แนวทางการรักษา ของ โรคพาร์คินสัน

การรักษาทางยา

ยาที่ให้แม้จะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวกลับมาหรืองอกใหม่ทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ยาจะออกฤทธิ์โดยไปเพิ่มโดพามีนในสมองให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แต่การใช้ยาต้องอาศัยความร่วมมือกับคนไข้ในการกินยาอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีการปรับขนาดยาไม่ให้ยามากหรือน้อยเกินไป เพราะยาเหล่านี้มักจะมีผลข้างเคียงหากใช้ในขนาดไม่เหมาะสม รายละเอียดเรื่องการใช้ยาจะได้กล่าวในตอนต่อไป

การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก​เชิงลึก

การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก​เชิงลึก (Deep Transcranial​ Magnetic​ Stimulation​ หรือ DTMS) ได้รับ CE Mark จากสหภาพ​ยุโรป​ ให้รักษาพาร์คินสันได้ โดยผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาสามารถเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นอย่างมาก[9][10] โรงพยาบาลรัฐบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช [11] และโรงพยาบาลทั่วไปหลายแห่งในประเทศไทย[12] มีการรักษาในรูปแบบดังกล่าว

การรักษาทางกายภาพบำบัด

เราต้องการให้ผู้ป่วยสามารถกลับคืนมาสู่การมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงเหมือนเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และมีความสุขทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย การรักษาทางกายภาพบำบัดจะช่วยได้ในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและสมส่วน ท่าเดิน นั่ง การทรงตัว ตลอดจนการออกกายบริหารและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หลังโกง ไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ ปวดขา เป็นต้น

การรักษาโดยการผ่าตัด

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางประสาทศัลยกรรม มีวิธีใหม่ๆอย่างเช่น DBS (Deep Brain Stimulation) เป็นการผ่าตัดแบบใหม่ โดยอาศัยการฝังสายเพื่อกระตุ้นทางไฟฟ้าอย่างอ่อนในสมองส่วนที่เรียกว่า Globus Pallidus หรือ Subthalamic mucleus ส่งผลให้คนไข้ที่เคยมีอาการสั่น ให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิจัยการปลูกถ่ายเซล (Transplantation) โดยผ่าตัดสมองโดยเอาเนื้อเยื่อจากต่อมหมวกไต หรือปมประสาทบริเวณคอไปปลูกเลี้ยงในโพรงสมองเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านี้ สร้างสารเคมีโดพามีนขึ้นมาทดแทนส่วนที่สมองขาดไปได้ ผลดีของการรักษาวิธีนี้ คือ ผู้ป่วยอาจไม่ต้องกินยาหรือลดขนาดยาลงได้ เพราะยาส่วนใหญ่มีราคาแพง ส่วนผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดก็มีมากเช่นกัน นิยมตัดในรายผู้ป่วยที่อายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูง

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคพาร์คินสัน http://www.diseasesdatabase.com/ddb9651.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic304.htm http://www.emedicine.com/neuro/topic635.htm http://www.emedicine.com/pmr/topic99.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=332 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30381371 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK1223/ http://www.ncbi.nlm.nih.gov/entrez/dispomim.cgi?id... http://apps.who.int/classifications/icd10/browse/2... http://apps.who.int/classifications/icd10/browse/2...