วัฒนธรรม ของ แง้ว

ภาษา

ภาษาลาวแง้วอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไท (ไท-กะได)[4] มีเสียงวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาลาวกลุ่มหลวงพระบางและยังใกล้เคียงกับการแยกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาลาวครั่งที่นครชัยศรีด้วย[8] มีลักษณะคล้ายกับภาษาอีสาน และมีข้อแตกต่างจากภาษาไทย มาตรฐาน คือ ไม่มีเสียงพยัญชนะ "ร" และ "ช" ภาษาไทยมาตรฐานใช้เสียง ร ภาษาแง้วจะใช้เสียง ฮ แทน เช่น รัก เป็น ฮัก, รู้ เป็น ฮู้ หากคำใดที่ภาษาไทยมาตรฐาน ออกเสียง "ช" ภาษาแง้วจะออกเป็น "ซ" เช่น ชื่อ เป็น ซื่อ, ชัง เป็น ซัง เป็นต้น ภาษาลาวแง้วไม่มีเสียงสระประสม ภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงสระเอือ ภาษาแง้วจะออกเป็น สระเอีย เช่น เกลือ เป็น เกีย มะเขือ เป็น มะเขีย เป็นต้น[3] เสียงใดที่ตามด้วย ไ_, ใ_ จะออกเสียงคำที่มีวรรณยุกต์จัตวา เช่น ที่ไหน ใช้ว่า ไผ๋, ได้ ใช้ว่า ได๋ เป็นต้น[4]

ภาษาแง้วมีคำศัพท์ของตนเองสำหรับเรียกผัก ผลไม้ และสิ่งของ ที่ต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน เช่น กำไร ใช้ว่า ก้องแขน, กางเกง ใช้ว่า โซ้ง, รองเท้า ใช้ว่า เกิ๊บ คำเรียกชื่อนำหน้าผลไม้ จะมีคำว่า หมาก/บัก แทบทั้งหมด เช่น มะละกอ ใช้ว่า หมากหุ่ง, น้อยหน่า ใช้ว่า หมากเขียบหรือบักเขียบ[4] นอกจากนี้ ภาษาลาวแง้ว ยังมักใช้คำว่า "ตี้" ลงท้ายประโยคทั้งประโยคบอกเล่าและประโยคคำถาม เช่น ไปซอยนี้ตี้ หมายถึง ไปซอยนี้นะ, อาจารย์ไปโฮงเฮียนมาตี้ หมายถึง อาจารย์ไปโรงเรียน มาหรือ[3]

คติความเชื่อ

คติความเชื่อ ชาวแง้วมีคติความเชื่อในหลาย ๆ สิ่ง เช่นเชื่อใน "คุณพระ" คุณพระอาจจะเป็นรากไม้หรือสิ่งอื่น ๆ ที่นำมาบูชาไว้ในหิ้งพระ เชื่อว่าคุ้มครองภยันตรายและช่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ คุณพระนี้จะไม่มีทุกบ้าน และเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 บ้านที่มีคุณพระก็จะต้องทำพิธีไหว้ครู โดยที่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่เคยรักษาโรคจากคุณพระก็จะมาร่วมไหว้ครูด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับปู่ตา หรือวิญญาณของคนเฒ่า คนแก่ที่ตายไปแล้วแต่ชาวบ้านให้ความนับถือมาก และได้ช่วยกันทำศาลเพียงตา หรือปัจจุบันเรียกศาลเจ้าพ่อ ชาวบ้านจะร่วมทำพิธีเซ่นไหว้ในเดือน 6 เพื่อแสดงความเคารพต่อผีที่คุ้มครองหมู่บ้าน[4] ความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ และผี ชาวแง้วมีความเชื่อเกี่ยวกับผีทุ่ง ผีนา ผีเรือน ผีปอบ ผีกะ จึงมีการทำพิธีเซ่นไหว้ผีต่าง ๆ ด้วย

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ชาวแง้วมีความเชื่อเช่น คนป่วยเจ็บห้ามกิน ขนมเส้น (ขนมจีน) เด็กตอนที่ยังไม่มีฟันห้ามส่องกระจก เพราะฟันจะไม่ขึ้น ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกยากหรือเป็นคนกินลูกกินผัว ให้สักตามต้นแขนจะเลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้น ห้ามปลูกต้นลั่นทมและต้นมะรุมในบ้านเพราะจะทำให้ไม่มีความสุข ห้ามนอนขวางขื่อและห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะถือว่าเป็นทิศที่คนตายหันหัวไป คนที่กินกล้วยแฝดเชื่อว่าจะมีลูกแฝด คนท้องไปงานศพให้เอาเข็มกลัดติดเสื้อ ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่งที่กันผีไม่ให้มองเห็นเด็กและเมื่อกลับ จากงานศพให้อาบน้ำ ล้างหน้าทันที การฝังรกให้ฝังไว้ใต้บันได เด็กจะได้ไม่ไปไกลบ้าน แต่บางบ้านจะนำรกไปวางไว้บนหนามไผ่หรือหนามพุทรา ทั้งนี้เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีปัญญาหลักแหลม เวลาแต่งงาน ถ้ามีแก้วแตก ห้ามบ่าวสาวเก็บ เชื่อว่าเก็บจะ ทำให้มีการแตกแยกกันในวันข้างหน้า เวลาปั้นขนมเม็ดขนุนในงานแต่งงาน ปั้นแล้วปั้นเลยห้ามทำใหม่เพราะจะทำให้บ่าวสาว แตกแยกกัน ดังนี้เป็นต้น[3]

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของแง้ว ได้แก่ ประเพณีแต่งงาน หรือเรียกว่า "การกินดอง" ผู้หญิงอายุไม่ถึง 20 ปี จะไม่ให้แต่งงาน ส่วนผู้ชายต้องบวชก่อนและมีอายุราว 25 ปี การแต่งงานจะแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกจะเป็นวันสุกดิบ และ วันที่สองจะเป็นวันทำขวัญบ่าวสาว

ประเพณีการเกิด แต่เดิมจะคลอดที่บ้านโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะตัดสายสะดือ ด้วยไม้รวกที่เหลาบาง ๆ นำเด็กไปอาบน้ำแล้วให้นอนในกระด้งก่อนเป็นเวลา 3 วันจึงจะนำไปนอนเปล การอยู่ไฟเป็นการดูแลเชื่อมความรัก ความอบอุ่น พ่อกับแม่ไปหาฟืนจากไม้สะแก เชื่อกันว่าใครอยู่ไฟได้ร่างกายจะแข็งแรง ทำให้ร่างกายสมส่วน ระหว่างการอยู่ไฟ ห้ามพูดเรื่องไม่มงคล[4] เมื่อมารดาอยู่ไฟครบ กำหนดแล้วก็จะออกจากเรือนไฟนำเด็กไปเหยียบดินหญ้าแพรก โดยเชื่อว่าต่อไปภายหน้าเด็กจะเป็นผู้แข็งแรงมีบุญวาสนา ต่อจากนั้นจะมีการสู่ขวัญแก่แม่และเด็ก สำหรับประเพณีการตาย หากบ้านใดมีคนตาย คนในหมู่บ้าน จะช่วยกันนำข้าวปลาอาหารไปช่วยสมทบกับเจ้าภาพเพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ญาติพี่น้องผู้ตายจะช่วยกันอาบน้ำให้ศพ โดยใช้น้ำอุ่น เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะแต่งตัวให้ผู้ตายใหม่ นำเงินทองใส่ไว้ในปากของผู้ตาย ขอขมาศพแล้วนำศพบรรจุลงโลง ตั้งศพไว้ที่บ้านตามความเหมาะสมเพื่อเป็นการพักพา ครั้งสุดท้ายซึ่งเรียกว่า "การงันเฮียนดี" (การงันเรือนดี) ก่อนที่จะเคลื่อนศพลงจากบ้านเพื่อไปยังสถานที่ฌาปนกิจหรือป่าช้านั้น ญาติพี่น้องจะนำข้าวห่อมาใส่ในโลงศพคนละห่อหรือมากกว่านั้นเพราะเชื่อว่าผู้ตายนำเสบียงอาหารมาน้อยจึงตายเร็วและผู้ตายจะได้มีอาหารติดตัวไปไม่อดอยาก เมื่อเคลื่อนศพลงจากบ้านญาติพี่น้องจะคว่ำโอ่งไหคว่ำบันไดทันทีโดยเชื่อว่าผู้ตายจะได้ไม่ห่วงใยหรือถ้ามีความห่วงใยผู้ตายก็มาไม่ถูก และในการเผาศพนั้น ญาติพี่น้องจะช่วยกันนำฟื้นไปเผาเอง[3]

ประเพณีการบวช งานบวชแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกเรียก "วันเพาะ" จะมีการทำขวัญนาคโดยเพื่อนบ้านจะมาร่วมทำบุญด้วย วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพานาคไปวัดซึ่งจะมีการแห่อย่างสนุก ครึกครื้นประเพณีลงแขกทำนา เมื่อถึงฤดูทำนา บ้านใดทำ ก่อนก็จะไปบอกเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านก็จะพากันไปช่วยโดยไม่ มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนเจ้าของบ้านก็จะเตรียมข้าวปลาอาหาร ไว้เลี้ยงแขกทั้ง 3 มื้อ ช่วยกันจนกว่างานบ้านนี้จะแล้วเสร็จจึง ไปช่วยบ้านอื่น ๆ อีกต่อไป[3]

แง้วเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก จึงมีประเพณีเกี่ยวกับศาสนาหลายประเพณี โดยส่วนใหญ่สืบทอดจากชาวลาวที่เวียงจันทน์ ได้แก่ เดือนยี่ ทำบุญคูนลาน เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ เดือนสี ทำบุญข้าวหลามและบุญพระเวส เดือนห้า ทำบุญสงกรานต์ เดือนหก ทำบุญยกธงพระขึ้นและบุญกลางบ้าน เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เดือนสิบ ทำบุญข้าวสารท เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา บุญพระเวสและไต้สังฆทีป เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน[3]

นิทานและการละเล่นพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านของชาวแง้วเป็นนิทานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟัง บางเรื่องเหมือนตำนานของชาวหนองเมือง เช่น พระเจ้าจันเสน เจ้าพ่อสระหลวง เวียงจันทน์แตก ฯลฯ บางเรื่องเป็นนิทานเล่าเพื่อความสนุกสนาน เป็นทั้งนิทานไทยและลาว เช่น สังข์ทองตอนรจนาเลือกคู่ นางสิบสอง ท้าวก่ากะดำ พญาสันทันอีดำอีด่อน กัณฑ์หลอน

การละเล่นพื้นบ้านในชุมชนชาวแง้ว เช่น การเส็งกลองหรือการแข่งขันตีกลอง การเล่นหม่าเบี้ยหรือสะบ้า การดึงหนัง หรือการชักเย่อ การเล่นมอญซ่อนผ้า และการแอ่วสาวซึ่งเป็นการขับร้องโต้ตอบกัน ระหว่างหญิงและชาย ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไม่มีแล้ว[3]

สถาปัตยกรรม

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของบ้านเรือนของชาวแง้วดั้งเดิมนั้นเป็นที่ลุ่ม บ้านจึงมักเป็นชั้นเดียว ใต้ถุนสูงเพื่อเวลาหน้าน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมบ้าน สร้างอย่างเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันความสวยงามมากนัก พื้นบ้านจะปูด้วยกระดานแผ่นใหญ่เรียงต่อกันไม่สนิท จึงมีช่องมองเห็นใต้ถุนบ้าน ฝาบ้านนิยมใช้ฟากมาตีแปะไว้ ยกเว้นบางบ้านที่ฐานะดีก็อาจใช้ฝาไม้กระดานเหมือนพื้นบ้าน หลังคาบ้านนิยมมุงด้วยสังกะสี รูปทรงของบ้านจะเป็นสี่เหลี่ยม ผืนผ้าตรง ๆ บ้านเข้าถึงด้วยบันไดหลักสู่ระเบียงใต้หลังคาคลุม (เรียกว่า เซีย) เข้าสู่โถงกลาง และโถงแยกเข้าห้องนอนและห้องครัว[9] นอกนั้นจะเป็นที่โล่งซึ่งใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ เช่น เป็นครัว ที่รับแขก ที่นั่งเล่น ที่ทำงาน บางอย่าง ที่เก็บเครื่องมือเครื่องที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ฯลฯ

เฮือนลาวแง้ว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เรือนจั่วแฝด เรือนจั่วเดียว และเรือนจั่วผสมแบบเรือนไทยภาคกลาง เรือนยกพื้นสูง 2 ชั้น ชั้นล่างมีไว้สำหรับเก็บของและพักผ่อนในช่วงกลางวัน อาจมีการเลี้ยงควาย ส่วนชั้นบน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีการกั้นห้องเฉพาะห้องนอน โดยมากมักกั้นห้องไม่เกิน 3 ห้อง มีห้องโป่งโจ่งหรือห้องโถงขนาบหัวท้ายของตัวเรือน ด้านหลังเป็นห้องครัวและห้องน้ำ นิยมวางตัวเรือนขวางตะวัน

การตกแต่งเรือน ผนังเรือนนิยมทำแบบฝาโปร่งเป็นลูกกรงเหล็ก โดยผนังด้านนอกเรือนนอนจะเป็นผนังไม้แบบฝาลูกฟักกระดานดุน หรือบางแห่งทำเป็นฝาไหล ให้อากาศระบาย สิ่งหนึ่งที่เรือนลาวแง้วแตกต่างจากเรือนไทยภาคกลางคือ ไม่นิยมทำชานระเบียงเปิดโล่ง แต่นิยมทำหลังคาคลุมพื้นที่ว่างต่าง ๆ หลังคาจะไม่แหลมสูงเช่นแบบเรือนไทยทั่วไป

ค้ำยันมีการฉลุลายไม้ มีการจำหลักส่วนคูหาผนังกั้นห้องภายในบ้าน พบฝีมือช่างจีนในเรือนลาวแง้ว เช่น การทำฝาเฟี้ยม ฝาลูกฟัก การทำเฟอร์นิเจอร์และกลึงไม้ ที่มีความประณีตแบบช่างเซี่ยงไฮ้เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง[10]

การแต่งกาย

ชาวแง้วมีเอกลักษณ์การแต่งกายคือ หญิงจะนุ่งโจงกระเบน ถ้าอยู่บ้านก็จะใช้ผ้าขาวม้าคาดอกแบบตะแบงมาน แต่หากไปวัด จะใช้ผ้าคาดอกแล้วมีผ้าอีกผืนหนึ่ง ห่มทำสไบเฉียง หญิงสาวโสดนิยมใส่กำไลขา 2 ข้างตามฐานะ ถ้าฐานะดีใส่กำไลทอง ฐานะไม่ดีนักใส่กำไลเงิน และจะถอดกำไรออกเมื่อแต่งงาน นอกจากนี้ยังเจาะหูใส่ต่างหูทั้ง 2 ข้าง

ฝ่ายชายเวลาไปวัดจะนุ่งโจงกระเบนเช่นกัน แต่ถ้าอยู่บ้าน จะนุ่งกางเกงขาก๊วยใส่เสื้อคอกลมที่ตัดจากผ้าที่ทอเองและนิยมเจาะหูใส่ต่างหู 1 ข้าง แต่ปัจจุบันชาวแง้วจะแต่งกายแบบเดียวกับคนไทยทั่วไป[3]

อาหาร

ลาวแง้วมีความเป็นอยู่กินกันอย่างเรียบง่าย เก็บผักตามหมู่บ้านและป่าละเมาะ หมู เนื้อ ไก่ ปลา เพิ่งนำมาประกอบเป็นอาหารกันบ้างในปัจจุบัน ชาวลาวแง้วบริโภคข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจนำข้าวเหนียวไปด้วย หากต้องออกไปทำนาไกล ๆ สำหรับกับข้าวนั้นจะชอบกับข้าวที่มีรสจัด เช่น ลาบ ก้อย ฯลฯ อาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ และ อาหารที่นิยมกิน เช่น ปลาร้า รับประทานทั้งดิบและสุก[3] ปลาจ่อม ปลาส้ม น้ำพริก แจ่ว แกงอ่อม โดยกินแนมกับผักสดต่าง ๆ ลาวแง้วไม่นิยมกินอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นกะทิ[4]