเมืองสวางคบุรี ไหลลงแม่น้ำน่านทางตะวันตกของเมืองที่บริเวณบ้านบุ่ง มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร[71]
  • ห้วยฝาง หรือ ห้วยปากฝาง เป็นลำห้วยที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณเทือกเขาขุนฝาง วังเย็นและพญาพ่อ ในเขตตำบลขุนฝาง แล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่ปากฝาง บริเวณบ้านปากฝาง ตำบลงิ้วงาม มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร[72]
  • บึงกะโล่ หนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี คำว่า “บึงกะโล่” ไม่มีใครทราบว่าทำไมจึงเรียกบึงกะโล่ แต่สันนิษฐานว่าอาจมาจากคำว่า “โล้” ซึ่งมีความหมายว่า “ล่ม” ตามความหมายในภาษาถิ่นโบราณ เนื่องจากศัพท์นี้ใช้กันในแถบชุมชนโบราณรอบบึงกะโล่ คือบ้านวังหมู บ้านคุ้งตะเภา และบ้านพระฝาง ซึ่งมีสำเนียงถิ่นสุโขทัย[73]
  • หัวไผ่หลวง-ทุ่งบ่อพระ หัวไผ่หลวงเป็นพื้นที่ป่าไม้หนาทึบในที่ดอน ที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงเมื่อกว่า 40 ปีก่อนนับถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่เจ้าทางคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ มีเรื่องเล่าว่านายพรานหรือชาวบ้านที่ไปจับสัตว์ในไผ่หลวงแล้วหาทางออกไม่ได้ หรือไปทำลบหลู่ในบริเวณไผ่หลวงจนเกิดมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา บริเวณหัวไผ่หลวงนี้ ชาวบ้านเล่าสืบมาว่าเคยเป็นที่ตั้งกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตอนยกมาปราบเจ้าพระฝาง และเกิดการรบกันในทุ่งบ่อพระ[74]