ประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาของญี่ปุ่น ของ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ

ประวัติศาสตร์ภูมิภาคไมโครนีเซียก่อนการเข้ามาปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วงหลัก คือ ระยะแรก เป็นระยะทีชาวไมโครนีเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชน และระยะที่สอง เป็นระยะที่จักรวรรดิอาณานิคมเยอรมนีเริ่มเข้าครอบครองหมู่เกาะในบริเวณนี้

จากการสำรวจและวิเคราะห์ทางด้านโบราณคดี นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่าบริเวณภูมิภาคไมโครนีเซียเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ 4,000 – 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวชามอร์โร (Chamorro) ชาวไมโครนีเซีย (Micronesia) และชาวปาเลา (Palau) ในปัจจุบัน[2] การอาศัยอยู่ของผู้คนในบริเวณนี้มักอาศัยอยู่กันแบบสังคมชนเผ่า แต่ก็พบการตั้งศูนย์กลางทางการเมืองในรูปแบบการปกครองอาณาจักรทางทะเลขึ้นที่เกาะเทมเวน (Temwen Island) ในเขตโบราณสถาน นาน มาโดล (Nan Madol) ในรัฐโปนเปย์ (Pohnpei) ประเทศไมโครนีเซีย ซึ่งโบราณสถานสร้างด้วยหินมีการเชื่อมคลองและได้รับการยกย่องว่าเป็นเวนิสแห่งแปซิฟิก [3]  ดินแดนบริเวณนี้ได้รับการสำรวจโดยนักสำรวจชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสเปนและโปรตุเกสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวพื้นเมืองมากนัก ในช่วงเวลาต่อมาสเปนได้เข้าครอบครองหมู่เกาะบริเวณนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 19

ในปี ค.ศ. 1898 สเปนทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา ผลของสงครามในครั้งนั้นสเปนพ่ายแพ้ จึงจำเป็นต้องยกเกาะกวม (Guam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาเรียนาให้แก่สหรัฐอเมริกา และสเปนดำเนินการขายหมู่เกาะมาเรียนาที่เหลือและหมู่เกาะแคโรไลน์ให้กับจักรวรรดิอาณานิคมเยอรมนี ส่งผลให้เยอรมนีเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคไมโครนีเซีย บริหารภายใต้การปกครองของอาณานิคมเยอรมันนิวกินี โดยใช้ประโยชน์อาณานิคมแห่งนี้ในฐานะท่าเรือรบ [4] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสในการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเริ่มการประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 โดยจุดเน้นของญี่ปุ่นในการทำสงครามกับเยอรมนีคือการยึดท่าเรือและแหล่งธุรกิจในฉางตง ในเวลาต่อมาชาติพันธมิตรต้องการให้ญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกันขบวนสินค้าให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรอินเดียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับการยกส่วนหนึ่งของฉางตงและหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นอาณานิคมของเยอรมนีให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น [5] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ค่อนข้างน้อย แต่ก็ได้รับการยอมรับในฐานะชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งของโลก มีสถานะเป็นสมาชิกถาวรของสภาสันนิบาตชาติ นอกจากนี้ญี่ปุ่นได้ดินแดนฉางตง และหมู่เกาะตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกตามสัญญา หมู่เกาะตอนเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ สันนิบาตชาติจัดให้เป็นดินแดนในอาณัติระดับซี (Class – C Mandate) ซึ่งเป็นดินแดนที่สันนิบาตชาติมองว่าชาติเจ้าของดินแดนในอาณัติควรบริหารจัดการตามกฎหมายในฐานะดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศแม่ [5]

การที่ญี่ปุ่นได้ดินแดนแปซิฟิกใต้ในอาณัติ เนื่องจากเป็นข้อแลกเปลี่ยนสำคัญในการเข้าร่วมช่วยเหลือชาติสัมพันธมิตรของญี่ปุ่น ซึ่งการเข้าช่วยเหลือของญี่ปุ่นแม้มีเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญมาก เนื่องจากชาติสัมพันธมิตรชาติอื่นติดพันการรบในยุโรป ส่งผลให้ไม่สามารถคุ้มกันกองเรือของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในระยะแรก คณะที่ประชุมของสันนิบาติชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องการมอบดินแดนอดีตอาณานิคมเยอรมันนิวกินีส่วนหนึ่งให้กับญึ่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกามองว่าหากมอบดินแดนส่วนนี้ให้กับญี่ปุ่น เกาะกวม สถานีวิทยุสื่อสารบนเกาะแยป (Yap) และความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอันตราย[4] แต่ที่ประชุมสันนิบาติชาติเกรงว่าหากไม่มอบดินแดนส่วนนี้ให้กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะไม่เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาติชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้สันนิบาติชาติได้ปฏิเสธข้อเสนอของญี่ปุ่นในข้อตกลงการยกเลิกการเหยียดชาติพันธุ์ โดยสันนิบาติชาติมองว่าหากญี่ปุ่นไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหญ่ตามมา [6]

การได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้สร้างความพึงพอใจให้กับสื่อมวลชนและนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้เอะโนะโมะโตะ ทะเคอะกิ (Enomoto Takeaki) ต้องการสำรวจดินแดนในบริเวณนี้เพื่อหาอาณานิคมแห่งใหม่ให้กับญี่ปุ่น แต่พบว่าเกาะเหล่านี้ตกเป็นของเยอรมนีและสเปนแล้วในขณะนั้น[7] ซึ่งญี่ปุ่นต้องการหมู่เกาะในบริเวณนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นสะพานเชื่อมต่อดินแดนทางใต้ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเมลานีเซีย) รวมไปถึงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างฮาวายและฟิลิปปินส์ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นฐานทัพของทัพเรือในการปกป้องประเทศจากวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้[8]

ใกล้เคียง

แปซิฟิกแอร์ไลน์ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ แปซิฟิค ริม สงครามอสูรเหล็ก แปซิฟิค ริม ปฏิวัติพลิกโลก แปซิฟิกเกมส์ แปซิฟิกเกมส์ 2015 แปซิฟิกเกมส์ 2019 แปซิฟิกเกมส์ 2011 แปซิฟิกเกมส์ 2023 แปซิฟิกเกมส์ 2027