การตั้งถิ่นฐาน ของ แง้ว

ในช่วงสงครามศึกเจ้าอนุวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2371–2373 เมืองเวียงจันทน์ถูกเผาจนสิ้น มีการกวาดต้อนผู้คนมายังประเทศไทย การกวาดต้อนครั้งนี้มีทั้งครัวลาวเวียงและลาวจากเมืองอื่นโดยเฉพาะหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองหลวงพระบางทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในเอกสารไม่มีการบันทึกถึงชื่อลาวแง้วที่ถูกกวาดต้อนมา โดยส่วนใหญ่จะเรียกรวม ๆ ว่า ลาวเวียง แต่สันนิษฐานว่า มีทั้งลาวเวียง ลาวครั่ง และลาวแง้วด้วย

การอพยพระลอกใหญ่หลายครั้งจากเมืองเพวิง เมืองสามมิ่น เมืองเลย เมืองแก่นท้าว ครัวลาวหลวงพระบาง เมืองลม เมืองปากลาย เมืองเวียงจันทน์ เมืองภูเวียง เมืองภูครัง ซึ่งลาวทางฝ่ายเมืองหลวงพระบางรับผิดชอบชำระส่งมา มายังประเทศไทยที่พิษณุโลกและพิชัย ลาวแง้วน่าจะเป็นกลุ่มลาวที่อพยพมาจากหัวเมืองแถบรอบ ๆ เมืองหลวงพระบางมากกว่าจะเป็นกลุ่มลาวเวียงจันทน์ หรือบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเวียงจันทร์[5] ต่อมาให้ไปอยู่ที่เมืองพรหมบุรี ในเขตสิงห์บุรีและที่อื่น ๆ ที่สิงห์บุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่วัดสาธุการาม บ้านสิงห์ ตำบลโพงพางเสือ อำเภอบางระจัน ต่อบางบางส่วนอพยพย้ายลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภออินทร์บุรี แถบวัดม่วงและวัดโพธิ์ศรี แล้วขยับขยายมาที่วัดทองเอนใน[4]

ลาวแง้วถือเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ เพราะมีชุมชนกระจัดกระจาย ตั้งแต่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ ปะปนกับกลุ่มลาวพวนและลาวเวียง ปัจจุบันพบกลุ่มลาวแง้ว ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีมากที่สุด นอกนั้นก็เป็นกลุ่มที่อยู่ดั้งเดิมคือในตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยตำบลอินทร์ อำเภออินทร์บุรีมีคนเชื้อสายลาวแง้วอาศัยอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีที่วัดท่าอิฐ วัดเกาะแก้ว วัดตุ้มหู บางโฉมศรี ตำบลบุ่งชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี และแถบตำบลบ้านสิงห์ วัดสาธุ ตำบลโพงพางเสือ อำเภอบางระจันก็มีลาวแง้วอาศัยอยู่ ส่วนในพื้นที่ที่ลาวแง้วขยับขยายไปตั้งถิ่นฐานแหล่งใหม่ ได้แก่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี[6]