กลยุทธ์ชนะศึก ของ 36_กลยุทธ์ในสามก๊ก

กลยุทธ์ที่ 1 ปิดฟ้าข้ามทะเล

กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล หรือ หมานเทียนกว้อไห่ (อังกฤษ: Deceive the heavens to cross the ocean; จีนตัวย่อ: 瞒天过海; จีนตัวเต็ม: 瞞天過海; พินอิน: Mán tiān guò hǎi) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่คิดหรือมองข้ามสิ่งใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าตนเองนั้นได้ตระเตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว ก็มักจะมีความประมาทมองข้ามศัตรูไปอย่างง่ายดาย พบเห็นสิ่งใดที่มองเห็นเสมอในยามปกติ ก็ไม่เกิดความติดใจสงสัยในสิ่งนั้น เกิดความชะล่าใจในตนเอง การบุกเข้าโจมตีศัตรูโดยที่ศัตรูไม่รู้ตัวนับว่าเป็นการได้ชัยชนะมาแล้วครึ่งหนึ่ง สามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย การปกปิดอำพรางซ่อนเร้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำศึกสงคราม ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลไปใช้ได้แก่ลิบองที่ลอบบุกเข้าโจมตีเกงจิ๋วโดยที่กวนอูไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย[4]

กลยุทธ์ที่ 2 ล้อมเวยช่วยจ้าว

กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว หรือ เหวยเวยจิ้วจ้าว (อังกฤษ: Besiege Wèi to rescue Zhào; จีนตัวย่อ: 围魏救赵; จีนตัวเต็ม: 圍魏救趙; พินอิน: Wéi Wèi jiù Zhào) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูรวบรวมกำลังทหารและไพร่พลไว้เป็นจุดศูนย์กลางของกองทัพ ทำให้มีกำลังและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ควรที่จะใช้กลยุทธ์ในการดึงแยกศัตรูให้แตกออกจากกัน เพื่อให้กำลังไพร่พลทหารกระจัดกระจาย คอยเฝ้าระวังและมีความห่วงหน้าพะวงหลังในการทำศึกสงครามแล้วจึงบุกเข้าโจมตี ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล้อมเวยจิ้วจ้าวไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกให้โจโฉนำทัพไปทำศึกสงครามกับซุนกวน และนำทัพบุกเข้ายึดฮันต๋งจากโจโฉมาเป็นของตนได้สำเร็จ[5]

กลยุทธ์ที่ 3 ยืมดาบฆ่าคน

กลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคน หรือ เจี้ยเตาซาเหริน (อังกฤษ: Kill with a borrowed knife; จีนตัวย่อ: 借刀杀人; จีนตัวเต็ม: 借刀殺人; พินอิน: Jiè dāo shā rén) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการกำจัดศัตรูที่มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในศึกสงคราม ไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือจัดการด้วยตนเอง พึงยืมกำลังและไพร่พลทหารของผู้อื่นเป็นฝ่ายกำจัดศัตรูโดยไม่ต้องออกแรง เพื่อเป็นการรักษากำลังและไพร่พลทหารของตนเองไว้สำหรับการศึกอื่น ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมดาบฆ่าคนไปใช้ได้แก่จิวยี่ที่หลอกให้โจโฉฆ่าซัวมอและเตียวอุ๋น แม่ทัพเรือของตนเองในคราวศึกเซ็กเพ็ก ระหว่างเล่าปี่และซุนกวนจนโจโฉถูกเผาเรือพ่ายแพ้ย่อยยับ[6]

กลยุทธ์ที่ 4 รอซ้ำยามเปลี้ย

กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย หรือ อี่อี้ไต้เหลา (อังกฤษ: Substitute leisure for labour; จีนตัวย่อ: 以逸待劳; จีนตัวเต็ม: 以逸待勞; พินอิน: Yǐ yì dài láo) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังคงมีความเข้มแข็ง กำลังไพร่พลทหารยังคงแข็งแกร่งยากจะต่อสู้ก็ไม่ควรจะเข้าปะทะโดยตรงด้วยกำลังที่มีอยู่ แต่ยามใดที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอในกองทัพเมื่อใด ต้องรีบฉวยโอกาสบุกเข้าโจมตีโดยเร็ว เพื่อเป็นการข่มขวัญและป้องกันไม่ให้ศัตรูกลับมาแข็งแกร่งดั้งเดิม กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเป็นการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้ระยะเวลาเป็นการบั่นทอนกำลังและจิตใจของศัตรู ฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์จากเดิมที่กลายเป็นรองหรือเสียเปรียบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในสามก๊กยามเกิดศึกสงคราม กองทัพทุกกองทัพต่างใช้กลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยเพื่อหาโอกาสเหมาะในการบุกเข้าโจมตีศัตรูยามเพลี่ยงพล้ำอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ยไปใช้ได้แก่ลกซุนที่แนะนำซุนกวนให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนนำกำลังทหารไปตีลกเอี๋ยง[7]

กลยุทธ์ที่ 5 ตีชิงตามไฟ

กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ หรือ เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย (อังกฤษ: Loot a burning house; จีน: 趁火打劫; พินอิน: Chèn huǒ dǎ jié) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและย่ำแย่ ควรรีบฉกฉวยโอกาสนำทัพเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ หรือมอบหมายให้แม่ทัพหรือทหารที่มีความเข้มแข็งนำทัพเข้าโจมตี ซึ่งเป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและยุ่งเหยิง นำความดีความชอบมาเป็นของตน ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีชิงตามไฟไปใช้ได้แก่ตั๋งโต๊ะที่ฉกฉวยโอกาสยึดเอาเมืองหลวงและราชสำนักของพระเจ้าหองจูเหียบมาเป็นของตน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าหองจูเปียน[8]

กลยุทธ์ที่ 6 ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม

กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือ เซิงตงจีซี (อังกฤษ: Make a sound in the east, then strike in the west; จีนตัวย่อ: 声东击西; จีนตัวเต็ม: 聲東擊西; พินอิน: Shēng dōng jí xī) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการโจมตีศัตรู จะต้องเตรียมการและบุกโจมตีในจุดที่ศัตรูต่างคาดไม่ถึงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูวางแนวการตั้งรับได้ถูก โดยหลอกล่อศัตรูให้เกิดการหลงทิศกับการบุกโจมตีและนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังผิดตำแหน่ง เกิดการหละหลวมต่อกำลังทหารและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกล่อเฮ็กเจียวให้เกิดความสับสนและหลงทิศในการนำกำลังทหารเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตีด่านตันฉองของจูกัดเหลียงและทหารจ๊กก๊ก[9]