การแข่งขัน ของ โยโย่

การแข่งขันการเล่นโยโย่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การเล่นตามท่าบังคับ และแบบฟรีสไตล์ กรรมการจะเป็นผู้ให้คะแนนทั้ง 2 ส่วน ก่อนจะนำมารวมกันเพื่อหาผู้ชนะที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด

การแข่งขันส่วนของท่าบังคับ ประกอบด้วยท่าต่างๆ ตามแต่ที่กำหนดไว้ในการแข่งขันนั้น ผู้เล่นโยโย่ที่เข้าแข่งขันต้องเล่นท่าดังกล่าวทั้งหมดเพื่อทำคะแนน หากผู้เล่นสามารถแสดงท่าบังคับได้สำเร็จภายในครั้งแรกที่เล่น ก็จะได้คะแนนสูง ในทางกลับกันหากเกิดความผิดพลาดระหว่างเล่นท่าใดก็ตาม ผู้เล่นสามารถทำซ้ำได้เพียงครั้งเดียว หากยังผิดพลาดอีก ก็จะไม่ได้คะแนนในท่านั้นๆ

ส่วนการเล่นแบบฟรีสไตล์ ผู้เล่นสามารถเลือกท่าที่ต้องการได้ตามความต้องการ ในขณะแข่งขัน ผู้เล่นต้องเล่นลูกดิ่งประกอบกับเพลงที่ผู้เล่นเลือกเอง ความยากของท่าต่างๆที่เลือกใช้ ความสวยงามของท่า รวมทั้งความสมบูรณ์ และความต่อเนื่องในการเล่น ล้วนเป็นตัวกำหนดคะแนนที่ผู้เล่นจะทำได้ ในอีกทางหนึ่ง หากเกิดความผิดพลาดระหว่างการเล่น กรรมการจะหักคะแนนออกตามความเหมาะสม

การแข่งขันระดับนานาชาติ

รายการ เดอะ เวิรลด์ โย-โย่ คอนเทสต์ (The World Yo-Yo Contest) เป็นการแข่งขันทั้งแบบเล่นตามท่าบังคับและแบบฟรีสไตล์ที่เชิญผู้ชนะการแข่งขันโย่โย่ในระดับประเทศจากหลายประเทศเข้าร่วมแข่งขัน การแข่งขันรายการนี้จัดขึ้นในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม เป็นประจำทุกปี ที่เมืองออร์ลันโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จัดโดย YoYoGuy.com (โยโย่กาย.คอม) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชื่อดัง ก่อตั้งเพื่อการค้าสำหรับโยโย่โดยเฉพาะ

ชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการแข่งขันรายการนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เล่นลูกดิ่งชาวญี่ปุ่นหลายราย ได้รับรางวัลชนะเลิศและอันดับต้นๆบ่อยครั้ง Shinji Saito ผู้เล่นที่อาจกล่าวได้ว่าเก่งที่สุดในโลก เคยได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 11 ครั้งจากรายการนี้ ก็เป็นชาวญี่ปุ่น

หลายประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วม เดอะ เวิรลด์ โย-โย่ คอนเทสต์ จัดการแข่งขันในระดับภูมิภาคก่อนแข่งรอบชิงระดับประเทศ สาเหตุจากจำนวนผู้สมัครเข้าแข่งขันมีมากเกินกว่าจะจัดแข่งได้ภายในรอบเดียว ประเทศเหล่านั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล, ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้ง เม็กซิโก, ไต้หวัน, สิงคโปร์, ฮ่องกง, เกาหลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, สาธารณรัฐเช็ค, ฮังการี และ ออสเตรเลีย จัดเพียงการแข่งขันระดับประเทศเท่านั้น

รายการ ดิ อินเตอร์เนชันแนล โย-โย่ โอเพน (The International Yo-Yo Open) เป็นรายการแข่งขันโยโย่ทั้งแบบเล่นตามท่าบังคับและแบบฟรีสไตล์ จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม ณ ท่าเรือเซาธ์สตรีท นครนิวยอร์ก โดย YoYoNation.com (โยโย่เนชัน.คอม) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ชื่อดังในวงการโยโย่ริเริ่มการแข่งขันรายการนี้ เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นจำนวนมาก ตัวเลขผู้เข้าชมงานในปีแรกที่จัดมีมากกว่า 8,500 คน รับผู้เข้าแข่งขันจากบุคคลทั่วไป โดยการสมัครผ่านทางหน้าเว็บของ โยโย่เนชัน.คอม

นอกจากนี้ รายการ ดิ อินเตอร์เนชันแนล โย-โย่ โอเพน ยังมีเวทีแข่งขันการเล่นโยโย่ของรัฐนิวยอร์กด้วย ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล รวมทั้งโยโย่พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งจาก โยโย่เนชัน.คอม และผู้สนับสนุนรายอื่น

การแข่งขันโยโย่ เดอะ ทีวี ไทมส์ เวิร์ลด์ โย-โย่ แชมเปียนชิพ (The TV Times world yo-yo championship) เคยจัดในสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2517 โดยจัดรอบคัดเลือกขึ้นทั่วประเทศ ก่อนมีรอบตัดสินชิงชนะเลิศ ณ กรุงลอนดอน ช่วงปี พ.ศ. 2518 รางวัลสำหรับผู้ชนะในครั้งนั้นคือ โยโย่ยี่ห้อ ลูมาร์ (Lumar) จากผู้ผลิตโยโย่บริษัท หลุยส์ มาร์กซ์ ทอย คอมพานี (Louis Marx toy company) การตัดสินหาผู้ชนะในคราวนั้นมีคณะกรรมการประกอบด้วยแขกรับเชิญเป็นผู้มีชื่อเสียงในแต่ละเมืองที่จัดแข่งขัน ร่วมกับนักเล่นโยโย่จากทางลูมาร์ และแชมป์โยโย่ทวีปยุโรปในขณะนั้น ดอน โรเบิร์ตสัน (Don Robertson) โดยผู้ชนะในการแข่งคราวนั้น คือ ไซมอน แฮร์ริส (Simon Harris) หลังจากนั้นก็ยุบการแข่งขันรายการนี้ไป


Asian Pacific Yoyo Championship เป็นการแข่งขันในระดับเอเชีย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบันจัดโดย Spinworkx ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการสาธิตการเล่นโยโย่ของประเทศ สิงคโปร์ซึ่งในทุกปีจะมีผู้เล่นจาก ประเทศต่างๆในเอเชียเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงประเทศไทยด้วย

การจำแนกประเภทสำหรับการแข่งขัน

ในปัจจุบันการแข่งขันโยโย่แบบสากลระดับโลกจะมีการแข่งขันแบบออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆคือ ฟรีสไตล์ และ สปอร์ทแลดเดอร์

ฟรีสไตล์ (Freestyle)

เป็นการแข่งขันที่ผู้เล่นจะต้องแสดงท่าทางต่างๆประกอบกับเพลงซึ่งการแพ้ชนะจะมีการให้คะแนนตัดสินจาก ความยากของท่าเล่น,การเล่นเข้ากับจังหวะเพลงที่เลือกมา และความผิดพลาดของการเล่น โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการเล่นโยโย่ ตั้งแต่4คนขึ้นไป (สูงสุด 6คน)มาเป็นผู้ตัดสิน โดยทั่วไปการแข่งขันรูปแบบฟรีสไตล์จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ รอบคัดเลือก จะใช้เวลา 1 นาที และรอบตัดสินจะใช้เพลงที่มีความยาว3นาที

ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันในรูปแบบฟรีสไตล์ ที่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทดังนี้

1.ซิงเกิ้ล เอ (Single A,1A)

  • จำนวนโยโย่ 1 อัน
  • ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนค้างปลายเชือกได้นาน
  • ท่าการเล่น ในการแข่งขันซึ่งผู้เล่นจะต้องให้ลูกโยโย่อยู่บนเชือกและบังคังให้โยโย่โดดไปมาในทิศทางต่างๆให้ลงบนเชือก ซึ่งโยโย่ที่ใช้กับการเล่นแบบนี้มันจะเก็นโยโย่ทรงปีกผีเสื้อ ทำให้ลูกตกลงบนเชือกทำได้แม่นยำ

2.ดับเบิ้ล เอ (Double A,2A)

  • จำนวนโยโย่ 2 อัน (ผู้เล่นถือโยโย่ 1 อันในแต่มือแต่ละข้าง)
  • ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนกลับสู่มือผู้เล่นได้ดี
  • ท่าการเล่น ลักษณะการเล่นจะเน้นไปทางการควงลูกต่อเนื่องโดยเก็บรับเข้ามือให้น้อยที่สุด ความยากของการเล่นประเภทนี้อยู่ที่ ผู้เล่นมักจะคิดท่าพันเขือกไปตามส่วนต่างๆของร่างกายแล้วก็สามารถรับกลับเข้ามือได้ตามปรกติ ถือว่าเป็นการเล่นที่จะต้องใช้การฝึกฝนมากที่สุด ลูกโยโย่ที่ใช้จะเป็นทรงมาตรฐานและร่องมีลักษณะแคบเพื่อการดึงกลับของโยโย่ที่รวดเร็ว

3.ทริปเปิ้ล เอ (Tripple A,3A)

  • จำนวนโยโย่ 2 อัน (ผู้เล่นถือโยโย่ 1 อันในแต่มือแต่ละข้าง)
  • ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนค้างปลายเชือกได้นาน
  • ท่าการเล่น เป็นการเล่นโยโย่ 2 ลูกแต่แตกต่างกับ 2A ตรงที่จะไม่ได้ใช้การควงลูก แต่เป็นการเล่นให้โยโย่ไต่ไปมาบนเชือกคล้ายกับ 1A ซึ่งการเล่นประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ลูกจะพันกันสูงมาก ผู้เล่นจะต้องใช้ความแม่นยำสูงในการเล่นลักษณะนี้ โยโย่ที่เหมาะกับการเล่นประเภทนี้จะเป็นทรงปีกผีเสื้อจะช่วยให้การเล่นทำได้ง่ายขึ้น

4.ออฟสตริง ดิวิชั่น (Off-String Division,4A)

  • จำนวนโยโย่ 1 อัน
  • ประเภทโยโย่ ไม่ยึดกับเชือก - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านปล่อยอิสระ มักใช้โยโย่ขนาดใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อการคล้องเชือก
  • ท่าการเล่น เป็นการเล่นแนวใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี1999 ซึ่งการเล่นลักษณะนี้ ผู้เล่นจะไม่ผู้โยโย่ติดกับเชือก แต่จะใช้เชือกพันโยโย่แล้วโยนขึ้นและใช้เชือกรับเพื่อคอนโทรลลูก ให้โดดไปในทิศทางต่างๆตามที่ต้องการ ลูกโยโย่ที่ใช้เล่น 4A จะเป็นลูกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโยโย่ธรรมดาและบางรุ่นขอบจะมีส่วนประกอบทีเป็นยางเพื่อรองรับแรงกระแทกเมื่เวลาที่เล่นพลาด โยโย่จะไม่เกิดความเสียหาย

5.เค้าท์เตอร์เวท ดิวิชั่น (Counter weight Division,5A)

  • จำนวนโยโย่ 1 อัน
  • ประเภทโยโย่ มีตุ้มถ่วง - ใช้ตุ้มถ่วงน้ำหนักใกล้เคียงกับโยโย่ยึดปลายเชือกด้านหนึ่ง ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่
  • ท่าการเล่น แนวการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงปี2001 ซึ่งการเล่นลักษณะนี้ ผู้เล่นจะผูกตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ปลายชือก แทนที่จะผู้กไว้ที่นิ้ว และเมื่อปาลูกออกไปผู้เล่นก็จะปล่อยตุ้มถ่วงน้ำหนักและเหวี่ยงไปด้วยในขณะเล่นทำให้เกิดท่าทางแปลกใหม่ขึ้นมาได้อย่างมากมายโดยที่โยโย่ที่เหมาะสมกับการเล่นชนิดนี้ จะเป็นลูกชนิดเดียวกับการเล่นประเภท 1A ก็คือทรงปีกผีเสื้อ

6.เอพี ดิวิชั่น(Artistic Performance,AP)

  • จำนวนโยโย่ ไม่จำกัด
  • ประเภทโยโย่ ไม่จำกัด
  • ท่าการเล่น เน้นการแสดงเชิงศิลปะ สามารถใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือมีผู้ช่วยได้ โดยแสดงทักษะในการเล่นโยโย่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง

7.คอมไบน์ ดิวิชั่น (Combined Division,CB)

  • ผู้เล่นต้องแข่งขัน 3 รอบ อันได้แก่ การเล่นในประเภท Aerial(การเล่นกลางอากาศ) (เลือกระหว่าง 4A หรือ 5A) การเล่นแบบ Double(การเล่นสองมือ) (เลือกระหว่าง 2A หรือ 3A) และการเล่นแบบ Single (1A) ก่อนรวมคะแนนการแข่งทั้ง 3 รอบเพื่อหาผู้ชนะ

สปอร์ทแลดเดอร์(Sport Ladder)

เป็นการแข่งขันเล่นท่าทางต่างๆที่กรรมการกำหนดให้ทั้งหมด 25ท่าในประเภทของ Single A ซึ่งจะไล่ระดับความยากของท่าเล่นขึ้นไป โดยจะมีจุดหรือกรอบพื้นที่ เพื่อสำหรับแสดงท่าเล่นต่อกรรมการ ซึ่งผูเล่นจะต้องเล่นท่าทางที่กรรมการกำหนดให้ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้นไม่สามารถซ้อมท่าได้ หากต้องการจะตรวจสอบลูกหรือเชือกจะต้องออกจากจุดแสดงท่า โดยในการแข่งขัน ผู้เล่นจะต้องเล่นท่าที่กำหนดให้และเก็บเข้ามือให้สมบูรณ์ มีโอกาสพลาดได้เพียง 2ครั้งเท่านั้นตลอดการเล่น 25ท่า หากพลาดครั้งแรกที่ท่าใหนก็จะข้ามท่านั้นๆไป และพลาดครั้งที่สอง ก็จะจบการแข่งขัน ผู้ที่สามารถเล่นท่าได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ถ้ามีผู้ที่สามารถเล่นได้ถึง25ท่า จะวัดกันที่การพลาดครั้งแรกว่าพลาดก่อนในท่าลำดับที่เท่าไหร่ ผู้ที่พลาดในลำดับหลังจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากเล่นได้ครบ25ท่าโดยไม่พลาดหลายคน กรรมการจะมีท่าตัดสินโดยนับจำนวนครั้งในการทำท่า ผู้ที่ทำท่าได้จำนวนครั้งมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ