เศรษฐกิจ ของ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ

พื้นที่ของแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีความจำกัดมาก โดยพบว่าเมื่อนำพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมกันแล้วมีพื้นที่เพียง 2,158 ตารางกิโลเมตร โดยเกาะที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเพียง 377 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น [14] แม้ว่าพื้นที่ของแปซิฟิกใต้ในอาณัติจะมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอาณานิคมอื่นของญี่ปุ่น แต่ดินแดนแห่งนี้ก็สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับญี่ปุ่นได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกิจการด้านเกษตรกรรม การประมงและกิจการเหมืองแร่ สามารถสร้างเงินได้ให้กับรัฐบาลและภาคเอกชนอย่างมหาศาล [15] ซึ่งญี่ปุ่นได้สนับสนุนภาคเอกชนเข้าไปลงทุน โดยการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลด้านสารสนเทศต่าง ๆ นำไปสู่การดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมากขึ้น และมีประชากรรวมมากกว่าประชากรชาวพื้นเมืองในที่สุด เมื่อถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทุกรูปแบบของแปซิฟิกใต้ในอาณัติซบเซาลงเป็นอย่างมาก โดยรายได้ของรัฐบาลเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากต้องนำสินค้า ปัจจัยการผลิตและกำลังคนไปใช้สนับสนุนการรบในช่วงสงครามโลก

เกษตรกรรม

ก่อนญี่ปุ่นได้สิทธิ์เข้าปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติในปี ค.ศ. 1919 ประชากรชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามา เข้าไปทำงานในกิจการเหมืองแร่ของชาติตะวันตกและใช้เป็นทางผ่านในการเข้าไปทำงานในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนอื่น เช่น เหมืองแร่นิกเกิลในนิวแคลิโดเนีย เป็นต้น [9] ในส่วนของบริษัทของญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนสินค้าญี่ปุ่นกับสินค้าพื้นเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1914 มีความพยายามจากภาคส่วนของเอกชนในญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในบริเวณภูมิภาคไมโครนีเซีย (อาณานิคมเยอรมันนิวกินี) โดยนิชิมูระ อิชิมะสิ (Nishimura Ichimatsu) เกษตรกรชาวญี่ปุ่น รวมไปถึงบริษัทการพัฒนาอุตสาหกรรมทะเลใต้ (South Sea Industrial Development) ที่มองเห็นโอกาสจากราคาน้ำตาลที่สูงมาก ได้เดินทางเข้ามาทำการเพาะปลูกอ้อยในเกาะไซปัน (Saipan) แต่ประสบภาวะล้มเหลวจากโรคระบาดและการขาดความรู้ที่เพียงพอ เป็นผลให้บริษัทจากญี่ปุ่นนิยมเพาะปลูกอ้อยในเกาะฟอร์โมซามากกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่า [9] 

การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมของดินแดนแห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ในการปกครองแปซิฟิกใต้ในอาณัติ เทะสุกะ โทชิโระ (Tezuka Toshiro) ข้าหลวงใหญ่ประจำแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ปรึกษากับมัตสุเอะ ฮารุจิ (Matsue Haruji) ถึงความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกอ้อย ซึ่งเป็นพืชเกษตรกรรมที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แปซิฟิกใต้ในอาณัติมากที่สุด [8] การเจรจาพูดคุยกันของรัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติและมัตสุเอะ ฮารุจิ นำไปสู่การจัดตั้งบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development Company หรือ Nanyo Kohatsu Kabushiki Kaisha) แม้ว่าในอดีตนักธุรกิจและภาคเอกชนของญี่ปุ่นมักประสบความล้มเหลวในการเพาะปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล แต่การที่รัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติและภาคเอกชนร่วมมือกัน เป็นเพราะการสำรวจและจัดทำแผนที่ของกองทัพเรือญี่ปุ่นในบริเวณแปซิฟิกใต้ในอาณัติ พร้อมทั้งระบุสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประชากรและวัฒนธรรม เป็นผลทำให้การตัดสินใจเป็นไปได้โดยง่ายขึ้น [7]

การเพาะปลูกอ้อยของญี่ปุ่นในแปซิฟิกใต้ในอาณัติมีการใช้พื้นที่มากถึง 28,373 เอเคอร์ ซึ่งเป็นรองเพียงแค่มะพร้าว และพืชท้องถิ่นของแปซิฟิกใต้ในอาณัติเท่านั้น [15] สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอาณานิคมกว่า 20 ล้านเยน ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดมาจากการเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาล และปริมาณน้ำตาลในตลาดญี่ปุ่นมีถึงร้อยละ 5 ที่มาจากแปซิฟิกใต้ในอาณัติ [9] ความสำเร็จในการเพาะปลูกอ้อย รวมไปถึงแรงจูงใจที่ดีพอ ส่งผลให้ประชากรชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโอกินาวานิยมเข้ามาแสวงหาโอกาสในการรับจ้างปลูกอ้อยหรือเป็นลูกจ้างของบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development) ประชากรชาวญี่ปุ่นจึงเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี ค.ศ. 1920 มีประชากร 3,671 คน เพิ่มขึ้นเป็น 90,072 คน ในปี ค.ศ. 1941  ในขณะที่ชาวพื้นเมืองมีประชากรรวมกันเพียงแค่ 51,089 คนเท่านั้น[7] ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลให้อัตราส่วนของประชากรในแปซิฟิกใต้ในอาณัติระหว่างชาวพื้นเมืองกับประชากรชาวญี่ปุ่นเท่ากับ 1 : 2 แรงจูงใจสำคัญที่ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามา คือ ความสำเร็จจากการเพาะปลูกน้ำตาล การการันตีการได้รับที่ดินบางส่วนเพาะปลูก รวมไปถึงการไม่คู่แข่งเมื่อเทียบกับอาณานิคมอื่น กล่าวคือ ในบันทึกของรัฐบาลญี่ปุ่นมักกล่าวถึงประชากรชาวไมโครนีเซียที่อาศัยอยู่ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติว่าเป็นผู้ที่ “ขี้เกียจ ไม่มีอารยธรรม ป่าเถื่อน ใช่ชีวิตประจำวันไปวันๆ และอยู่ในวิถีดั้งเดิม” [8] ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวจีนในไต้หวันและชาวญี่ปุ่นในเกาหลีแล้ว ชาวไมโครนีเซียเป็นผู้ที่มีลักษณะด้อยวัฒนธรรมและความรู้มากที่สุด และรัฐอาณานิคมเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวไมโครนีเซียในเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก

ในการเกษตรกรรมด้านอื่นๆ พบว่าแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ให้ความสำคัญรองลงมาคือการเพาะปลูกมะพร้าวและสาเก ซึ่งสาเกกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของบริษัทพัฒนาทะเลใต้ (South Seas Development) โดยทำการผลิตในเกาะไซปันและทีเนียน ส่วนมะพร้าวมักแปรรูปเป็นมะพร้าวตากแห้งเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังพบการริเริ่มทดลองปลูกข้าว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกอ้อย รวมไปถึงได้ตั้งสถานีเกษตรกรรมเพื่อทดลองปลูกพืชชนิดต่างๆ ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติ[16]

กิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น

กิจการที่มีความสำคัญอีกรูปแบบหนึ่งต่อเศรษฐกิจของแปซิฟิกใต้ในอาณัติคือการปศุสัตว์และการประมง ในส่วนของการปศุสัตว์นั้นพบว่ายังดำเนินการอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม หมูเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากชาวพื้นเมืองนิยมรับประทานหมูมาก่อนหน้านั้นแล้ว รองลงมาคือวัวและไก่ ในส่วนของการประมงนั้นพบว่าในช่วงระยะแรก ก่อนปี ค.ศ. 1923 กิจการประมงอยู่ในความดูแลของชาวประมงและบริษัทขนาดเล็ก แต่หลังจากปี ค.ศ. 1923 เป็นต้นมา บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาควบคุมกิจการการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทพัฒนาทะเลตะวันออก (South Seas Development) ที่นิยมหาหอยและหมึกเพื่อกลับไปจำหน่ายในญี่ปุ่น [9]

ส่วนกิจการทำเหมืองแร่ในช่วงแรกของแปซิฟิกใต้ในอาณัติเป็นของเยอรมนีเจ้าอาณานิคมเดิม โดยในปี ค.ศ. 1922 ญี่ปุ่นดำเนินการซื้อกิจการเหมืองแร่ทั้งหมดของเยอรมนีเป็นเงิน 1,739,660 เยน โดยรัฐบาลแปซิฟิกใต้ในอาณัติเข้าไปดำเนินการกิจการเหมืองแร่ในเกาะเฟยส์ (Feys) พีลีลู (Pililu) โตโกไบ (Togobai) และอางาอูร์ (Angaur) โดยแร่ที่สำคัญของเกาะเหล่านี้ คือ ฟอสเฟต กิจการเหมืองแร่ในแปซิฟิกใต้ในอาณัติค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุน ขาดเครื่องมือที่ดีพอ การขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1934 ที่รัฐบาลอาณานิคมอนุญาตให้บริษัทพัฒนาทะเลตะวันออก (South Seas Development) เข้าไปลงทุนและพัฒนากิจการเหมืองแร่แต่เพียงผู้เดียว ด้วยภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานจึงเริ่มมีการดำเนินการจ้างชาวพื้นเมืองเป็นแรงงานไร้ฝีมือและชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลีและชาวจีนเป็นแรงงานมีฝีมือ โดยอัตราเงินได้ชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.54 เยนต่อวัน โดยชาวพื้นเมืองในแปซิฟิกใต้ในอาณัติได้ต่ำสุด โดยอยู่ระหว่าง 0.79 – 1.40 เยนต่อวัน ขึ้นอยู่กับทักษะการทำงานของบุคคลนั้น ๆ [9]  

ใกล้เคียง

แปซิฟิกแอร์ไลน์ แปซิฟิกใต้ในอาณัติ แปซิฟิค ริม สงครามอสูรเหล็ก แปซิฟิค ริม ปฏิวัติพลิกโลก แปซิฟิกเกมส์ แปซิฟิกเกมส์ 2015 แปซิฟิกเกมส์ 2019 แปซิฟิกเกมส์ 2011 แปซิฟิกเกมส์ 2023 แปซิฟิกเกมส์ 2027