เบื้องหลัง ของ การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต

การจัดวางกำลังพลของกองทัพโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองกำลังโปแลนด์ส่วนใหญ่ถูกจัดวางติดกับชายแดนเยอรมัน ขณะที่ชายแดนที่ติดกับโซเวียตส่วนใหญ่จะถูกถอนกำลังออกมา

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านเยอรมนีกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเจรจาต่าง ๆ ประสบกับความยากลำบาก สหภาพโซเวียตยืนยันในเขตอิทธิพลของตนลากจากฟินแลนด์ไปจนถึงโรมาเนีย และต้องการความช่วยเหลือทางทหารนอกจากประเทศที่ถูกโจมตีโดยตรงแล้ว แต่ยังรวมถึงทุกประเทศที่โจมตีประเทศในเขตอิทธิพลนี้ด้วย[16] นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเจรจากับฝรั่งเศสและอังกฤษ ความต้องการของสหภาพโซเวียตในการยึดครองรัฐบอลติก (ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย) ก็ได้ปรากฏให้เห็นออกมาอย่างชัดเจนแล้ว[17] นอกจากนี้ ฟินแลนด์ ยังถูกรวมไปอยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียตเช่นเดียวกัน[18] และท้ายที่สุด สหภาพโซเวียตยังได้ต้องการสิทธิที่จะส่งกองทัพเข้าไปยังโปแลนด์ โรมาเนีย และรัฐบอลติก เมื่อสหภาพโซเวียตรู้สึกว่าความมั่นคงของตนถูกคุกคาม ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ปฏิเสธข้อเสนอนั้น ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ โจเซฟ เบค ได้ชี้แจงว่า เมื่อสหภาพโซเวียตส่งทหารเข้ามาในดินแดนของตนแล้ว ทหารเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกเรียกกลับประเทศของตนอีกเลยก็เป็นได้[7] สหภาพโซเวียตไม่ไว้วางใจในความมั่นคงร่วมกันอย่างมีเกียรติของอังกฤษและฝรั่งเศส นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศประสบความล้มเหลวที่จะป้องกันชัยชนะของฟาสซิสต์ ใน สงครามกลางเมืองสเปน หรือป้องกันเชโกสโลวาเกียจากนาซีเยอรมนีนอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังสงสัยว่าฝ่ายพันธมิตรตะวันตกอาจต้องการให้สหภาพโซเวียตรบกับเยอรมนีอย่างโดดเดี่ยว ขณะที่พวกตนคอยเฝ้ามองอยู่โดยไม่ช่วยเหลืออะไร[19] และด้วยความกังวลดังกล่าว สหภาพโซเวียตจึงหันไปเจรจากับเยอรมนีแทน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตได้ลงนามในกติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ กับนาซีเยอรมนี ซึ่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรประหลาดใจมาก รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ประกาศว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างกัน แต่ในข้อตกลงลับของสนธิสัญญานั้น เป็นการตกลงแบ่งโปแลนด์ และยุโรปตะวันออกให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต กติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำสงคราม และเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของฮิตเลอร์ในการบุกครองโปแลนด์[7][20]

การแบ่งยุโรปตะวันออก ซึ่งได้รับการตกลงไว้ในกติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป แต่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในภายหลัง

สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเพิ่มพื้นที่ป้องกันเพิ่มเติมทางด้านตะวันตก[21] นอกจากนั้น ยังได้เป็นการเพิ่มเติมดินแดน ซึ่งเคยถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์เมื่อยี่สิบปีก่อนคืน และเป็นการรวมประชากรชาวยูเครนตะวันตก ชาวยูเครนตะวันออกและชาวเบลารุสเข้าด้วยกันภายใต้รัฐบาลโซเวียต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชากรดังกล่าวนี้อาศัยอยู่ภายในรัฐเดียวกัน[22] ผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน มองเห็นประโยชน์จากการทำสงครามในยุโรปตะวันตก ซึ่งอาจเป็นการบั่นทอนกำลังของศัตรูทางอุดมการณ์ของเขา และเป็นการขยายดินแดนใหม่ต่อการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์[23]

ไม่นานหลังจากการบุกครองโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ผู้นำนาซีได้กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตได้ปฏิบัติตามข้อตกลง และโจมตีโปแลนด์จากทางตะวันออก เอกอัครทูตเยอรมนีแห่งกรุงมอสโก เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แลกเปลี่ยนการเจรจาทางการทูตในประเด็นดังกล่าว[9]

เมื่อนั้นโมโลตอฟได้ใช้สถานการณ์ทางการเมืองกับสถานการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่า รัฐบาลโซเวียตได้มีความตั้งใจที่จะถือเอาโอกาสที่กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปมากขึ้น เพื่อที่จะประกาศว่าโปแลนด์กำลังล่มสลาย และเป็นความจำเป็นของสหภาพโซเวียตที่จะให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนและชาวรัสเซียขาว ซึ่งถูกคุกคามโดยเยอรมนี การอ้างเหตุผลนี้เป็นการเข้าแทรกแซงของสหภาพโซเวียต ซึ่งสามารถแก้ตัวต่อหน้ามวลชนจำวนมาก และเป็นการล้างภาพลักษณ์ของผู้บุกครองอีกด้วย—  เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก เอกอัครทูตเยอรมันแห่งกรุงมอสโก ส่งโทรเลขมายังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี 10 กันยายน 1939 [24]

สาเหตุที่สหภาพโซเวียตชะลอการเข้าสู่สงครามของตนมีหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งเนื่องจากกองทัพของตนกำลังอยู่ระหว่างข้อพิพาทตามแนวชายแดนกับญี่ปุ่น ทำให้สหภาพโซเวียตต้องใช้เวลาระดมพลเข้าสู่กองทัพแดง และเห็นข้อได้เปรียบทางการทูตในการรอจนกว่าโปแลนด์จะพ่ายแพ้ ก่อนที่กองทัพของตนจะเคลื่อนทัพ[25][26] เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 โมโลตอฟประกาศทางวิทยุว่า สนธิสัญญาทุกฉบับระหว่างสหภาพโซเวียตกับโปแลนด์ทั้งหมดเป็นโมฆะ เนื่องจากถือว่ารัฐบาลโปแลนด์ได้ละทิ้งประชาชนของตน และนับเป็นความสิ้นสุดของความเป็นรัฐ นอกเหนือจากนั้น ฝ่ายโซเวียตอาจประเมินว่าฝรั่งเศสและอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ตามสัญญา และส่งกองกำลังโพ้นทะเลภายในสองสัปดาห์ผ่านทางโรมาเนีย วันที่แน่นอนของการบุกครองจะต้องคำนวณโดยวันที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี บวกด้วย 14 วัน ซึ่งเป็นวันที่ 17 กันยายน 1939 และเมื่อตนยังไม่เห็นการเข้าช่วยเหลือของกองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษมาถึงโรมาเนียเลย สหภาพโซเวียตจึงตัดสินใจที่จะโจมตี

สตาลินไม่ปรารถนาที่จะช่วยเหลือนาซีเยอรมนีในการทำสงครามของตน ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นสถานการณ์ ดังที่ยุทธศาสตร์ของเขาตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าควรจะปล่อยให้รัฐทุนนิยมตะวันตกและนาซีเยอรมนีทำสงครามระหว่างกัน ก่อนที่เขาจะสามารถสู้กับทั้งสองฝ่ายได้ ทางด้านฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรล้มเหลวที่จะช่วยเหลือโดยการส่งกองกำลังโพ้นทะเล หรือการเริ่มต้นการรุกเต็มรูปแบบทางด้านตะวันตกของเยอรมนี หรือแม้กระทั่งการทิ้งระเบิดในเขตอุตสาหกรรมทางภาคตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับสตาลิน จากปรารถนาของเขาที่ต้องการให้เกิดการหลั่งเลือดระหว่างศัตรูของคอมมิวนิสต์ทั้งสองฝ่าย และในวันเดียวกัน กองทัพแดงได้ข้ามแนวชายแดนเข้าสู่โปแลนด์[4][25]

ใกล้เคียง

การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–98) การบุกครองโปแลนด์ การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 การบุกครองนอร์ม็องดี การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ พ.ศ. 2564 การบุกครองยูโกสลาเวีย การบุกเข้าปราซาดุสเตรสโปเดริส พ.ศ. 2566

แหล่งที่มา

WikiPedia: การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต http://www.electronicmuseum.ca/Poland-WW2/katyn_me... http://books.google.com/books?ie=UTF-8&hl=en&vid=I... http://books.google.com/books?vid=ISBN0271010541&i... http://books.google.com/books?vid=ISBN0415338735&i... http://books.google.com/books?vid=ISBN0786403713&i... http://books.google.com/books?vid=ISBN0806526092&i... http://books.google.com/books?vid=ISBN1841764086&i... http://books.google.com/books?vid=ISBN8849812760&i... http://www.zwoje-scrolls.com/zwoje01/text03p.htm http://web.ku.edu/~eceurope/hist557/lect16.htm