นโยบายต่างประเทศ ของ โจเซฟ_สตาลิน

โจเซฟ สตาลินนำสหภาพโซเวียตก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก เป็นหนึ่งในขั้วอำนาจในสงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 โซเวียตมีฐานะที่มั่นคงแข็งแรงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารมากขึ้น แม้ว่าทางการทหารจะยังเป็นรองสหรัฐอเมริกาในระยะแรกก็ตาม หลังจากนั้นสตาลินได้เปลี่ยนท่าทีหันมาดำเนินนโยบายรุนแรง กวาดล้างผู้เป็นปรปักษ์จำนวนมากและมีนโยบายแข็งกร้าวต่อต้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งโซเวียตมองว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง

สิ่งแรกที่โซเวียตเร่งดำเนินการก็คือ สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ให้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุโรปตะวันออกเป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้การชี้นำของโซเวียต สนับสนุนขบวนการปลดแอก ให้เป็นเครื่องมือในการทำลายจักวรรดินิยมของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และสหรัฐ สำหรับประเทศยุโรปตะวันออกนั้นมีความสำคัญต่อโซเวียตเป็นอย่างยิ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นดุลอำนาจให้แก่โซเวียตในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว

การผนึกกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์

สตาลินได้จัดตั้งโคมินฟอร์ม (Communist Information Bureau หรือ Cominform) ในเดือนกันยายน ปี 1947 เพื่อใช้สำนักงานนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และอยู่ในวินัยที่เคร่งครัด ภายใต้การควบคุมของโซเวียต แม้ว่าสตาลินจะถือนโยบายอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Co-Existence) ก็เพียงชั่วคราวเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ยังมีความเชื่อมั่นตามอุดมการณ์ที่จะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในประเทศต่างๆ และเห็นว่าสงครามการปะทะกันระหว่างฝ่ายนายทุนกับสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นนโยบายของสตาลินในช่วงนี้จึงนิยมความรุนแรงและรุกราน พยายามที่จะแยกประชาชาติต่างๆในยุโรปมิให้รวมกันได้ อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายสหภาพโซเวียตริเริ่มทำให้เกิดสงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกหรือโลกเสรีซึ่งสหรัฐเป็นผู้นำ กับโลกตะวันออกหรือค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่โซเวียตเป็นผู้นำ ทำให้โลกอยู่ในสภาวะ 2 ศูนย์อำนาจอย่างเคร่งครัด สตาลินมีนโยบายรวบรวมผนึกกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้อาณัติของสหภาพโซเวียตอย่างเข้มงวด โดยใช้กำลังทหารและการบีบคั้นทางด้านอื่น เช่นทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้ประเทศในค่ายสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกถูกขนานนามว่าเป็นบริวารโซเวียต (Soviet Satellite หรือ Soviet Bloc) ซึ่งเรียกว่า ลัทธิสตาลิน (Stalinism)

การแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่น

นอกจากนี้โซเวียตยังเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่นๆ อีก เช่นในปี 1947 ได้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ให้ยึดครองกรีซ (เหตุการณ์ครั้งนี้พรรคคอมมิวนิสต์กระทำการไม่สำเร็จ เพราะสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาสกัดกั้น ให้ความช่วยเหลือกรีซและตุรกีตามแผนการมาแชล) และวิกฤตการณ์ปิดล้อมเบอร์ลิน ค.ศ. 1948 – 1949 (ทำให้มีการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตกคืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ จนต้องแบ่งแยกเยอรมันออกเป็น 2 ประเทศโดยเด็ดขาด) นอกจากนี้ก็มีเหตุการณ์ที่สตาลินขับไล่ ยูโกสลาเวีย ภายใต้การนำของติโต้ออกจากองการณ์โคมินฟอร์มในปี 1948 และ ในปี 1949 ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างในการคิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา และปีเดียวกันก็จัดตั้ง สภาเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ:Council for Mutual Economic Assistance หรือ Comecon (โคเมคอน) หรือ CEMA (ซีมา) เพื่อต่อต้านองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป

นโยบายต่างประเทศ-จีน

โซเวียตมีอิทธิพลมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือจีนภายหลังจากที่คอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ปฏิวัติสำเร็จเมื่อ 1949 โซเวียตต้องการครอบงำจีนไว้เป็นมิตรทางยุทธศาสตร์ เพื่อสกัดกั้นญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าโซเวียตจะมีสนธิสัญญาพันธมิตรกับจีนเมื่อปี 1950 และมีอายุ 30 ปีก็ตาม แต่โซเวียตต้องการจะครอบงำจีนและขาดความจริงใจในการช่วยเหลือจีน จึงกลายเป็นเรื่องขัดแย้งต่อมาภายหลัง การที่โซเวียตสนับสนุนช่วยเหลือเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ในสงครามเกาหลี 1950 ซึ่งแม้โซเวียตไม่ได้ประจันหน้าโดยตรงเพราะจีนเข้ามามีบทบาทแทนโซเวียต ตลอดจนการสนับสนุนเวียดมินห์ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ต่อต้านฝรั่งเศสตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงจนประสบชัยชนะในปี 1954 เหตุการณ์ที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่โซเวียตเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงเพื่อการขยายอำนาจและอิทธิพลของโซเวียต

สรุปได้ว่า นโยบายต่างประเทศสมัยสตาลินเป็นไปในทางรุกแข็งกร้าว เพื่อสร้างอำนาจให้แข็งแกร่งมีความเป็นปึกแผ่นในค่ายสังคมนิยม ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตเพื่อแข่งขันและสกัดกั้นอิทธิพลของฝ่ายตะวันตกและสหรัฐ จนกระทั่งสตาลินถึงแก่กรรมในปี 1953 ด้วยวัย 75 ปี