สังคม ของ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ

ญี่ปุ่นได้นำระบบแนวคิดหลายอย่างเข้ามาใช้ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ การสร้างสาธารณูปโภคสำคัญเพื่อบริการสังคมให้กับชาวญี่ปุ่นและกระบวนการทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นญี่ปุ่น (Japanization) ซึ่งในมุมมองของญี่ปุ่นมองว่าการจะทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นผู้มีอารยธรรมนั้นจะต้องได้รับการศึกษาและได้รับความคิดความเชื่อในแบบญี่ปุ่น [17] ซึ่งญี่ปุ่นได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำให้ประชากรชาวพื้นเมืองมีความเป็นชาวญี่ปุ่นมากขึ้น ผ่านกระบวนการทางด้านการศึกษา การทำงาน ศาสนาและการท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดผลดีกับญี่ปุ่น และเป็นผลให้ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้มักเป็นผู้ให้ความสนับสนุนแก่ญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือญี่ปุ่นในการสืบสวนหาขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

เมืองคอรอร์ในการปกครองของญี่ปุ่น

สภาพสังคมโดยทั่วไปของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พบว่าประชากรชาวพื้นเมืองและประชากรชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในพื้นที่ที่มีประชากรชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เช่น ปาเลาและไซปัน เป็นต้น บริเวณดังกล่าวนี้พบอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เข้มแข็ง อัตราการเกิดอาชญากรรมในแปซิฟิกใต้ในอาณัติค่อนข้างต่ำ โดยอาชญากรรมส่วนใหญ่เกิดจากการลักขโมยและปล้นทรัพย์ [13] จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่มีชีวิตในช่วงเวลาขณะนั้น ได้กล่าวถึงสภาพของเมืองปาเลาไว้ว่า “เมืองคอร์รอมีความเจริญรุ่งเรือง เป็น Little Tokyo ถนนหนทางสะอาดและมีการวางระบบผังเมืองที่ดี มีร้านค้าและย่านที่พักอาศัยเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ เมืองมีความสงบเรียบร้อย” [18] ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีการห้ามการค้าทาส ห้ามชาวพื้นเมืองดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ยกเว้นเพื่อการรักษา พิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง รวมไปถึงการห้ามใช้สารเสพติด[13] ในส่วนของโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมของชนพื้นเมืองได้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก กลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มสูญเสียอำนาจ บางกลุ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารปกครองอาณานิคม โดยชนพื้นเมืองกลายเป็นพลเมืองชั้น 3 ของอาณานิคมแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[19]

รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติลงทุนกับการศึกษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก โดยเป็นรองเพียงแค่การลงทุนด้านสาธารณูปโภคเท่านั้น [13] รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ได้รายงานต่อสันนิบาติชาติว่า “โรงเรียนในแปซิฟิกใต้ในอาณัติประกอบไปด้วยโรงเรียนที่สร้างโดยภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นและโรงเรียนของมิชชันนารีที่สร้างในสมัยเป็นอาณานิคมของเยอรมนี” โรงเรียนเหล่านี้จัดการศึกษาให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในแปซิฟิกใต้ในอาณัติและประชาชนชาวพื้นเมือง การศึกษาของญี่ปุ่นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประชากรชาวพื้นเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตการจัดการศึกษาในแปซิฟิกใต้ในอาณัติขึ้นอยู่กับการสั่งสอนของผู้อาวุโสในแต่ละหมู่บ้าน แต่หลักสูตรที่ญี่ปุ่นใช้ ประกอบด้วยวิชาหลัก 3 วิชา คือ ภาษาญี่ปุ่น เลขคณิตและจริยธรรมแบบญี่ปุ่น รวมไปถึงสนับสนุนให้เคารพสมเด็จพระจักรพรรดิ[2] การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ส่งผลให้ประชากรในรุ่นหลังเริ่มใช้ภาษาญี่ปุ่นและภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาพูด ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากประชากรรุ่นก่อนหน้าที่มีการใช้ภาษาสเปนและภาษาเยอรมันด้วย การจัดการศึกษาของแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีลักษะการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาณานิคมไต้หวันและเกาหลีของญี่ปุ่น ประชากรวัยเด็กชาวพื้นเมืองเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 57 และมีผู้จบการศึกษาในรูปแบบญี่ปุ่นกว่า 20,000 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวเลขของนักเรียนในระบบการศึกษาแบบญี่ปุ่นในอาณานิคมอื่น ๆ พบว่า ชาวพื้นเมืองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีอัตราการเข้าเรียนมากกว่าชาวเกาหลีและชาวจีนในไต้หวันในปี ค.ศ. 1930 แสดงให้เห็นถึงการยอมรับและความรู้สึกที่เป็นญี่ปุ่นมากกว่าในอาณานิคมอื่น ส่วนในกรณีของผู้ใหญ่วัยทำงาน ญี่ปุ่นได้จัดตั้งสถาบันฝึกภาษา (Kokugo Renshusho) เพื่อสอนภาษาและจริยธรรมแบบญี่ปุ่น [20]

เพื่อความคงทนในการซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและการใช้กระบวนการทำให้ชาวพื้นเมืองเป็นญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้สนับสนุนให้ประชากรชาวพื้นเมืองได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยระยะแรกดำเนินการโดยกองทัพเรือและในระยะเวลาต่อมารัฐบาลอาณานิคมเป็นผู้สนับสนุน ผู้ที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมักเป็นชนชั้นนำของชาวพื้นเมือง ผู้ที่จบการศึกษาในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ในรายงานของกองทัพเรือส่วนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวไมโครนีเซียเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่น ผู้ร่วมเดินทางมักกลับมาบอกเล่าประสบการณ์ให้สาธารณชนฟัง” ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้นเกิดผลดีต่อญี่ปุ่นและการปกครองโดยแท้จริง เห็นได้ชัดจากการที่หัวหน้าหมู่บ้านในเขตบาเบลดาออบ (Babeldaob) ได้พยายามตัดถนนแบบญี่ปุ่น โดยมีต้นมะพร้าวและแสงไฟจากโคมไฟตามแนวจนกระทั่งถึงทะเล ซึ่งจุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งให้การต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนพื้นเมืองมีไม่มากนัก[17]

ในส่วนของศาสนาของแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พบว่าก่อนการเข้ามาของญี่ปุ่นประชากรพื้นเมืองนับถือความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาคริสต์ ซึ่งมิชชันนารีชาติต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่ [13] อย่างไรก็ตามเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ รัฐบาลอาณานิคมได้งดการสนับสนุนมิชชันารีในศาสนาคริสต์ และสนับสนุนการเข้ามาเผยแพร่ของพุทธศาสนา โดยเริ่มครั้งแรกที่ไซปัน ในปี ค.ศ. 1919 [18] ในรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อสันนิบาติได้รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชนในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[13] อย่างไรก็ตามศาสนาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนมากที่สุดคือศาสนาชินโต แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่รายงานการนับถือศาสนาชินโตต่อสันนิบาติชาติ แต่ในทางปฏิบัติพบว่ารัฐบาลอาณานิคมได้สร้างศาลเจ้าในศาสนาชินโต 17 แห่งทั่วแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ศาลเจ้าชินโตมีหน้าที่สำคัญคือการสร้างพื้นที่ทางความเชื่อให้กับชาวญี่ปุ่นในแปซิฟิกใต้ในอาณัติและการกลืนชาวพื้นเมือง ด้วยคำสอนที่เน้นชาตินิยมรุนแรงและความเป็นรัฐทหาร ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดหลังจากที่ญี่ปุ่นออกจากสันนิบาติชาติ ศาสนาชินโตประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเผยแพร่ความเชื่อและการกลืนชาวพื้นเมืองให้เป็นญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น การที่ประชาชนในยาลูอิต อะทอลล์ (Jaluit Atoll) ศูนย์กลางการบริหารของญี่ปุ่นในเขตหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางมากที่สุด มีการเต้นรำเนื่องในวันชาติญี่ปุ่น หรือ ชาวแยป (Yap) แต่งตัวโดยโดยใส่ “ฟุนโดชิ” (Fundoshi) ถือตะกร้าไปซื้อของในตลาดและเคารพศาลเจ้าชินโต [18] ในเมืองคอร์รอ ศูนย์กลางการบริหารแปซิฟิกใต้ในอาณัติ ได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าคัมเป ไทชา นันโย (Kampei Taisha Nanyo Jinja) ซึ่งเป็นศาลเจ้าหลวงชั้นหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเป็นศาลเจ้าของอามาเทระสึ โอคามิ (Amaterasu Okami) อันเป็นเทพีแห่งดวงอาทิตย์ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับทำการสักการะของประชากรชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังพบการนำความเชื่อชินโตเข้ามาบูรณาการกับระบบความเชื่อเทพท้องถิ่นอีกด้วย[18]

ความพยายามในการทำให้ชาวพื้นเมืองกลายเป็นญี่ปุ่น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวพื้นเมืองบางส่วน โดยพบว่าการต่อต้านแนวความคิดทางด้านวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติ และประทุขึ้นอย่างรุนแรง 2 ปีหลังจากการจัดตั้งศาลเจ้าคัมเป ไทชา นันโย โดยเกิดจากความไม่พอใจของการเข้าแทนที่เทพพื้นเมืองของศาสนาชินโต ขบวนการนี้เป็นขบวนการด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยผู้นำของขบวนการมีทัศนคติมองว่า “ชาวพื้นเมืองมีผิวดำ ซึ่งแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นมีผิวสีเหลือง ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้” [18] อย่างไรก็ตามการต่อต้านของขบวนการนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากประชากรและหัวหน้าหมู่บ้านชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถในกระบวนการสืบสวน ซึ่งนำไปสู่การจำคุกของผู้นำขบวนการหลายคน [18]

ใกล้เคียง

แปซิฟิกแอร์ไลน์ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ แปซิฟิค ริม สงครามอสูรเหล็ก แปซิฟิค ริม ปฏิวัติพลิกโลก แปซิฟิกเกมส์ แปซิฟิกเกมส์ 2015 แปซิฟิกเกมส์ 2019 แปซิฟิกเกมส์ 2011 แปซิฟิกเกมส์ 2023 แปซิฟิกเกมส์ 2027