ประวัติ ของ โยโย่

ภาพเด็กผู้ชายกำลังเล่นโยโย่ ปรากฏบนถ้วยชามที่ค้นพบจากซากวิหารโบราณของกรีก

โยโย่ ปรากฏในประวัติศาสตร์ครั้งแรกในอารยธรรมกรีกเมื่อประมาณ 2500 ปีก่อน ทำจากดินเผาขึ้นรูปเป็นทรงจานแบน หลักฐานที่บ่งชี้ข้อมูลดังกล่าว คือแจกันที่หลงเหลือมาจากยุคสมัยนั้นมีรูปภาพเด็กผู้ชายกำลังเล่นโยโย่ นอกจากนี้บันทึกของชาวกรีกฉบับอื่นๆ ยังมีการกล่าวถึงโยโย่ที่ทำจากไม้, โลหะ หรือดินเผา โดยโยโย่ดินเผาจะถูกมอบให้แก่เด็กเมื่อถึงพิธีเฉลิมฉลองเมื่อเด็กเติบโต ในขณะที่โยโย่ที่ทำจากวัสดุอื่นใช้เพื่อการละเล่นเพียงเท่านั้น อีกทางหนึ่งตามบันทึกเรื่องการใช้ชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ในสมัยก่อนกล่าวถึงการล่าสัตว์ที่ใช้สิ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายโยโย่เป็นอาวุธ โดยผู้ล่าจะซ่อนตัวบนต้นไม้ แล้วใช้ก้อนหินผูกกับเชือกยาวกว่า 6 เมตร ซัดไปยังสัตว์ที่อยู่ด้านล่างของพวกเขา หากอาวุธพลาดเป้า พวกเขาก็ใช้เชือกที่มัดเอาไว้นั้นดึงอาวุธกลับขึ้นมาบนต้นไม้

ที่มาของชื่อและลักษณะแรกเริ่ม

มีการสันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า"โยโย่" อาจมาจากภาษาอิโลกาโนของฟิลิปปินส์ที่ว่า "yóyo" หรืออาจมาจากภาษาตากาล็อกซึ่งเป็นภาษาหลักของฟิลิปปินส์ อันมีความหมายว่า "กลับมา กลับมา"

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่ง คาดว่า "โยโย่" คือคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า joujou แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็เป็นแต่เพียงการคาดเดาที่ไม่มีมูลเหตุอื่นชวนให้เป็นที่น่าเชื่อถือ

โยโย่ที่ถูกพัฒนาโดยชาวฟิลิปปินส์เพื่อใช้เป็นอาวุธสำหรับการล่าสัตว์นั้น จะใช้เชือกที่มีความยาวเป็น 2 เท่าของระยะซัดอาวุธที่ต้องการ และเริ่มจากการทบครึ่งเชือกดังกล่าว พร้อมฟั่นเกลียวให้เหลือปลายเชือกด้านที่ทบไว้เป็นห่วงสำหรับคล้องแกนหมุนของโยโย่ การออกแบบในลักษณะนี้ช่วยให้ส่วนที่เป็นจานหมุนสามารถหมุนได้เป็นอิสระและมีความเสถียรมากขึ้น

ความแตกต่างของการออกแบบโยโย่โดยชาวฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับแบบที่มีมาก่อนหน้า คือการยึดเชือกกับแกนหมุน โดยแบบเดิมนั้นใช้การมัดปมเชือกเพื่อยึดจับแกนหมุนโดยตรง ซึ่งโยโย่ที่มีลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ผู้เล่นซัดโยโย่ออกไปแล้ว มันจะเคลื่อนที่กลับสู่มือของผู้เล่นทันที่เคลื่อนตัวออกจนสุดระยะของเชือก ส่วนที่เป็นจานหมุนไม่สามารถหมุนค้างอยู่ที่ปลายเชือกได้ จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้เล่นโยโย่ส่วนใหญ่ไม่นิยมการใช้เชือกมัดปมเพื่อยึดแกนหมุน เพราะเมื่อโยโย่ไม่สามารถหมุนฟรีค้างอยู่ที่ปลายเชือกหรือที่เรียกว่าการเล่นท่า สลีปปิง ได้ ก็เท่ากับการพลิกแพลงเล่นท่าอื่นๆอันมีพื้นฐานจากท่าดังกล่าวโดนปิดกั้นไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เล่นบางกลุ่มที่ไม่ได้ชอบโยโย่แบบที่ชาวฟิลิปปินส์พัฒนาขึ้นเช่นกัน เพราะข้อจำกัดของการใช้เชือกทำเป็นห่วงคล้องแกนหมุนนั้น ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถเล่นโยโย่แบบ ออฟ-สตริง ได้ ซึ่งการเล่นลักษณะดังกล่าวคือการซัดโยโย่ให้หมุนโดยอาศัยการรั้งของเชือกที่พันรอบแกน ก่อนจะปล่อยให้โยโย่หลุดออกจากเชือกเป็นเวลาชั่วขณะ หลังจากนั้นผู้เล่นจะควบคุมให้โยโย่กลับมาเลี้ยงตัวบนเชือกและพันทบเชือกดังกล่าวรอบแกนหมุนของโยโย่อีกครั้ง

สิทธิบัตร "โครงสร้างของเล่นที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า บันดาลอร์"

โยโย่สมัยใหม่

เจมส์ แอล. ฮาเวน และ ชาร์ลส์ เฮททริค จากเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับสิทธิบัตรฉบับแรกในอเมริกาสำหรับ "โครงสร้างของเล่นที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า บันดาลอร์" ในปี พ.ศ. 2409

อย่างไรก็ตาม การแพร่หลายอย่างแท้จริงของโยโย่ เริ่มในปี พ.ศ. 2471 เมื่อชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ชื่อว่า เปโดร ฟลอเรส เปิดโรงงานผลิตโยโย่ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซานตา บาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้ชื่อโรงงานว่า โย-โย่ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (Yo-yo Manufacturing Company) ธุรกิจเมื่อแรกเริ่มมีกำลังการผลิตในระดับไม่กี่สิบอันต่อวัน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โรงงานของเปรโดร ฟลอเรส ได้ขยายกำลังการผลิตอีก 2 แห่งในลอสแอนเจลิส และ ฮอลลีวู้ด มีลูกจ้างกว่า 600 คน สามารถผลิตโยโย่ได้มากกว่า 300,000 อันต่อวัน

ยุคของดันแคน

ในปี พ.ศ. 2472 หลังจากเปโดร ฟลอเรส ขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตโยโย่ไม่นาน บริษัทดังกล่าวก็ถูกซื้อโดย โดนัลด์ ดันแคน รวมทั้งชื่อโรงงานฟลอเรสด้วย ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ภายหลังในปี พ.ศ. 2475 โดยโยโย่ตัวแรกที่ถูกผลิตภายใต้การเปลี่ยนชื่อนี้ คือ ดันแคน โอ-บอย (Duncan O-Boy)

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทั่วโลกต่างซบเซา ธุรกิจหลายอย่างประสบปัญหาทางด้านการเงิน เป็นที่คาดกันว่าธุรกิจของดันแคนน่าจะต้องประสบภาวะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ แต่ผลกลับตรงกันข้าม เมื่อธุรกิจการผลิตโยโย่ไปได้ดี โดยสามารถทำกำไรได้มากกว่านั้นหลายเท่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น

ในปี พ.ศ. 2489 ดันแคน ทอยส์ คอมพานี (Duncan Toys Company) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่นของดันแคนได้เปิดโรงงานผลิตโยโย่เพิ่มที่เมืองลัค รัฐวิสคอนซิน ทำให้เมืองดังกล่าวมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในนาม "มหานครโยโย่ของโลก"

แต่เป็นเรื่องผิดคาด เมื่อการประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ทำให้เมืองลัคเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจการผลิตโยโย่ ทว่าในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า ผู้คนไม่สามารถจดจำชื่อยี่ห้อของโยโย่ได้ดีนัก

การฟื้นตัวในยุค 60

จากยอดขายที่ลดลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ดันแคนผลักดันแผนกระตุ้นยอดขายด้วยยี่ห้อ "โย-โย่ (Yo-Yo)"ออกมาในปี พ.ศ. 2505 โดยเริ่มทำสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำสื่อแนะนำการเล่นโยโย่รุ่น ดันแคน บัตเตอร์ฟลาย (Duncan Butterfly) ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ไม่เคยเล่นโยโย่มาก่อนสนใจในผลิตภัณฑ์นี้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวก็คงอยู่ไม่นานนัก เมื่อศาลมีคำสั่งให้ดันแคนเลิกใช้คำว่า "โย-โย่" เป็นชื่อยี่ห้ออีกต่อไป โดยอิงจากคดีตัวอย่างในปี พ.ศ. 2508 เนื่องเพราะเห็นว่าคำคำนี้กลายเป็นคำทั่วไป ไม่ได้มีความหมายเฉพาะ ผลจากการต่อสู้คดี และภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ทำให้ดันแคนตัดสินใจขายกิจการพร้อมชื่อทางการค้าอื่นให้กับ "กลุ่มบริษัทเฟลมเบอ (Flambeau, Inc)" ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นผู้ผลิตโมเดลพลาสติกส่งให้กับโรงงานดันแคนมาโดยตลอด ตราบจนปี พ.ศ. 2553 กลุ่มบริษัทเฟลมเบอยังคงดำเนินกิจการผลิตโยโย่อยู่อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาระบบลูกปืนในยุค 70

ในยุค 70 หรือราว พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2523 มีการพัฒนาโยโย่ด้วยวิทยาการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงวิธียึดจับเชือกกับแกนหมุนของ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมือใหม่สามารถเข้าถึงความสนุกของการเล่นโยโย่ได้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้ผู้เล่นพลิกแพลงรูปแบบการเล่นได้หลากหลายยิ่งกว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

ในปี พ.ศ. 2521 ทอม คุนห์ ทันตแพทย์ผู้เป็นนักเล่นโยโย่ด้วย ได้จดสิทธิบัตรในการออกแบบโยโย่แบบถอดประกอบได้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เล่นสามารถอดเปลี่ยนแกนหมุนของโยโย่ได้เมื่อยามสึกหรอ ทั้งยังสะดวกต่อการดูแลรักษาด้วย

โยโย่ที่มีคลัทช์ด้านใน

อีก 2 ปีให้หลัง ไมเคิล แคฟเฟรย์ จดสิทธิบัตรการออกแบบโยโย่ชนิดมีคลัทช์อยู่ที่แกนหมุนของโยโย่ หรือในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ โยเมกา เบรน (Yomega Brain) คุณสมบัติพิเศษของโยโย่ประเภทนี้ คือ ตัวคลัทช์ที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยให้ส่วนโยโย่หมุนฟรีได้ในขณะที่ตัวจานหมุนกำลังหมุนด้วยความเร็วสูง และตัวจานหมุนจะเกาะตัวแน่นหมุนพันทบเชือกกลับสู่มือผู้เล่นทันทีเมื่อโยโย่มีความเร็วในการหมุนต่ำกว่าระดับที่กำหนด คุณสมบัติพิเศษอันนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้เล่นมือใหม่เป็นอย่างมาก

กลไกการทำงานก็คือ ชุดคลัทช์ที่ต่อกับชุดยึดจับแกนหมุนมีตุ้มถ่วงและสปริงซึ่งยึดกับชุดจับแกนหมุนของลูกดิ่งเป็นองค์ประกอบ เมื่อผู้เล่นซัดโยโย่ออกจากมือ ตัวสปริงจะโดนกดอัดให้หดตัว แรงที่กดอัดสปริงดังกล่าวคือแรงเหวี่ยงของลูกตุ้มซึ่งเกิดในขณะที่โยโย่หมุนด้วยความเร็วสูง ชั่วขณะนั้นเอง ชุดยึดจับแกนหมุนของโยโย่จะคลายตัวออก ทำให้โยโย่หมุนฟรีได้ แต่เมื่อความเร็วในการหมุนลดต่ำลงจนถึงค่าค่าหนึ่ง แรงต้านของสปริงมีค่ามากกว่าการกดอัดจากแรงเหวี่ยง ชุดสปริงจะคืนตัวและดันชุดยึดจับให้จับแกนหมุนดังเดิม ทำให้โยโย่หยุดการหมุนฟรีและพันทบเชือกกลับสู่มือของผู้เล่นเองโดยไม่ต้องกระตุกเชือก

โยโย่ที่มีตลับลูกปืนตรงแกนหมุน

วิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดของโยโย่ในยุคนี้ คือ การใส่ตลับลูกปืนเข้าไปตรงบริเวณแกนหมุนของลูกดิ่ง ระบบดังกล่าวได้รับการออกแบบโดย เอสเคเอฟ (SKF) บริษัทผลิตตลับลูกปืนในประเทศสวีเดน ผลจากการออกแบบทำให้โยโย่มีความเสียดสีขณะหมุนน้อยลง มีระยะเวลาในการหมุนที่นานขึ้นมาก จุดนี้เองที่ถือเป็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับโยโย่ที่มีการผลิตมาก่อนหน้า

แม้ว่าการเพิ่มตลับลูกปืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโยโย่จะเพิ่มภาระในการดูแลรักษา และทำให้ต้นทุนในการผลิตโยโย่เพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ผู้เล่นสามารถเล่นท่า สลีปปิง ได้นานจึงทำให้โยโย่ประเภทนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้เล่นที่ชื่นชอบการเล่นท่าทางพลิกแพลงที่มีพื้นฐานจากท่าดังกล่าวเป็นอย่างมาก

การแพร่หลายในยุค 90

จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโยโย่ ทำให้ขีดความสามารถต่างๆของโยโย่เพิ่มขึ้นรอบด้าน เมื่อเทียบกับบรรดาโยโย่ที่ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ยุค 70 รูปแบบต่างๆ ของโยโย่ได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ชื่อของ โยเมกา เบรน เป็นที่รู้จักในฐานะของโยโย่แบบมีคลัทช์ ในขณะที่ เพลย์แมกซ์ โปร-โย่ (Playmaxx Pro-yo) ก็ได้รับความนิยมจากการออกแบบให้แยกส่วนได้

โยโย่ที่ใช้โลหะเป็นวัสดุหลักในการผลิต

วิวัฒนาการอีกอย่างหนึ่งของโยโย่ในยุคนี้ คือ การหันมาใช้วัสดุที่หลากหลายมากกว่าแต่ก่อนมาทำโยโย่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนจานหมุนที่ทำจากโลหะ เช่น อะลูมิเนียม, ไททาเนียม เป็นต้น หรือแม้แต่วัสดุสังเคราะห์อย่างพลาสติก ที่นำมาผลิตทั้งจานหมุน และเชือก

ในปี พ.ศ. 2533 ทอม คุนห์ ได้ออกแบบโยโย่ที่มีชื่อว่า เอสบี-ทู-โย-โย่ (SB-2-yo-yo) โดย SB ย่อมาจาก Silver Bullet (ซิลเวอร์ บุลเลต) ซึ่งแปลว่า กระสุนเงิน

ลูกดิ่งดังกล่าวมีตลับลูกปืนทำจากอะลูมิเนียม ให้ประสิทธิภาพดีเยี่ยมสำหรับโยโย่ ทั้งระยะเวลาที่นานหลายนาทีของการหมุน รวมถึงการม้วนตัวกลับของส่วนจานหมุน ถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในแง่การออกแบบโยโย่ จากผลงานการออกแบบดังกล่าวรวมทั้งผลงานอื่นของทอม คุนห์ ทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งโยโย่สมัยใหม่ และรับรางวัล โดนัลด์ เอฟ. ดันแคน แฟมิลี อวอร์ด ฟอร์ อินดัสตรี เอ็กเซลเลนท์ (Donald F. Duncan Family Award for Industry Excellence) ในปี พ.ศ. 2541 โดยเขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

ในช่วงปลายยุค 90 หรือราวก่อนหน้าปี พ.ศ. 2542 เล็กน้อย โยเมกา ร่วมมือกับ เอชพีเค ซึ่งเป็น 2 ผู้ผลิตโยโย่ ทำการตลาดไปทั่วโลกเพื่อเพิ่มยอดขาย มีการรวบรวมนักเล่นโยโย่ฝีมือดีหลายคนจัดเป็นกลุ่มออกเดินทางแสดงการเล่นโยโย่ในหลายประเทศ โดยโยเมกาเองรุกหนักในการสร้างกระแสความนิยมการเล่นโยโย่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมี บันได เป็นผู้รับช่วงการผลิตโยโย่หลากหลายรูปแบบให้กับโยเมกา รวมทั้งแบบที่ไม่มีวางขายในสหรัฐอเมริกา

ในปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542 โยเมกายังร่วมมือกับ แมคโดนัลด์ เพื่อกระจายสินค้าให้มีวางจำหน่ายทั่วสหรัฐอเมริกา