โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎病; อังกฤษ: Kawasaki disease) หรือ กลุ่มอาการเยื่อเมือกผิวหนังต่อมน้ำเหลือง[6] (อังกฤษ: Mucocutaneous lymph node syndrome; MCLS, MLNS หรือ MCLNS) เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 5 ปี และมีอาการเด่นคือมีไข้[7] โรคนี้เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดหนึ่ง[1] ผู้ป่วยมักมีไข้มากกว่า 5 วัน โดยไข้มักไม่ลดลงหลังกินยาลดไข้ทั่วๆ ไป[1] อาการอื่นที่พบได้บ่อยคือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ผื่นตามร่างกายและอวัยวะเพศ ตาแดง ปากแดง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดง[1] สามสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการผิวหนังบริเวณมือและเท้ามักลอก และผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้น[1] ผู้ป่วยบางรายจะมีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองตามมาเป็นภาวะแทรกซ้อน[1]แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ แต่เชื่อกันว่ากลไกการเกิดอาการของโรคนี้มาจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากตอบสนองต่อการติดเชื้อบางประเภทในเด็กที่มีพันธุกรรมไวต่อการเกิดโรค โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน[1] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการและอาการแสดง[1] การตรวจพิเศษอื่นๆ อาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยได้ เช่น การตรวจอุลตราซาวนด์หัวใจ การตรวจเลือด เป็นต้น[1] กระบวนการวินิจฉัยจะต้องพิจารณาถึงโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย เช่น ไข้ดำแดง โรคข้ออักเสบในเด็ก เป็นต้น[8]การรักษาโรคคาวาซากิในระยะแรกจะใช้ยาแอสไพรินขนาดสูงควบคู่กับอิมมูโนโกลบูลิน[1] หากได้ผลผู้ป่วยมักหายจากอาการไข้ภายใน 24 ชั่วโมง และฟื้นตัวเป็นปกติ[1] ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะต้องมีการติดตามรักษาและอาจต้องผ่าตัด[1] หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้ 25% และประมาณ 1% จะเสียชีวิต[3][9] ในขณะที่หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอัตราการเสียชีวิตจะลดเหลือ 0.17%[9] รายที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองจะต้องได้รับการตรวจหัวใจต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ[10]โรคคาวาซากิถือเป็นโรคหายาก[1] พบได้ประมาณ 8-67 ต่อ 100,000 ประชากรเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบโรคนี้ประมาณ 124 ต่อ 100,000 ประชากร[5] พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง[1] โรคนี้ได้รับการบรรยายไว้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1967 โดยนายแพทย์โทมิคาสุ คาวาซากิ (ญี่ปุ่น: 川崎 富作 โรมาจิKawasaki Tomisaku) ที่ประเทศญี่ปุ่น[5][11]

โรคคาวาซากิ

อาการ มีไข้ > 5 วัน, ต่อมน้ำเหลืองโต, มีผื่น, เจ็บคอ, ท้องเสีย[1]
สาขาวิชา กุมารเวช
ระยะดำเนินโรค ≈ 3 สัปดาห์[1]
ความชุก 8–124 ต่อ 100,000 ประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปี[5]
สาเหตุ ไม่ทราบ[1]
วิธีวินิจฉัย ขึ้นอยู่กับอาการ, ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง[1]
ยา แอสไพริน, อิมมูโนโกลบูลิน[1]
ภาวะแทรกซ้อน หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง[1]
การเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิต 0.2% (โดยมีการรักษา)[3]
การตั้งต้น อายุ < 5 ปี[1]
ชื่ออื่น Kawasaki syndrome,[1] lymph node syndrome, mucocutaneous lymph node syndrome[2]
โรคอื่นที่คล้ายกัน ไข้ดำแดง, ข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก, กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็กซึ่งเกี่ยวข้องกับ COVID-19[1][4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โรคคาวาซากิ http://www.diseasesdatabase.com/ddb7121.htm http://www.elib-online.com/doctors2/child_kawasaki... http://www.emedicine.com/article/topic965367.htm http://www.icd9data.com/getICD9Code.ashx?icd9=446.... http://reference.medscape.com/calculator/kawasaki-... http://www.merck.com/mmpe/sec19/ch286/ch286d.html http://id.loc.gov/authorities/subjects/sh87004913 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2687814 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7057818 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10392592