งานศิลปะ ของ การข่มขืนสตรีชาวซาบีน

“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย นิโคลาส์ ปูแซน ค.ศ. 1634-1635 (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน)“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย นิโคลาส์ ปูแซน ค.ศ. 1637–1638 (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์)

ในยุคเรอเนสซองซ์หัวเรื่องนี้เป็นที่นิยมกันในการใช้สร้างงานศิลปะเพราะเป็นเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการสมรสเพื่อการดำรงความต่อเนื่องของตระกูลและวัฒนธรรม และมักจะเป็นภาพที่มักจะวาดบนหีบคัสโซเน (Cassone) ซึ่งเป็นหีบของมีค่าของผู้มีฐานะที่มักจะมอบให้เป็นของขวัญแก่เจ้าสาวในยุคกลาง ตัวอย่างงานชิ้นสำคัญ ๆ ของหัวเรื่องนี้ก็ได้แก่งานของ:

จามโบโลนยา

ประติมากรรม “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย จามโบโลนยา (Giambologna) ประกอบด้วยบุคคลสามคนเป็นชายยกสตรีลอยขึ้นและชายอีกคนหนึ่งหมอบอยู่ข้างล่าง เป็นงานที่แกะจากหินอ่อนชิ้นเดียว และถือว่าเป็นงานชิ้นเอกของจามโบโลนยา[2] จุดประสงค์ของการสร้างงานครั้งแรกก็เพื่อเป็นการแสดงความสามารถของประติมากรในการสร้างงานที่ซับซ้อนของการแกะกลุ่มคน หลังจากนั้นฟรานเชสโคที่ 1 เดอ เมดิชิก็ประกาศให้นำประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งแสดงที่ลอจเจียเดอิลันซิ (Loggia dei Lanzi) ที่จตุรัสเดลลาซินยอเรีย (Piazza della Signoria) ในฟลอเรนซ์ ลักษณะของประติมากรรมเป็นแบบแมนเนอริสม์แท้ที่เป็นประติมกรรมของกลุ่มคนที่แน่นและเกี่ยวพันกันที่แสดงสื่ออารมณ์หลายอารมณ์อันรุนแรง การวางรูปก็สามารถมองได้จากหลายมุมมอง เมื่อเทียบกับกับความรู้สึกสงบที่กำจายมาจากประติมากรรมเดวิดโดยไมเคิล แอนเจโลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนักที่แกะเสร็จเกือบ 80 ปีก่อนหน้านั้น งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยไดนามิคของความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มไปทางศิลปะบาโรก แต่ถูกรัดอยู่ในกรอบทางดิ่งที่แคบและแน่น เพราะความจำกัดด้วยขนาดของหินที่แกะที่เป็นก้อนเดียวโดด ๆ ขาดการกระจายตามแนวนอนที่จานโลเรนโซ แบร์นินีสามารถทำได้ในงานประติมากรรม “การข่มขืนพรอสเซอร์พินา” และ “อพอลโลและดาฟนี” (Apollo and Daphne) ที่แกะสี่สิบปีต่อมา (งานทั้งสองชิ้นนี้ตั้งแสดงอยู่ที่ หอศิลป์บอร์เกเซ ในกรุงโรม)

ก่อนที่จะแกะสลักก็เสนอกันว่าจะเป็นรูปที่ตั้งตรงข้ามกับประติมากรรมรูปเพอร์ซิอุสโดยเบ็นเวนุโต เชลลินิ (Benvenuto Cellini) จึงทำให้เสนอกันว่าน่าจะแกะเป็นรูปที่มีหัวเรื่องที่คล้องจองกับภาพที่ตั้งอยู่แล้ว เช่นอาจจะเป็นรูปการข่มขืนของอันโดรเมดาโดยฟิเนอุส นอกจากนั้นก็ยังมีการแนะนำหัวเรื่องการข่มขืนของพรอสเซอร์พินา (Proserpina) หรือของเฮเลน แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้เป็นสตรีซาบีน

งานแกะสลักลงชื่อว่า “OPVS IOANNIS BOLONII FLANDRI MDLXXXII” (“งานโดยโยฮันน์ส แห่งบูลอยน์แห่งฟลานเดอร์ส, 1582”) งานที่สร้างเตรียมก่อนแกะเป็นงานสำริดที่ประกอบด้วยตัวแบบเพียงสองตัวที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งคาโปดิมอนเตที่เนเปิลส์ จามโบโลนยาเปลี่ยนจากงานร่างมาเป็นสามตัวแบบในงานขี้ผึ้งที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ตในกรุงลอนดอน งานแกะจริงทำในปี ค.ศ. 1582 และตั้งแสดงอยู่ที่สถาบันแห่งศิลปะแห่งการออกแบบ (Accademia dell'Arte del Disegno) ในฟลอเรนซ์

งานจำลองย่อส่วนที่ทำด้วยสำริดที่ทำโดยห้องแกะสลักของจามโบโลนยาเองที่ได้รับการเลียนแบบโดยผู้อื่นเป็นงานที่นักสะสมศิลปะนิยมสะสมกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

นิโคลาส์ ปูแซน

นิโคลาส์ ปูแซนสร้างงานในหัวข้อนี้สองภาพซึ่งเป็นการทำให้ทราบถึงความรู้และความสามารถของปูแซนในการเขียนหัวเรื่องคลาสสิกที่ไม่มีใครเทียมได้ และเป็นภาพที่แสดงความซับซ้อนในการผูกความสัมพันธ์อันซับซ้อนของตัวแบบภายในภาพที่มีจำนวนมากมาย ภาพแรกที่เขียนตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตันในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นภาพที่เขียนที่โรมระหว่างปี ค.ศ. 1634 ถึงปี ค.ศ. 1635 ในภาพรอมิวลุสยืนอยู่ทางซ้ายของภาพให้สัญญาณในการลักพาสตรีชาวซาบีน

และอีกภาพหนึ่งเขียนระหว่างปี ค.ศ. 1637 ถึงปี ค.ศ. 1638 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพแรกแต่เพิ่มรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมเข้าไปมากกว่าภาพแรก

ปีเตอร์ พอล รูเบนส์

“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เขียนราวปี ค.ศ. 1635ถึงปี ค.ศ. 1640 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน)

ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด

“การขัดขวางความขัดแย้งโดยสตรีชาวซาบีน”

ฌาคส์-ลุยส์ ดาวิดเขียนหัวเรื่องนี้จากเนื้อเรื่องต่อมาเมื่อสตรีชาวซาบีนพยายามยุติสงครามระหว่างซาบีนกับโรม เป็นงานที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1799 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

ดาวิดเริ่มเขียนงานชิ้นนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1796 ขณะที่ฝรั่งเศสมีสงครามกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปหลังจากสมัยที่มีความขัดแย้งที่นำไปสู่ยุคแห่งความเหี้ยมโหด ที่นำไปสู่การโต้ตอบเดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวิดถูกจำคุกในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนมักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ หลังจากที่ภรรยาที่ไม่ลงรอยกับดาวิดมาเยี่ยมในคุกดาวิดก็เกิดความคิดที่จะเขียนภาพบรรยายเหตุการณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาที่หัวใจของเรื่องคือความรักที่มีอานุภาพเหนือความขัดแย้ง นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาพที่สื่อความหมายในการร้องขอให้ประชาชนโดยทั่วไปหยุดยั้งการนองเลือดจากการปฏิวัติ

ภาพเขียนเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากการลักพาเมื่อเฮอร์ซิเลียภรรยาของรอมิวลุส — บุตรสาวของไททัส ทาเทียส (Titus Tatius) ผู้นำของชาวซาบีน — วิ่งฝ่าเข้าไประหว่างสามีและพ่อโดยเอาลูกวางไว้ตรงกลางระหว่างคนทั้งสอง รอมิวลุสพร้อมที่จะพุ่งหอกเข้าใส่ไททัสผู้กำลังถอยแต่ชะงักไว้ได้ ขณะที่ทหารคนอื่นก็เอาดาบใส่ฝักกันแล้ว

ผาหินที่ยื่นออกมาในฉากหลังคือผาทาเปเอีย (Tarpeian Rock) ในกรุงโรม ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงความขัดแย้งโดยที่ชาวโรมันจะโยนผู้มีโทษในการกบฏลงมาจากผา ตามตำนานแล้วเมื่อไททัสโจมตีโรม ไททัสก็เกือบจะยึดเมืองได้เพราะความทรยศของพรหมจารีเวสตา (Vestal Virgin) ทาเปเอียลูกสาวของสปิวเรียส ทาร์เปเอียส (Spurius Tarpeius) ผู้ครองเนินคาปิโตลิเน ทาเปเอียเปิดประตูเมืองให้ชาวซาบีนเป็นการแลกเปลี่ยนกับ “สิ่งที่อยู่บนแขน” ของชาวซาบีน ทาเปเอียเชื่อว่าจะได้รับกำไลทองแต่กลับถูกชาวซาบีนเบียดด้วยโล่จนเสียชีวิต ร่างของทาเปเอียถูกโยนลงมาจากผาซึ่งทำให้หน้าผาได้รับนาม “ทาเปเอีย”

จอห์น ลีช

งานล้อเลียน “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” ของ จอห์น ลีช

ในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรล้อเลียนจอห์น ลีช (John Leech) เขียนภาพ “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” เป็นหนึ่งในชุด “ประวัติศาสตร์ชวนขันของโรม” (Comic History of Rome) ที่สตรีชาวซาบีนในภาพเป็นสตรีในเครื่องแต่งกายสมัยวิคตอเรียถูกอุ้มไปจาก “Corona et Ancora” (“มงกุฏกับสมอ” ซึ่งเป็นชื่อผับ (pub) ที่นิยมกันในเมืองที่เป็นเมืองของนักเดินเรือทะเล)

ปาโบล ปีกัสโซ

ปาโบล ปีกัสโซ เขียนภาพนี้หลายภาพระหว่างปี ค.ศ. 1962 ถึงปี ค.ศ. 1963 ที่ภาพหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ในบอสตันซึ่งเป็นภาพที่เขียนจากภาพของดาวิด ที่ปิกัสโซเขียนภาพรอมิวลุสและไททัสไม่สนใจกับการร้องของเฮอร์ซิเลียและเดินเหยียบย่ำร่างของเฮอร์ซิเลียและลูก[3]

ใกล้เคียง

การข่มขืนกระทำชำเรา การข่มขืนสตรีชาวซาบีน การข่มเหงรังแก การข่มขืนกระทำชำเราแฟน การข่มขืนที่นานกิง การข่มขู่ การข่มข้ามคู่ การข่มเหงรังแกในโรงเรียน การข่มขืนพรอสเซอร์พินา การแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด