ประวัติ ของ เมืองแมนแดนสันติ

การก่อตั้งรัฐ

หง ซิ่วเฉฺวียน เริ่มออกหน้าต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่กว่างซีเมื่อ ค.ศ. 1850 ต่อมา หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศตั้งประเทศใหม่ เรียกว่า "เมืองแมนแดนสันติ" ในวันที่ 11 เดือน 1 (ตรงกับวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1851) อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของตน โดยตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งประเทศดังกล่าว เรียกว่า "เจ้าฟ้า" (天王)[5] เขาตั้งเฝิง ยฺหวินชาน เป็นที่ปรึกษาในการกบฏ และเป็นผู้บริหารเมืองแมนแดนสันติ แต่ไม่นาน เฝิง ยฺหวินชาน ก็เสียชีวิตใน ค.ศ. 1852[6]

หลังปะทะกับฝ่ายบ้านเมืองหลายครั้ง ความรุนแรงทวีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1851 เกิดเป็นการลุกฮือที่จินเถียน (金田起義) ซึ่งกองทัพราชวงศ์ชิงที่มีกำลังน้อยถูกฝ่ายกบฏของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่มีกำลังถึง 10,000 คน โจมตีแตกพ่าย[6] ครั้น ค.ศ. 1853 กองทัพกบฏเมืองแมนแดนสันติยึดหนานจิง ("เมืองใต้") ได้ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนจิง" ("เมืองฟ้า") หง ซิ่วเฉฺวียน เอาจวนผู้ว่าราชการมาทำเป็นที่อยู่ของตน เรียก "วังเจ้าฟ้า" (天王宮) แล้วสั่งฆ่าชาวแมนจูให้สิ้น ครั้งนั้น มีชาวแมนจูถูกสังหารในหนานจิงกว่า 40,000 คน[7] เริ่มแรก กบฏเมืองแมนแดนสันติประหารแต่ชายชาวแมนจู แล้วบังคับให้หญิงชาวแมนจูไปใช้แรงงานนอกเมืองหนานจิง แต่ภายหลังก็เผาหญิงตายทั้งเป็นตามไปด้วย[8]

หง ซิ่วเฉฺวียน ประสบความสำเร็จในการขยายขอบเขตของเมืองแมนแดนสันติไปทั่วจีนตอนใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในหุบผาแม่น้ำแยงซีอันอุดมสมบูรณ์ จากนั้น ฝ่ายกบฏส่งทหารขึ้นเหนือไปยึดเป่ย์จิง เมืองหลวงของราชวงศ์ชิง แต่ล้มเหลว

ความขัดแย้งภายใน

ใน ค.ศ. 1853 หง ซิ่วเฉฺวียน ถอนตัวจากการควบคุมนโยบายบริหารเมืองแมนแดนสันติ เอาแต่ออกประกาศที่เขียนด้วยภาษาแบบศาสนา เพราะขัดแย้งกับหยาง ซิ่วชิง ในประเด็นทางนโยบาย และสงสัยหยาง ซิ่วชิง ที่มีทีท่าทะเยอทะยาน วางสายลับไว้ทั่ว และมักออกแถลงการณ์โดยอ้างว่า เป็นรับสั่งของพระเจ้า ฝ่ายผู้สนับสนุนหง ซิ่วเฉฺวียน จับหยาง ซิ่วชิง และพรรคพวก ประหารทั้งโคตรใน ค.ศ. 1856[9]

เมื่อผู้นำมีปัญหากันเอง สมาชิกหลักในลัทธิของหง ซิ่วเฉฺวียน ก็พากันขยายฐานผู้สนับสนุนของตนไปทางชนชั้นกลางของจีน บ้างก็ไปทางมหาอำนาจยุโรป แต่ไม่สำเร็จทั้งสองทาง เพราะชนชั้นกลางไม่ชอบใจที่ลัทธินี้ต่อต้านประเพณีจีนและคุณธรรมแบบขงจื๊อ ขณะที่ยุโรปก็ตัดสินใจจะเป็นกลาง

ใน ค.ศ. 1859 หง เหรินกาน (洪仁玕) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน มาเข้าร่วมขบวนการของหง ซิ่วเฉฺวียน และได้รับมอบอำนาจมากมาย หง เหรินกาน วางแผนจะขยายอาณาเขตเมืองแมนแดนสันติ ครั้น ค.ศ. 1860 กบฏเมืองแมนแดนสันติยึดซูโจว (苏州) กับหางโจว (杭州) ทางตะวันออกได้ในยุทธการที่จิงหนาน แต่ยึดช่างไห่ (上海) ในยุทธการที่ช่างไห่ไม่สำเร็จ ทำให้รัฐเมืองแมนแดนสันติเริ่มเสื่อมอำนาจ

การล่มสลาย

ยุทธการที่ช่างไห่ดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1860 แรกเริ่มดูจะไปได้ดี แต่เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพราชวงศ์ชิงที่ได้ความช่วยเหลือจากทหารยุโรปของนายพลเฟรเดริก ทาวน์เซนด์ วอร์ด (Frederick Townsend Ward) ก็ล้มไม่เป็นท่า[6]

กองทัพราชวงศ์ชิงได้รับการปรับปรุงใหม่ภายใต้การบริหารของเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) กับหลี่ หงจาง (李鴻章) ทำให้ยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายกบฏได้เกือบหมดในต้น ค.ศ. 1864

เมื่อกองทัพราชวงศ์ชิงมาล้อมหนานจิงใน ค.ศ. 1864 หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศต่อผู้คนว่า พระเป็นเจ้าจะอยู่ข้างพวกเขา แต่ในเดือนมิถุนายน ปีนั้น หง ซิ่วเฉฺวียน เก็บผักป่ามากิน เพราะอาหารในเมืองขาดแคลน การกินผักป่าทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษจนเขาล้มป่วยลงถึง 20 วันและเสียชีวิต ไม่กี่วันให้หลัง กองทัพราชวงศ์ชิงยึดหนานจิงได้ เจิง กั๋วฟาน ให้ขุดศพเขาขึ้นมาตรวจสอบแล้วเผาทิ้งไป เถ้ากระดูกที่เหลือให้ยิงออกจากปืนใหญ่กระจายไปทั่วสารทิศ เพื่อที่ร่างเขาจะได้ไม่มีที่พักวิญญาณเป็นหลักแหล่ง เป็นการลงโทษที่ก่อการกำเริบ

สี่เดือนก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะยึดหนานจิงได้ หง ซิ่วเฉฺวียน สละตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่ลูกชายหัวปีวัย 15 ปีของตนชื่อ หง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) แต่เมื่อพ่อตายและหนานจิงถูกยึด หง เทียนกุ้ยฝู ไม่รู้ที่จะทำประการใดให้รัฐเมืองแมนแดนสันติกลับคืนมาได้ บรรดาญาติพี่น้องของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้า ก็ถูกประหารชีวิตในตำบลจินหลิง (金陵城) ของเมืองหนานจิงนั้น

แม้การยึดหนานจิงใน ค.ศ. 1864 จะเป็นจุดสิ้นสุดของเมืองแมนแดนสันติ แต่การรบรายังไม่ยุติ ทหารกบฏที่เหลืออยู่นับพันยังต่อสู้ต่อต้านรัฐบาลต่อไป ราชวงศ์ชิงต้องใช้เวลาอีก 7 ปีเพื่อปราบกบฏจนราบคาบ ทหารกบฏกลุ่มสุดท้ายที่มีหลี่ ฝูจง (李福忠) เป็นหัวหน้า ถูกปราบปรามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1871 ในภูมิภาคชายแดนเมืองกว่างซี, กุ้ยโจว (贵州), และหูหนาน (湖南)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เมืองแมนแดนสันติ http://www.britannica.com/EBchecked/topic/204254/F... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/580815/T... http://thecurrencycollector.com/ https://books.google.com/books?id=0-fQHlaIpR4C&pg=... https://books.google.com/books?id=XbrNq1sBVtMC&pri... https://books.google.com/books?id=nBDC2cqb6I0C&pg=... https://books.google.com/books?id=vI1RRslLNSwC&dq=... https://books.google.com.sg/books?id=wm4CuSvIYiEC&... https://books.google.com.sg/books?id=wm4CuSvIYiEC&...