สังคม ของ แง้ว

โครงสร้างทางสังคม แต่เดิมสังคมของชาวแง้วจะเป็นสังคมปิดและเป็นสังคมแบบพึ่งพา คือไม่มีการติดต่อไปมาหาสู่กับคนในชุมชนอื่น เหตุเพราะ เขตที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ลุ่ม และป่าทึบอยู่ล้อมรอบ การคมนาคมไม่สะดวก นอกจากจะต้องเดินทางด้วยเรือแล้วยังต้องเดินเท้าผ่านป่าอีกด้วย หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ แล้วชาวแง้วก็จะไม่เดินทางไปไหน อีกประการหนึ่ง ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงก็เป็นชุมชนของพวนซึ่งเป็นชุมชนที่ใหญ่กว่า พวกพวนถือว่าเป็นคนละกลุ่มกับชาวแง้วและมีความรังเกียจชาวแง้วไม่คบหาสมาคมด้วย ชาวแง้ว จึงขาดการติดต่อกับกลุ่มชนอื่นไปโดยปริยาย[3] อีกทั้งบริเวณที่ตั้งชุมชนของชาวแง้วนี้ก็อุดมสมบูรณ์มาก ชาวแง้วจึงสามารถที่จะอยู่โดยลำพังเฉพาะในกลุ่มของตัวเองได้อย่างไม่ลำบาก นอกจากนี้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ก็เป็นญาติพี่น้องกันจึงพึ่งพาอาศัยกัน ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตได้ ทำให้ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจต่อการที่ไม่ได้ติดต่อกับกลุ่มชุมชนอื่น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านการคมนาคมอย่างมากมาย ทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้นมาก ชาวแง้วจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็นสังคมปิดมา เป็นสังคมเปิด คือมีการติดต่อกับชุมชนอื่นมากขึ้น เช่น มีการ ทำบุญร่วมกับชาวพวน มีการติดต่อซื้อขายกับชนกลุ่มอื่น มี การส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนอำเภอบ้านหมีหรือที่ โรงเรียนในจังหวัด ฯลฯ

บ้านชาวแง้วจะตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง ซึ่งมักจะเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน คือเดิมจะอยู่บ้านหลังเดียวกัน ซึ่งเป็นบ้านของพ่อแม่ เมื่อแต่งงานพ่อแม่ก็มักจะให้ปลูกบ้าน อยู่ใกล้ ๆ กัน ดังนั้นจากครัวเรือนจึงกลายเป็นหลายครัวเรือน ตามจำนวนของครอบครัวที่เกิดใหม่

ระบบครอบครัว ชาวแง้วนิยมที่จะแต่งงานกับชาวแง้ว ด้วยกันมากกว่าที่จะแต่งงานกับคนในชุมชนอื่นหรือคนต่าง เชื้อชาติกัน และเมื่อแต่งงานแล้วก็จะปลูกบ้านเรือนอยู่ใน บริเวณเดียวกับบ้านพ่อแม่ของตัวเอง โดยอาจจะเป็นพ่อแม่ฝ่ายชายหรือพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน แต่ ปัจจุบันสภาพสังคมแบบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีการศึกษามากขึ้นจึงไปประกอบอาชีพอื่นตามความรู้ ที่ตนมีนอกหมู่บ้าน และเมื่อแต่งงานก็จะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อื่น ไม่ได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่อีกต่อไป[3]

การดำรงชีวิต เนื่องจากชาวแง้วมีนิสัยรักสงบ รักอิสระ ใจคอเยือกเย็น มีความโอบอ้อมอารี เป็นมิตรกับคนทั่วไป มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักเก็บหอมรอมริบ และเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมส่งลูกเรียนสูง ๆ[2] ชาวแง้วจึงมีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นสุขและไม่เบียดเบียนกัน อาชีพที่ทำส่วนใหญ่ก็คืออาชีพ ทางการเกษตรอันได้แก่ การทำนา ทำไร่ นาที่ทำมีทั้งนาดำและ นาหว่าน ประมาณผลผลิตที่ได้จากนาทั้งสองชนิดนี้ใกล้เคียงกัน แต่ค่าใช้จ่ายในการทำนาหว่านจะน้อยกว่า ส่วนการทำไร่นั้นจะทำไกลออกไปจากหมู่บ้าน ไร่ที่ทำได้แก่ ไร่ข้าวโพด ไร่ข้าวฟ่าง และไร่ถั่วเขียว นอกจากนี้จะมีการทำสวนและเลี้ยงสัตว์บ้าง ในหน้าน้ำจะมีปลาชุกชุมมาก ชาวแง้วก็จะจับปลาเหล่านี้มาทำปลาร้าจำหน่ายโดยจะมีพ่อค้าเข้าไปรับซื้อถึงที่ หลายชุมชนของชาวแง้วเคยร่อนทองคำขาย เรียก ทองคำผุย[7] ยามว่างจากงาน ผู้ชายก็มักจะสานเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ โดยเฉพาะ เครื่องมือหาปลา ส่วนผู้หญิงก็จะทอผ้าซึ่งผ้าที่ทอนี้มักเป็นผ้า ที่ใช้เย็บหมอน มุ่ง ที่นอน ผ้าห่ม และผ้าขาวม้า มากกว่า ผ้านุ่ง[3]