รูปทรง ของ โยโย่

โยโย่ทรงอิมพีเรียลโยโย่ทรงโมดิฟายด์โยโย่ทรงผีเสื้อ

จวบจนถึงปัจจุบัน มีการผลิตโยโย่ ปรับแต่ง และออกแบบรูปทรงส่วนจานหมุนแบบใหม่ๆ มามากมาย ส่งผลให้โยโย่แต่ละอันล้วนมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกันตามไปด้วย อย่างไรก็ดี อาจจำแนกรูปทรงของโยโย่ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่

อิมพีเรียล (Imperial)

ถือเป็นรูปทรงดั้งเดิมของโยโย่ มีลักษณะเป็นที่ติดตากันทั่วไป อาจเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือทรง สกัลปต์ (Sculpted) ซึ่งหมายถึงการถูกแกะสลักเสลาออกมาเป็นชิ้นงาน

รูปทรงแบบอิมพีเรียลนี้ ทำให้โยโย่เหมาะต่อการเล่น ลูปปิง เป็นรูปแบบแรกของโยโย่ที่ เปโดร ฟลอเรสผลิตออกวางจำหน่าย ก่อนจะขายต่อสิทธิ์ในการผลิตให้ดันแคนในภายหลัง

โมดิฟายด์ (Modified)

รูปทรงโมดิฟายด์ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่ารูปทรงที่ผ่านการดัดแปลง ได้รับความนิยมสำหรับผู้เล่นโยโย่ เพราะสามารถเล่นท่าแนวสลีปปิง และลูปปิงได้ดีทั้งคู่ บ้างก็เรียกว่าเป็นรูปทรงฟลายวีล ที่แปลว่าทรงจานบิน หรือรูปทรงโมเดิร์น อันมีความหมายว่ารูปทรงสมัยใหม่

จุดเด่นของโยโย่รูปทรงโมดิฟายด์ คือผิวหน้าด้านนอกของส่วนที่เป็นจานหมุนทั้งสองจะถูกคว้านออกโพรง อาจมีการปิดทับด้วยพลาสติก หรือกระดาษ โดยเหลือขอบบริเวณรอบจานหมุน ช่วยเพิ่มมวลและแรงเฉื่อยในการหมุนของโยโย่ ซึ่งมีผลทำให้โยโย่หมุนได้นานยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ตัวโยโย่เองก็มีลักษณะเรียวบางทำให้สามารถพลิกกลับได้ง่ายในขณะเล่นท่าลูปปิง โดยรวมแล้ว ตัวจานหมุนของโยโย่มีความโค้งมน ไม่มีบริเวณที่เป็นสันอย่างเด่นชัด ถือได้ว่าเป็นรูปทรงโยโย่ที่มีความสมดุลในการเล่นมากที่สุด

ผีเสื้อ (Butterfly)

ถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2501 แปลตรงตัวได้ว่ารูปทรงผีเสื้อ ชื่อเรียกดังกล่าวมาจากลักษณะเด่นของส่วนจานหมุนที่บานออกจากกัน ทำให้ง่ายต่อผู้เล่นที่จะใช้เชือกคล้องตัวจานหมุนในขณะเล่น เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเล่นท่าที่ใช้เชือก รูปทรงนี้ยังเหมาะสำหรับการเล่นแบบ ออฟ-สตริง ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามข้อเสียของโยโย่รูปทรงนี้ คือไม่เหมาะสำหรับการเล่นท่าลูปปิง เพราะตัวจานหมุนที่บานออก ทำให้ตัวโยโย่พลิกกลับในระหว่างการเล่นลูปปิงได้ยาก

โยโย่รูปทรงผีเสื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับ เดียโบโล ซึ่งเป็นของเล่นอีกชนิดหนึ่ง ในบางครั้งก็เรียกโยโย่รูปทรงนี้ว่า โยโย่จีนมีความนิยมในหมู่โยโย่ทรงต่างมาก ส่วนใหญ่เป็นเหล็ก

รูปทรงใหม่

เริ่มแพร่หลายในระยะเวลาไม่นานนับแต่ปี พ.ศ. 2550 มีการพัฒนารูปทรงของโยโย่แบบใหม่ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น

  • โยโย่แบบร่องกว้าง เน้นการเพิ่มช่องว่างระหว่างส่วนจานหมุนทั้งสองอัน ทำให้มีที่ให้เชือกแทรกตัวเข้าใกล้แกนหมุนของโยโย่ได้มากขึ้น และช่วยให้ง่ายต่อการเล่นท่าแบบใช้เชือก แต่ก็มีข้อเสียสำคัญคือตัวโยโย่ไม่สามารถพันทบเชือกกลับสู่มือผู้เล่นได้ด้วยการกระตุกเชือกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการทบเชือก
  • โยโย่ทรงตัว H ลักษณะคล้ายกับโยโย่ทรงผีเสื้อ แต่ข้อแตกต่างคือ บริเวณขอบของจานหมุนมีการเสริมจนเป็นสันหนา ช่วยเพิ่มมวลบริเวณดังกล่าว ใช้วัสดุมากจึงราคาสูง
  • โยโย่แบบมีรอยบุ๋ม คือโยโย่ที่ผิวนอกของส่วนจานหมุน มีรอยบุ๋มลักษณะคล้ายรอยบุ๋มบนผิวลูกกอล์ฟ รอยบุ๋มเหล่านี้ จะช่วยลดแรงต้านอากาศขณะที่โยโย่กำลังหมุน ช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำสลีปปิง
  • โยโย่ DIY ได้2ประเภท

1.ลูกปืน

2.โยโย่ติดมอเตอร์

การกระจายน้ำหนัก

การออกแบบส่วนจานหมุนของโยโย่ จำเป็นต้องคำนึงมวลของจานหมุนว่าเน้นหนักไปในตำแหน่งใดของจาน จานหมุนแบบที่มีเนื้อวัสดุมากบริเวณขอบจานหมุนเป็นการออกแบบที่ช่วยให้เล่นท่าเชือกได้ง่ายขึ้น ในขณะที่โยโย่แบบที่เน้นการถ่วงน้ำหนักให้มวลส่วนใหญ่อยู่บริเวณแกนกลางของจาน จะเอื้อให้ผู้เล่นสามารถเล่นท่าลูปปิงได้ง่ายขึ้น เพราะโยโย่สามารถพลิกตัวในขณะเล่นได้ดีขึ้น

โยโย่ที่มีมวลมาก ส่งผลให้โมเมนต์ความเฉื่อยเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้โยโย่หมุนได้นานกว่าแบบที่มวลน้อยกว่า อย่างไรก็ตามมวลที่เพิ่มขึ้นก็หมายถึงภาระของผู้เล่นที่ต้องใช้พละกำลังระหว่างเล่นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน