การปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด ของ การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน

โบสถ์น้อยซิสทีนก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์[c]ที่สึคร่ำไปด้วยเขม่าไฟและมลพิษ

การทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ หลายวิธีเพื่อเตรียมตัวสำหรับการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1979 คณะผู้ทำการปฏิสังขรณ์ประกอบด้วยจานลุยจิ โคลาลุชชิ, มอริซิโอ รอซซิ, เปียจอร์โจ โบเนตติและผู้อื่น[6] คณะผู้ทำการปฏิบัติตามคู่มือ "กฎสำหรับการปฏิสังขรณ์งานศิลปะ" (Rules for restoration of works of art) ที่วางไว้ใน ค.ศ. 1978 โดยคาร์โล เปียทราเยลิผู้อำนวยการของห้องทดลองของวาติกันที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการปฏิสังขรณ์งานจิตรกรรมโดยเฉพาะ "กฎสำหรับการปฏิสังขรณ์งานศิลปะ" วางระเบียบของรายละเอียดของขั้นตอนและวิธีที่ใช้ในการบูรณะงานจิตรกรรม สิ่งที่สำคัญในกระบวนการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดที่วางรากฐานไว้ในคู่มือที่ว่านี้คือการศึกษาและการวิจัยงานศิลปะ[4] นอกจากนั้นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของโครงการคือการบันทึกงานที่เกี่ยวกับการบูรณะทุกขั้นทุกตอนอย่างละเอียดทั้งการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและการถ่ายภาพที่ทำโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่นทะกะชิ โอะคะมุระ จากเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอน[7]

การปฏิสังขรณ์ขั้นแรกเริ่มขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนของ ค.ศ. 1980 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1984 โดยเริ่มด้วยงานเขียนของมีเกลันเจโลในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก สิ่งที่เรียนรู้จากการซ่อมงานเขียนนี้ก็ได้นำไปปรับปรุงใช้ในงานซ่อมบนเพดานที่ทำเสร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1989 หลังจากนั้นก็เป็นการบูรณะภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" บนผนังด้านหนึ่งของโบสถ์น้อย งานปฏิสังขรณ์ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1994[8] ขั้นตอนสุดท้ายของโครงการคือการปฏิสังขรณ์งานที่เขียนบนผนังที่ได้รับการอนุมัติใน ค.ศ. 1994 และได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1999[9]

จุดประสงค์ของผู้บูรณะจิตรกรรม

จุดประสงค์ของผู้บูรณะมีดังต่อไปนี้:

  • เพื่อทำการศึกษาจิตรกรรมฝาผนังเพื่อความก้าวหน้าต่อไป, เพื่อวิจัยสิ่งที่ได้พบและใช้วิธีที่เหมาะสมในการตอบโต้
  • เพื่อบันทึกขั้นตอนการปฏิบัติการบูรณะต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงการเพื่อใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านเอกสาร, ภาพถ่าย และ ภาพยนตร์
  • เพื่อใช้กระบวนการและวัสดุที่ง่ายและได้รับการทดสอบเป็นอย่างดีแล้วและไม่เป็นอันตรายต่องานศิลปะ และสามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นของเดิมได้
  • เพื่อซ่อมรอยร้าวและความเสียหายด้านโครงสร้างที่กระทบกระเทือนต่อภาพที่เขียนบนอินโทนาโค
  • เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกชั้นต่าง ๆ ออกที่รวมทั้งไขเทียนและเขม่าที่เกิดจากการจุดเทียนในการทำคริสต์ศาสนพิธีต่าง ๆ ในโบสถ์น้อยมาเป็นเวลากว่า 500 ปี
  • เพื่อลอกการเขียนทับของผู้ปฏิสังขรณ์เดิมที่พยายามเขียนเพื่อแก้ส่วนที่ได้รับความเสียหายจากเขม่าและสิ่งสกปรกออก
  • เพื่อลอกเอาน้ำมันหรือไขมันสัตว์ที่ใช้ในการแก้การตกผลึกของเกลือในบริเวณที่มีน้ำซึมออก
  • เพื่อลอกเอาเกร็ดเกลือที่สะสมมานานจากบริเวณที่มีน้ำซึมที่ทำให้เป็นสีขาวออก
  • เพื่ออนุรักษ์ผิวภาพที่เป็นอันตรายต่อความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นเพราะการร่อนหรือพองตัวของพลาสเตอร์
  • เพื่อบูรณะอย่างมีวิจารณญาณในบริเวณที่เสียหายจนไม่เหลือรายละเอียดเดิมให้เห็น เช่นการอุดรอยร้าวใหญ่ ๆ และเขียนให้สีใกล้เคียงกับสีดั้งเดิมให้มากที่สุด
  • เพื่อรักษาบริเวณเล็กบางบริเวณไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงวิธีการปฏิสังขรณ์แต่ละครั้งก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดนี้

การเตรียมงาน

รายละเอียดจาก "ขับจากสวรรค์" แสดงให้สีที่คร่ำดำจนแทบจะเป็น
เอกรงค์, รอยร้าวของพลาสเตอร์,เข็มโลหะที่ใช้ดามต่าง ๆ,
รอยที่สีเปลี่ยนไปจากน้ำไหล, เกลือ, ความคร่ำจากดินประสิว
และการทาสีทับภาพเดิม
รายละเอียดของส่วนเดียวกันหลังจากการบูรณะที่แสดงให้เห็นถึงสีที่สดขึ้น รอยร้าวได้รับการอุดและสีที่เขียนใหม่ใกล้เคียงกับสีเดิม
ที่อยู่ข้างเคียง แต่รอยที่เกิดจากปฏิกิริยาของดินประสิว
เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำการแก้หรือซ่อมได้

ใน ค.ศ. 1979 โคลาลุชชิก็เริ่มทำการทดลองเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อการใช้ในการปฏิสังขรณ์จิตรกรรมฝาผนัง การสืบสวนเริ่มด้วยการทดสอบบริเวณตัวอย่างต่างจากภาพ "ความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างของโมเสส" (Conflict over the Body of Moses) โดย มัทเทโอ เพเรซ ดาเลชโช (Matteo Perez d'Aleccio) ที่มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีที่คล้ายคลึงกับวิธีที่มีเกลันเจโลใช้ นอกจากนั้นก็ยังมีการทดลองเพื่อหาน้ำยาที่เหมาะสมจากโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเอเลียซาร์และมัทธาน[4]

เนื่องจากความสูงของเพดานและความที่ไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ต้องการจะศึกษาเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเสียหายต่าง ๆ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิสังขรณ์ก่อนที่จะลงมือซ่อมได้ในทุกกรณี คณะผู้ปฏิสังขรณ์จึงไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไปทุกปัญหาที่เกิดขึ้นหลังที่การปฏิสังขรณ์ได้รับการอนุมัติแล้ว โคลาลุชชิกล่าวว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็คงยังดำเนินต่อไปตลอดโครงการบูรณะเพื่อเป็นการตอบสนองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำการปฏิสังขรณ์อย่างเหมาะสม แทนที่จะเป็นการตัดสินใจใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งโดยเฉพาะหรือวิธีเดียวในการซ่อมแซมทุกสิ่งทุกอย่างในโบสถ์น้อย[4]

ใน ค.ศ. 1980 การปฏิสังขรณ์ทั้งหมดก็ได้รับการอนุมัติ โดยเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนเป็นผู้ให้ทุนในการดำเนินการจำนวน 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับลิขสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับโครงการ และผลิตผลอื่น ๆ

นั่งร้าน

ทีมงานทำการปฏิสังขรณ์ส่วนตั้งและส่วนโค้งสแปนเดรล ที่ประกบส่วนบนของหน้าต่างก่อนจากนั่งร้านอะลูมิเนียมที่ยื่นออกมาจากใต้โค้งพระจันทร์ครึ่งซีกและใช้ช่องบนกำแพงช่องเดียวกับที่มีเกลันเจโลใช้ยึดนั่งร้านเดิม เมื่อย้ายไปทำงานบนเพดานคณะผู้ดำเนินงานก็ใช้ระบบเดียวกับที่มีเกลันเจโลใช้โดยใช้คานยื่นจากนั่งร้านในการรับฐานต่างระดับและฐานโค้ง แต่น้ำหนักของนั่งร้านในปัจจุบันเบากว่าและสามารถเลื่อนไปมาบนลูกล้อได้ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการย้ายไปมาในช่วงยาวของห้อง แทนที่จะต้องถอดและสร้างใหม่ตามจุดที่ต้องการเช่นที่มีเกลันเจโลต้องทำใน ค.ศ. 1506[7][10]

สภาพของจิตรกรรม

การค้นคว้าใน ค.ศ. 1979 พบว่าพื้นผิวผนังและเพดานทั้งหมดของโบสถ์น้อยเคลือบด้วยสิ่งสกปรกที่เกิดจากควันเทียนที่ประกอบด้วยขี้ผึ้งและเขม่าไฟ (Amorphous carbon) ส่วนเหนือหน้าต่างที่เป็นที่ถ่ายเทอากาศและโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากควันและไอเสียจากการจราจรในตัวเมืองโรมที่สกปรกยิ่งไปกว่าเพดาน[7] ตัวสิ่งก่อสร้างเองก็ไม่มั่นคงและเคลื่อนตัวไปบ้างแล้วมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่มีเกลันเจโลจะเริ่มเขียนภาพใน ค.ศ. 1508 ที่เป็นผลทำให้เกิดรอยร้าวบนเพดาน เช่นรอยร้าวในช่อง "จูดิธ" ที่กว้างจนต้องอัดด้วยอิฐและปูนก่อนที่จะเขียนภาพได้ ด้านบนของเพดานที่มีเกลันเจโลเขียนเป็นผิวที่ไม่ราบเรียบเพราะเกิดจากรอยร้าวและรอยน้ำซึม[1]

ทางเข้าของน้ำมาจากหลังคาและจากบริเวณทางเดินด้านนอกเหนือเพดานที่ไม่มีหลังคาทำให้น้ำซึมเข้ามาในตัวสิ่งก่อสร้างและชะเกลือจากปูนที่ใช้ในการก่อสร้าง เมื่อแห้งก็ทิ้งรอยไว้ น้ำที่ซึมเข้ามาบางส่วนก็ทำให้พลาสเตอร์พองและลอยตัวซึ่งเป็นปัญหาย่อยที่แก้ได้เมื่อเทียบการเปลี่ยนสีของภาพที่เกิดจากน้ำ เพราะมีเกลันเจโลใช้สีที่บางบนส่วนใหญ่ของเพดานที่ทำให้น้ำเกลือซึมทะลุได้แทนที่จะหมักหมมอยู่ภายใต้ผิวสีที่เขียน[4]

การปฏิสังขรณ์ก่อนหน้านี้ต่างก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้บนจิตรกรรม เช่นการแก้สีที่กลายเป็นสีขาวที่เกิดจากการระเหยของเกลือโดยการใช้ไขมันสัตว์ และน้ำมันพืชช่วยที่ทำให้เกร็ดเกลือกลายเป็นสีใส แต่ทิ้งความเหนียวเป็นมันที่จับสิ่งสกปรกต่อมา อีกปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือตัวยุวเทพเล็ก ๆ ที่ถือป้ายชื่อที่ได้รับความเสียหายเพราะดินประสิวที่ซึมเข้ามาในรอยร้าวที่ทำให้เห็นเป็นวงสีคร่ำบนผิว รอยด่างจากดินประสิวต่างกับเกร็ดเกลือขาวตรงที่เป็นรอยด่างถาวรที่ไม่สามารถเอาออกได้ การใช้น้ำยาเคลือบและกาวแก้ในบางบริเวณก็ทำให้สีคร่ำลง นอกจากนั้นผู้ปฏิสังขรณ์เดิมก็ยังทาสีรายละเอียดใหม่ทับบนบริเวณที่ได้รับความเสียหายเพื่อทำให้บางส่วนของภาพที่ขาดหายไปสมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก, โค้งสแปนเดรลและส่วนล่างของ pendentives[4]

จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก็พบว่านอกจากสิ่งสกปรกจากควันและจากน้ำซึมแล้วก็ยังมีรอยร้าวที่เกิดจากตัวโครงสร้างเอง แต่โดยทั่วไปแล้วสภาพของภาพเขียนที่ "บางเหมือนหนัง" ("pictorial skin") ของมีเกลันเจโลก็อยู่ในสภาพที่ดีมาก[4] โคลาลุชชิ กล่าวว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดที่ดีที่สุดที่บรรยายโดยจอร์โจ วาซารี[11] สีเกือบทั้งหมดที่ใช้ยังติดอยู่กับพลาสเตอร์และต้องทำการแต่งเติมเพียงเล็กน้อย พลาสเตอร์หรือพลาสเตอร์อินโทนาโคที่พบส่วนใหญ่ที่ผู้ปฏิสังขรณ์เดิมทำไว้ก็ยังอยู่ในสภาพดีและตรึงไว้กับผนังด้วยเข็มบรอนซ์[4]

การเตรียมการ

ภาพรวม "ปฐมบาปและขับจากสวรรค์" โดยมีเกลันเจโล แสดงความแตกต่างระหว่างส่วนที่ยังไม่ได้รับการบูรณะตอนบนซ้ายและส่วนที่ได้รับการบูรณะแล้วด้านล่างขวา

ก่อนหน้าการปฏิสังขรณ์กลุ่มผู้ดำเนินการใช้เวลาหกเดือนในการสืบสวนสภาพของจิตรกรรมโดยการสอบถามผู้ที่มีส่วนในการซ่อมแซมในคริสต์ทศวรรษ 1930 และทำการศึกษาในบริเวณต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อที่จะได้เรียนรู้ถึงสูตรน้ำยาและวิธีที่ดีที่สุดที่ควรใช้ในแต่ละบริเวณ[4]

ขั้นแรกของการปฏิสังขรณ์ทางวัตถุคือการแปะพลาสเตอร์ (หนาราว 5 มิลลิเมตร) ที่เกือบจะร่อนหรือร่วงลงมาจากผนังหรือเพดานออกจากเพดานกลับไปใหม่ ซึ่งทำโดยการฉีดโพลิไวนัลอาซิเททเรซิน (Polyvinylacetate หรือ PVA) เข็มบรอนซ์ที่ใช้ยึดพลาสเตอร์ก่อนหน้านั้นก็ถูกถอดออกเพราะทำให้ผิวร้าวและรูที่ฝังเข็มก็ได้รับการอัด สีที่ไม่ค่อยติดกับผิวภาพเท่าไหร่นักก็ได้รับการผสมกับอคริลิคเรซินที่ละลายแล้ว[4]

ผู้ปฏิสังขรณ์ล้างผิวภาพด้วยน้ำยาหลายอย่าง และเมื่อใดที่สามารถใช้น้ำกลั่นในการเอาสิ่งสกปรกหรือละลายยางที่ละลายน้ำได้ก็จะใช้ การเขียนเสริม (Retouching) หรือเขียนใหม่ (Repainting) ที่ทำไว้ระหว่างการบูรณะก่อนหน้าก็ถูกลอกหรือลบออกด้วยน้ำยาเจลาตินต่อเนื่องกันหลายครั้งและล้างด้วยน้ำกลั่น ส่วนที่มีสิ่งสกปรกที่เกิดจากการตกผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนตก็ใช้น้ำยาไดเม็ทธิลฟอร์มาร์ไมด์ (dimethylformamide) ทำความสะอาด ขั้นสุดท้ายก็คือการเคลือบด้วยน้ำยาจากอคริลิคพอลิเมอร์ (acrylic polymer) อ่อน ๆ เพื่อผสานและรักษาผิวภาพจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต[4]

ในบริเวณที่จำเป็นต้องมีการซ่อมสีก็เขียนเสริมด้วยสีน้ำเพื่อให้ผสานกับสีเดิม และใช้แปรงทาโดยตรงที่มองเห็นได้ว่าเป็นงานซ่อมเมื่อมองไกล้ ๆ แต่มองไม่เห็นเมื่อมองจากระยะไกล[4]

ส่วนเล็ก ๆ บางส่วนยังคงรักษาไว้โดยไม่มีการบูรณะ เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเรียนรู้ถึงวิธีปฏิสังขรณ์ที่ทำกันมาก่อนหน้านั้นเช่นบริเวณที่ทาสีทับและบริเวณอื่นที่ผู้ปฏิสังขรณ์พยายามแก้ความเสียหายที่เกิดจากเกลือด้วยน้ำมัน

ใกล้เคียง

การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน การบูร การบูชาเทวรูป การบูร (พรรณไม้) การบูชาพระคัมภีร์ การบินไทย การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–98) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การบุกครองโปแลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน http://search.atomz.com/search/?sp_i=1&sp_q=Sistin... http://findarticles.com/p/articles/mi_qn4158/is_20... http://mimsstudios.com/richardserrinarticle.pdf http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9D0... http://www.robertfulford.com/restore.html http://www.oberlin.edu/alummag/oamcurrent/oam_fall... http://www.arguimbau.net/article.php?sid=8 http://www.arguimbau.net/images/articles/Sistina_C... http://www.artwatchinternational.org/articles/inde...