นิยาม ของ โมฆียกรรม

โมฆียกรรม หรือนิติกรรมที่อาจเป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่กฎหมายถือว่าสมบูรณ์ตราบที่ยังไม่ถูกบอกล้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะนิติกรรมนี้มีความผิดปรกติอย่างไม่ร้ายแรงนัก กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องโดยตรงได้มีโอกาสตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองบุคคลเหล่านี้เอง[3]

ในตำราโบราณของไทยมักอธิบายว่า โมฆียกรรมนั้นมีความสมบูรณ์เต็มร้อยแล้ว แต่อาจถูกบอกล้างให้กลายเป็นโมฆะไปเสียได้[4] ขณะที่นักกฎหมายปัจจุบันเห็นต่างไปจากนั้น โดยเห็นว่า โมฆียกรรมนั้นหามีความสมบูรณ์เต็มร้อยไม่ หากแต่กฎหมายถือว่าให้มีความสมบูรณ์เพียงชั่วคราวจนกว่าจะบอกล้างให้เป็นโมฆะไป หรือรับรองโดยการให้สัตยาบันก็จะสมบูรณ์ตลอดไป เพราะลำพังแต่การเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นอย่างมีความผิดปรกติแล้วจะว่าสมบูรณ์เต็มร้อยไม่ได้[5] ซึ่งความผิดปรกตินี้เองก่อให้เกิดสิทธิของผู้เกี่ยวข้องที่จะตัดสินใจว่าจะเอาโมฆียกรรมนั้นอยู่หรือไม่

สารานุกรมของเวสต์ว่าด้วยกฎหมายอเมริกัน (อังกฤษ: West's Encyclopedia of American Law) อธิบายถึงโมฆียกรรมไว้ว่า ในกฎหมายว่าด้วยสัญญา คำว่า "โมฆียกรรม" หมายถึง สัญญาที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและผูกพันคู่สัญญา จนกว่าคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะใช้สิทธิบอกล้างหรือรับรองด้วยการให้สัตยาบันซึ่งโมฆียกรรมนั้น สัญญาจะตกเป็นโมฆียะโดยเนื่องมาจากกลฉ้อฉล ความสำคัญผิด การแถลงข้อความเป็นเท็จ (เพื่อฉ้อฉล) การมีความสามารถบกพร่องตามกฎหมาย และการผิดต่อความไว้วางใจที่ได้รับ สัญญาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งดังกล่าวนี้มิได้ตกเป็นโมฆะโดยอัตโนมัติ แต่จะตกเป็นโมฆะตามความเห็นชอบของคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะบอกล้างสัญญานั้น ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้ถูกล่อลวงโดยกลฉ้อฉลให้เข้าทำสัญญาอาจขอเลิกสัญญาโดยกระทำการบางอย่างตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ยอมรับสัญญานั้น หรือผู้ถูกล่อลวงโดยกลฉ้อฉล หลังจากเขาทราบความแล้วแล้วอาจพิจารณาให้สัตยาบันแก่สัญญานั้นเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ต่อไปก็ได้[6]

พจนานุกรมศัพท์กฎหมายสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: A Law Dictionary, Adapted to the Constitution and Laws of the United States.) ว่า "โมฆียะ" นั้น หมายถึง มีอำนาจใช้บังคับหรือมีผลตามกฎหมายอยู่ แต่ด้วยลักษณะบางอย่างในตัวของมัน ทำให้การนั้นอาจถูกบอกล้างไปเสียตามกฎหมายได้ ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือกรณีของสัญญาที่ผู้เยาว์กระทำขึ้น ผู้เยาว์อาจบอกล้างไปเสียเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะแล้วได้ สัญญาที่เป็นโมฆียะนั้นโดยปรกติแล้วมีผลผูกพันคู่สัญญาจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายที่มีสิทธิจะใช้สิทธิบอกล้างมันเสีย[6]