การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคี ของ เส้นทางธารน้ำตา

จอห์น รอสส์หัวหน้าคนสำคัญของเชอโรคี ราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

ในปี ค.ศ. 1838 ชาติเชอโรคีก็ถูกบังคับให้โยกย้ายจากดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐไปยังเขตสงวนที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมาทางตะวันตกของสหรัฐที่เป็นผลให้มีชาวเชอโรคีเสียชีวิตไปเป็นจำนวน 4,000 คน[20] ในภาษาเชอโรคีการเดินทางครั้งนี้เรียกว่า “Nunna daul Isunyi” หรือ “ทางน้ำตา” (ทางที่ทำให้ผู้เดินต้องร้องไห้) ทางน้ำตาของเชอโรคีเป็นผลของข้อตกลงในสนธิสัญญานิวอีโคตา (Treaty of New Echota) ซึ่งเป็นข้อตกลงภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act) ของปี ค.ศ. 1830 สาระสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้คือการแลกเปลี่ยนดินแดนของชาวอเมริกันอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยผู้นำชาวอเมริกันอินเดียนที่ได้รับการเลือกตั้งมา หรือโดยชาวเชอโรคีส่วนใหญ่

ความตึงเครียดระหว่างจอร์เจียและกลุ่มชาติเชอโรคีกลายเป็นวิกฤติการณ์เมื่อมีการพบทองใกล้ Dahlonega ในจอร์เจียในปี ค.ศ. 1829 ที่เป็นผลทำให้เกิดเหตุการณ์การตื่นทองที่จอร์เจีย (Georgia Gold Rush) ซึ่งเป็นการตื่นทองครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เก็งว่าจะขุดทองได้ต่างก็รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีและสร้างความกดดันต่อรัฐบาลจอร์เจียให้ดำเนินการตาม “ข้อตกลง ค.ศ. 1802” (Compact of 1802) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สันกับรัฐจอร์เจีย ที่มีสาระสำคัญในการกำจัดกลุ่มชาติเชอโรคีออกจากจอร์เจีย

เมื่อรัฐจอร์เจียพยายามขยายอำนาจทางกฎหมายเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีในปี ค.ศ. 1830 ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องขึ้นถึงศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ในคดี “ชาติเชอโรคี v. จอร์เจีย” (Cherokee Nation v. Georgia) ศาลจอห์น มาร์แชลตัดสินว่าเชอโรคีมิใช่ชาติอธิปไตยและชาติเอกราช จึงไม่ยอมฟังกรณีที่ว่านี้ แต่ในคดี “วูสเตอร์ v. รัฐจอร์เจีย” (Worcester v. State of Georgia) ในปี ค.ศ. 1832 ศาลตัดสินว่ารัฐจอร์เจียไม่มีสิทธิที่จะใช้กฎหมายของรัฐในดินแดนของเชอโรคี เพราะรัฐบาลกลางเท่านั้น — ไม่ใช่รัฐบาลรัฐ — ที่จะมีสิทธิและอำนาจเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวกับอินเดียน

จอห์น มาร์แชลให้คำตัดสินแล้ว; ก็ให้[มาร์แชล]บังคับใช้ไป! ... จุดไฟใต้[เชอโรคี]เข้าหน่อย พอร้อนเข้าพวกนี้ก็จะไปกันเองแหละ - แอนดรูว์ แจ็คสัน, ค.ศ. 1832, The Trail of Tears Across Missouri[21]

แจ็คสันอาจจะไม่ได้พูดประโยคนี้โดยตรง แต่ก็เป็นผู้ที่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าวอย่างแน่วแน่ และไม่มีความตั้งใจแต่อย่างใดที่จะใช้อำนาจของรัฐบาลกลางในการพิทักษ์กลุ่มชนเผ่าเชอโรคีจากการกระทำของรัฐจอร์เจีย เพราะขณะนั้นแจ็คสันเองก็มีเรื่องพัวพันอยู่แล้วกับกรณีพิพาทระหว่างสิทธิการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของรัฐบาลกลางและสิทธิของรัฐ ที่มาเป็นที่รู้จักกันว่า “วิกฤติการณ์โมฆะ” (nullification crisis) นอกจากนั้นแล้วรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียนของปี ค.ศ. 1830 ก็ยังมอบอำนาจให้แจ็คสันในการเจรจาต่อรองในกรณีที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดียน และการแลกเปลี่ยนดินแดนของอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แจ็คสันใช้กรณีพิพาทกับจอร์เจียในการสร้างความกดดันต่อกลุ่มชาวเชอโรคีให้ยอมลงนามตกลงการโยกย้าย[22]

ภาพเหมือนของมาชา พาสคาลสตรีสาวชาวอินเดียน ปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

แต่กระนั้นสนธิสัญญาที่ผ่านโดยรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาเพียงเสียงเดียวก็ได้รับการลงนามเป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีแจ็คสัน และมีผลบังคับใช้โดยประธานาธิบดีคนต่อมามาร์ติน แวน บิวเรน แวน บิวเรนอนุมัติกองทหารจำนวน 7,000 คนที่ประกอบด้วยทหารประจำการ, ทหารอาสาสมัคร และทหารรับจ้างภายใต้การนำของนายพลวินฟิลด์ สกอตต์แก่ จอร์เจีย, เทนเนสซี, นอร์ทแคโรไลนา และ แอละแบมา ในการทำการต้อนชาวเชอโรคีจำนวน 13,000 คนเข้าไปในค่ายกักกัน ของกระทรวงอินเดียนแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ไกลจากคลีฟแลนด์ ก่อนจะส่งตัวไปทางตะวันตก การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของชาวอินเดียนเกิดจากโรคติดต่อ, ความอดอยาก และ สภาวะอากาศอันหนาวเย็นภาพในค่าย บ้านเรือนที่เป็นของชาวอินเดียนถูกเผาถูกทำลาย, ทรัพย์สมบัติถูกบ่อนทำลายหรือปล้น ดินแดนที่เป็นฟาร์มที่เป็นของบรรพบุรุษมาเป็นชั่วคนก็ถูกแจกจ่ายให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวที่เข้ามาใหม่โดยการออกลอตเตอรี หลังจากการกวาดต้อนครั้งแรกแล้ว กองทัพสหรัฐก็ดำเนินการควบคุมการบังคับโยกย้ายไปจนกระทั่งชาวอินเดียนไปถึงที่หมายที่ระบุใว้ตามสนธิสัญญา[23]

พลทหารจอห์น จี. เบอร์เน็ตต์ต่อมาบรรยายเหตุการณ์ว่า

ชนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปจะอ่านและคงจะประณามพฤติกรรมดังกล่าว กระผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชนรุ่นหลังจะมีความเข้าใจว่าพลทหารเช่นกระผมและชาวเชอโรคีสี่คนที่ถูกบังคับโดยนายพลสกอตต์ให้ยิงหัวหน้าเผ่าและลูกๆ ของเขานั้น จำต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกกระผมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ว่านี้[24]

กระผมเองก็ได้ทำการต่อสู้ในสงครามระหว่างรัฐมาก่อน และได้เห็นผู้คนที่ถูกยิงถูกสังหารมาเป็นอันมากแล้ว แต่การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคีเป็นการกระทำอันทารุณที่สุดเท่าที่กระผมเองได้ประสบมา - นายทหารจอร์เจียผู้ร่วมในการบังคับโยกย้าย,[25]

ระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1838 ชาวเชอโรคีก็เริ่มเดินทางพันไมล์ด้วยเครื่องนุ่งห่มที่บางไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศอันหนาวเย็น โดยปราศจากรองเท้าหรือม็อคเคซิน การเดินทางโยกย้ายเริ่มขึ้นจากเรดเคลย์ในเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงทางตะวันออกสุดของชาติเชอโรคี ชาวเชอโรคีได้รับผ้าห่มจากโรงพยาบาลในเทนเนสซีที่ก่อนหน้านั้นเกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ชาวอินเดียนจึงติดเชื้อโรคตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเมืองหรือหมู่บ้านตลอดทางที่เดินทางผ่าน และทำให้การเดินทางที่ไกลไปกว่าที่จำเป็นเพราะต้องเดินอ้อมเมืองไปแทนที่จะลัดตรงได้[26]

หลังจากที่ข้ามเทนเนสซีและเคนทักกี แล้วก็มาถึงกอลคอนดาในอิลลินอยส์เมื่อราววันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ชาวอินเดียนแต่ละคนโดนเรียกเก็บค่าข้ามท่าโดย “เรือเบอร์รี” เป็นจำนวนหนึ่งเหรียญสหรัฐขณะที่ตามปกติแล้วราคาเพียงสิบสองเซ็นต์ และไม่ได้รับการอนุญาตให้ข้ามจนกระทั่งลูกค้าอื่นข้ามกันไปหมดแล้ว ชาวอินเดียนจึงต้องไปหลบกันอยู่ภายใต้ “แมนเทิลร็อค” ทางด้านเคนทักกีจนกระทั่ง “เบอร์รีไม่มีอะไรที่จะทำดีไปกว่านั้นแล้ว” จึงได้หันมาพาข้าม ชาวอินเดียนหลายคนเสียชีวิตไปกับการคอยเรือข้ามฟากที่ “แมนเทิลร็อค” และอีกหลายคนถูกสังหารโดยผู้คนในท้องถิ่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เมื่อฆาตกรหันไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาลสหรัฐที่ศาลที่เมืองเวียนนาในรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าฝังอินเดียนที่ถูกฆาตกรรมหัวละ $35[26]

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม มาร์ติน เดวิส Commissary Agent สำหรับ Moses Daniel's detachment บันทึกว่า:

ปีนี้เป็นปีที่อากาศในอิลลินอยส์หนาวที่สุดตั้งแต่ได้ประสบมา ลำธารต่างก็กลายเป็นน้ำแข็งหนาถึงแปดถึงสิบสองนิ้ว เราจำต้องเจาะน้ำแข็งเพื่อที่หาน้ำสำหรับเราเองและสัตว์ดื่ม หิมะก็ตกทุกสองหรือสามวันอย่างช้าที่สุด ขณะนี้เราตั้งแค้มพ์ที่หนองน้ำมิสซิสซิปปีสี่ไมล์จากแม่น้ำ และดูท่าไม่มีท่าทางที่จะข้ามไปได้ เพราะน้ำแข็งขนาดและชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมากลอยลงมาตามกระแสน้ำจากทางเหนือทุกวัน เดือนที่แล้วเราเดินทางได้เพียง 65 ไมล์ รวมทั้งเวลาที่ใช้ ณ ที่นี้ด้วยซึ่งก็เป็นเวลาสามอาทิตย์ ขณะนี้เราจึงยังไม่ทราบว่าจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่....[27]

ลิเลียน โกรสส์ สตรีสาวเลือดผสมเชอโรคี ราว ค.ศ. 1906

ชาวเชอโรคีที่ถูกไล่ที่แรกเริ่มก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทาห์เลควาห์ในโอคลาโฮมา ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจากสนธิสัญญานิวอีโคตา และเส้นทางน้ำตาเป็นผลทำให้มีผู้นำของชาวอินเดียนที่ไปลงนามถูกลอบสังหารไปหลายคนที่รวมทั้งเมเจอร์ริดจ์, จอห์น ริดจ์ และ อีไลอัส บูดิโนต์ มีแต่แสตนด์ เวทีคนเดียวเท่านั้นที่รอดมาได้ ประชากรชาติเชอโรคีในที่สุดก็ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ร้ายดังกล่าว และกลายมาเป็นชาวอเมริกันอินเดียนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา[28]

ในกรณีของการบังคับย้าย ก็มีข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นกับเชอโรคีราวหนึ่งร้อยคนที่หลบหนีจากทหารอเมริกัน และไปหากินในจอร์เจียและรัฐอื่นๆ ชาวเชอโรคีผู้อาศัยอยู่บนที่ดินที่เป็นของตนเอง (ไม่ใช่ที่ดินที่เป็นเจ้าของร่วมกันโดยหมู่ชน) ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย ใน นอร์ทแคโรไลนาเชอโรคีราว 400 คนที่เรียกว่าเชอโรคี Oconaluftee ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกรตสโมคีเมาเทนที่เป็นของคนผิวขาวชื่อวิลเลียม ฮอลแลนด์ ทอมัส (ผู้ที่เชอโรคีเลี้ยงเป็นลูกมาตั้งแต่เด็ก) ก็ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย นอกจากนั้นก็ยังมีเชอโรคีอีกราว 200 คนจากบริเวณนันทาฮาลาที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่หลังจากที่ได้ช่วยกองทัพสหรัฐในการล่าตัวศาสดาซาลี (Tsali) ชาวเชอโรคีในนอร์ทแคโรไลนากลายมาเป็นกลุ่มชาติเชอโรคีตะวันออก (Eastern Band of Cherokee Indians)

ใกล้เคียง

เส้นทางการค้า เส้นทางสายไหม เส้นทางธารน้ำตา เส้นทางฝันของสาวน้อยขนมหวาน เส้นทางแชมเปียนส์ภายในประเทศยูฟ่ายูธลีก ฤดูกาล 2017–18 เส้นทางทะเลเหนือ เส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศส เส้นทางการเดินทางในเพชรพระอุมา เส้นทางจิงโจ้ เส้นทางดาว

แหล่งที่มา

WikiPedia: เส้นทางธารน้ำตา http://www.cherokeeregistry.com/ http://books.google.com/books?id=Rk7NPRm_nB0C http://kingwoodkowboy.com/trailoftears.html http://www.seminoletribe.com/history/indian_remova... http://www.cts.bia.edu/trail_of_tears/index.htm http://digital.library.okstate.edu/kappler/Vol2/tr... http://digital.library.okstate.edu/kappler/Vol2/tr... http://digital.library.okstate.edu/kappler/Vol2/tr... http://anpa.ualr.edu/trailOfTears/letters/1831Dece... http://www.anpa.ualr.edu/trail_of_tears/indian_rem...