ถิ่นที่อยู่อาศัยได้ ของ โลก_(ดาวเคราะห์)

หลุมอุกกาบาตโบราณในแคนาดาซึ่งปัจจุบันมีน้ำอยู่เต็มเห็นได้ชัดบนพื้นโลก

ดาวเคราะห์ที่สามารถค้ำจุนต่อสิ่งมีชีวิตได้ เรียกว่า ดาวเคราะห์อยู่อาศัยได้ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งมีชีวิตจะต้องกำเนิดจากดาวเคราะห์นั้น โลกมีน้ำในรูปของเหลว ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่โมเลกุลสารอินทรีย์ซับซ้อนสามารถรวมตัวกันหรือมีอันตรกิริยาต่อกันได้ และมีพลังงานเพียงพอค้ำจุนเมแทบอลิซึม[187] ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ตลอดจนความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจร อัตราการหมุนรอบตัวเอง ความเอียงของแกนดาว ประวัติศาสตร์ธรณีวิทยา การมีชั้นบรรยากาศคอยค้ำจุน และมีสนามแม่เหล็ก ทั้งหมดล้วนเกื้อหนุนให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่พื้นผิวดังเช่นในปัจจุบัน[188]

ชีวมณฑล

ดูบทความหลักที่: ชีวมณฑล

บ้างมีการกล่าวถึงรูปแบบสิ่งชีวิตต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ว่าประกอบขึ้นเป็น "ชีวมณฑล" เชื่อกันทั่วไปว่าชีวมณฑลของโลกเริ่มวิวัฒน์ขึ้นเมื่อประมาณ 3.5 พันล้านปีก่อน[75] จำแนกได้เป็นชีวนิเวศต่าง ๆ กัน ที่มีพืชและสัตว์ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันกว้าง ๆ อยู่อาศัย ชีวนิเวศบนดินแบ่งตามหลักใหญ่ได้ตามละติจูด ความสูงจากระดับน้ำทะเล และระดับความชื้นต่าง ๆ ส่วนชีวนิเวศบกที่อยู่ในบริเวณอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกเซอร์เคิล, ที่ที่มีระดับความสูงมาก หรือในพื้นที่แล้งสุดขั้ว มีพืชและสัตว์เพียงเล็กน้อย ความหลากหลายของสปีชีส์จะสูงสุดในพื้นที่ลุ่มชื้นบริเวณละติจูดศูนย์สูตร[189]

ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้พื้นที่

ดูบทความหลักที่: ทรัพยากรธรรมชาติ
ประมาณการใช้พื้นที่ของมนุษย์ปี 2000[190]
การใช้พื้นที่ล้านเฮกตาร์
เพาะปลูก1,510–1,611
ทุ่งหญ้า2,500–3,410
ป่าธรรมชาติ3,143–3,871
ป่าปลูก126–215
พื้นที่เมือง66–351
ที่ดินก่อประโยชน์ได้แต่ไม่ใช้356–445

โลกมีทรัพยากรหลากหลายซึ่งมนุษย์แสวงหาประโยชน์ ทรัพยากรที่เรียก ทรัพยากรไม่หมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ จะมีทดแทนตามเวลาทางธรณีวิทยาเท่านั้น

เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ปริมาณมากที่ถูกกักเก็บสามารถขุดเจาะได้จากเปลือกโลก ประกอบด้วยถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ทั้งเพื่อการผลิดพลังงานและเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี เนื้อสินแร่จำนวนมากยังก่อตัวขึ้นภายในเปลือกโลกผ่านกระบวนการกำเนิดแร่ อันเป็นผลจากการปะทุของหินหลอมเหลว การกัดเซาะ และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค[191] วัตถุเหล่านี้เป็นแหล่งเนื้อแร่ของโลหะหลายชนิดตลอดจนธาตุมีประโยชน์อื่น

ชีวภาคของโลกก่อกำเนิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ประกอบด้วยอาหาร ไม้ ยารักษาโรค ออกซิเจน และช่วยรีไซเคิลของเสียอินทรีย์จำนวนมาก ระบบนิเวศบนบกต้องอาศัยหน้าดินและน้ำจืด ในขณะที่ระบบนิเวศมหาสมุทรต้องอาศัยสารอาหารที่ละลายในน้ำซึ่งถูกชะมาจากแผ่นดิน[192] ในปี 1980 พื้นดินของโลก 5,053 ล้านเฮกตาร์ (50.53 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ป่าและต้นไม้ 6,788 ล้านเฮกตาร์ (67.88 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นทุ่งหญ้าและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และ 1,501 ล้านเฮกตาร์ (15.01 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูก[193] จำนวนพื้นที่ชลประทานโดยประมาณในปี 1993 อยู่ที่ 2,481,250 ตารางกิโลเมตร (958,020 ตารางไมล์)[14] มนุษย์ยังดำรงชีวิตบนพื้นดินโดยใช้วัสดุก่อสร้างขนิดต่าง ๆ ก่อสร้างที่พักอยู่อาศัย

อันตรายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาพภูเขาไฟพาฟลอฟในอะแลสกาพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่บรรยากาศ ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ

พื้นที่บริเวณกว้างบนพื้นผิวโลกเผชิญสภาพอากาศร้ายแรง เช่น พายุหมุนเขตร้อน เฮอริเคน หรือไต้ฝุ่นซึ่งครอบงำสิ่งมีชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น ระหว่างปี 1980 ถึง 2000 ภัยธรรมชาติดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 11,800 รายต่อปี[194] ในหลายที่ยังต้องประสบกับแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ทอร์นาโด หลุมยุบ พายุหิมะ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และหายนะภัยหรือพิบัติภัยอื่น ๆ

พื้นที่ท้องถิ่นหลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศอันมีสาเหตุจากมนุษย์ ฝนกรดและสารพิษนานาชนิด การเสียพื้นที่สีเขียว (การทำปศุสัตว์มากเกินไป การทำลายป่า การเกิดทะเลทราย) การสูญเสียสัตว์ป่า การสูญพันธุ์ของสปีชีส์ ดินเสื่อมคุณภาพ ดินถูกทำลายและการกัดเซาะ

มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกิจกรรมของมนุษย์กับปรากฏการณ์โลกร้อนอันเนื่องมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การคาดคะเนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การละลายของธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง พิสัยอุณหภูมิที่รุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของลมฟ้าอากาศและการเพิ่มของระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลก[195]

ภูมิศาสตร์มนุษย์

ดูบทความหลักที่: ภูมิศาสตร์มนุษย์ และ โลก
ทวีปทั้งเจ็ดของโลก[196]ภาพประกอบรวมได้จากข้อมูลการเรืองแสงภาคพื้นดินของ ดีเอ็มเอสพี/โอแอลเอส ปี 2000 แสดงภาพจำลองยามค่ำคืนของโลก

วิชาการเขียนแผนที่ซึ่งทำการศึกษาและสร้างแผนที่ในเชิงปฏิบัติ วิชาภูมิศาสตร์ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ ภูมิประเทศ ผู้อยู่อาศัย และปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนโลก ล้วนมีประวัติศาสตร์อันแข็งขันที่อุทิศแก่การพรรณนาโลก วิศวกรรมสำรวจซึ่งทำการกำหนดที่ตั้งและระยะทาง ตลอดจนขอบเขตอีกบางส่วนจากการเดินเรืออันต้องกำหนดตำแหน่งและทิศทาง ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นร่วมไปกับวิชาการเขียนแผนที่และภูมิศาสตร์ ทั้งหมดนั้นได้อำนวยและให้ปริมาณข้อสนเทศที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม

จำนวนประชากรมนุษย์บนโลกได้เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดพันล้านคนโดยประมาณในวันที่ 31 ตุลาคม 2011[197] ผลการคาดคะเนชี้ว่าประชากรมนุษย์บนโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.2 พันล้านคนในปี 2050[198] จำนวนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นคาดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ผันแปรมากทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่อาศัยในทวีปเอเชีย เมื่อถึงปี 2020 คาดว่าราวร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมืองมากกว่าในพื้นที่แถบชนบท[199]

ประมาณกันว่าพื้นที่หนึ่งในแปดของผิวโลกเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ โดยที่พื้นที่ราวสามในสี่ของผิวโลกถปกคลุมด้วยมหาสมุทร มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่เป็นแผ่นดินกว่าครึ่งของแผ่นดินเป็นพื้นที่แห้งแล้ง (ร้อยละ 14)[200] ภูเขาสูง (ร้อยละ 27)[201] หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ นิคมถาวรเหนือสุดของโลก คือ เมืองอเลิร์ท บนเกาะเอลสเมียร์ ในนูนาวุต ประเทศแคนาดา[202] (82°28′เหนือ) ส่วนตำแหน่งใต้สุดคือ สถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซน–สก็อตในทวีปแอนตาร์กติกา โดยมีที่ตั้งเกือบตำแหน่งเดียวกันกับขั้วโลกใต้ (90°ใต้)

รัฐเอกราชอ้างสิทธิ์เหนือพื้นผิวดินทั้งหมดของโลกยกเว้นเพียงบางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกา แปลงที่ดินเล็ก ๆ ตามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดานูบ และพื้นที่ไม่มีการอ้างสิทธิ์บริเวณบีทาวิลซึ่งอยู่ระหว่างประเทศอียิปต์และซูดาน ในปี 2015 โลกมีรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 193 รัฐ บวกรัฐผู้สังเกตการณ์ 2 รัฐ และดินแดนในภาวะพึ่งพิงและรัฐที่ได้รับการรับรองจำกัด 72 ดินแดนและรัฐ[14] ในประวัติศาสตร์โลกยังไม่เคยมีรัฐบาลเอกราชใดมีอำนาจเหนือโลกทั้งใบ บางรัฐชาติจำนวนหนึ่งที่เคยพยายามครองโลกแต่ล้มเหลว[203]

สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าแทรกแซงกรณีพิพาทระหว่างชาติรัฐต่าง ๆ จึงหลีกเลี่ยงการขัดกันด้วยอาวุธ[204] สหประชาชาติใช้เป็นที่สำหรับการทูตระหว่างประเทศตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก ต่อเมื่อมีฉันทามติจากชาติสมาชิกอนุญาตแล้วจึงมีกลไกเข้าแทรกแซงด้วยกำลังได้[205]

มนุษย์คนแรกที่ได้โคจรรอบโลกคือ ยูริ กาการิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961[206] หากนับรวมทั้งหมดจนถึง 30 กรกฎาคม 2010 มีมนุษย์ทั้งสิ้นราว 487 คนเคยเยือนอวกาศและในจำนวนนี้ สิบสองคนเคยเดินบนดวงจันทร์[207][208][209] ปกติมนุษย์ในอวกาศมีเฉพาะที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเท่านั้น ลูกเรือของสถานีมีจำนวนทั้งสิ้นหกคนซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติภารกิจทุกหกเดือน[210] ระยะทางที่ไกลที่สุดที่มนุษย์เคยเดินทางออกไปจากโลกคือ 400,171 กิโลเมตร โดยเกิดขึ้นในระหว่างภารกิจ อะพอลโล 13 ในปี 1970[211]

ใกล้เคียง

โลก (ดาวเคราะห์) โลกิ (ฤดูกาล 2) โลกิ (ละครชุด) โล่ (มุทราศาสตร์) โลกิ (ฤดูกาล 1) โลกิ (จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล) โลกของนินจาคาถาโอ้โฮเฮะ โก (โปเกมอน) โลกนี้ โลกหน้า ข้าก็เป็นพระเจ้า โลกตะวันตก

แหล่งที่มา

WikiPedia: โลก_(ดาวเคราะห์) http://www.astronautix.com/articles/aststics.htm http://www.astronomycast.com/stars/episode-51-eart... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/559627/s... http://cseligman.com/text/planets/innerstructure.h... http://news.discovery.com/space/moon-earth-formati... http://apnews.excite.com/article/20131113/DAA1VSC0... http://apnews.excite.com/article/20151019/us-sci--... http://books.google.com/?id=w8PK2XFLLH8C&pg=PA244 http://books.google.com/?id=w8PK2XFLLH8C&pg=PA294 http://books.google.com/?id=w8PK2XFLLH8C&pg=PA296