ไดโงฮนซง
ไดโงฮนซง

ไดโงฮนซง

ไดโงฮนซง (ญี่ปุ่น: 大御本尊 ทับศัพท์Dai Gohonzon) เป็นสิ่งสักการบูชาสูงสุดของศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็นโชชู คำว่า "ได" (大) แปลว่า "ยิ่งใหญ่, สูงสุด" ส่วน "โกฮนซง" (御本尊) หมายถึง สิ่งสักการะ คำว่า "ไดโงฮนซง" จึงแปลว่า "สิ่งสักการะสูงสุด"ไดโงฮนซงมีลักษณะเป็นรูปมัณฑละ (มณฑล) จารึกภาษาจีนและภาษาสันสกฤต ซึ่งทำจากไม้การบูร โดยหลักแล้วมัณฑละดังกล่าวประกอบด้วยนามของพุทธะ พระโพธิสัตว์ เทพในพุทธศาสนา และคุรุอาจารย์ต่าง ๆ ในศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก รายล้อมรอบอักษรคันจิ (อักษรจีน) ที่อยู่ศูนย์กลางมัณฑละ ซึ่งจารึกเป็นคาถาว่า "นัมเมียวโฮเร็งเงเกียวนิจิเร็ง" [1] ตามประวัติกล่าวว่าไดโงฮนซงถูกจารึกขึ้นโดยพระนิจิเร็ง (หรือ "นิจิเร็นไดโชนิง" ในหมู่สานุศิษย์แห่งนิกายนิจิเร็นโชชู) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1279 เป็นการจำลองธรรมสภาในห้วงอวกาศขณะที่พระโคตมพุทธเจ้า (ฝ่ายมหายานนิยมเรียกว่า "พระศากยมุนีพุทธะ") แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ปัจจุบันไดโงฮนซงประดิษฐานอยู่ ณ โฮอันโดะ วัดไทเซกิจิ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นศูนย์กลางใหญ่ของศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็นโชชูสานุศิษย์แห่งนิกายนิจิเร็นโชชูถือว่าไดโงฮนซงคือการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคลและธรรม และคือจุดมุ่งหมายในการมาเกิดของพระนิจิเร็นไดโชนิง