ปฏิกิริยาต่อการปฏิสังขรณ์ ของ การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน

การวิจารณ์และการสรรเสริญ

เจเรไมอาห์ครุ่นคิดถึงการถูกทำลายของกรุงเยรุซาเล็ม

การประกาศการปฏิสังขรณ์โบสถ์น้อยซิสทีนทำให้เกิดคำถามที่พรั่งพรูกันขึ้นอย่างขนานใหญ่ และปฏิกิริยาการต่อต้านจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์จากทั่วโลก ผู้ที่มีเสียงดังที่สุดในบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยก็เห็นจะเป็นเจมส์ เบ็คแห่ง "องค์การผู้สังเกตการณ์ศิลปะนานาชาติ" (ArtWatch International) ผู้ออกประกาศเป็นระยะ ๆ เตือนถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาพเขียนของมีเกลันเจโลจาก "การปฏิสังขรณ์อย่างหนัก" เหตุผลของเบ็คที่ใช้บ่อยคือการปฏิสังขรณ์ที่ทำมาทุกก่อนหน้านั้นต่างก็สร้างความเสียหายให้แก่งานไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การปฏิสังขรณ์ (Restoration) ต่างจาก "การอนุรักษ์" (Conservation) ตรงที่เป็นวิธีแรกอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาในการพยายามซ่อมแซมให้เหมือนต้นฉบับ ซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อภาพเขียน แต่การอนุรักษ์เป็นกระบวนการที่พยายามรักษาภาพเขียนหรือศิลปะให้คงอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะที่ทำการอนุรักษ์ และป้องกันจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เบ็คเขียนบรรยายถึงข้อวิตกนี้ในหนังสือ "การปฏิสังขรณ์ศิลปะ: วัฒนธรรม, ธุรกิจ และเรื่องน่าอัปยศ" (Art Restoration: the Culture, the Business and the Scandal)[13]

ในบทสนทนา, [คณะผู้ปฏิสังขรณ์]กล่าวว่าการปฏิสังขรณ์ที่ทำกันมาก่อนเป็นการปฏิสังขรณ์ที่ไม่ถูกต้อง — และกล่าวว่าครั้งนี้จะทำให้เป็นงานที่ดีมาก เหมือนกับทำศัลยกรรมเปลี่ยนหน้าใหม่ เราต้องฟังเหตุผลเช่นนี้กันกี่ครั้งก่อนที่หน้าเราจะปอกเปิก[จากการศัลยกรรม]?

เจมส์ เบ็ค

ขณะที่เจมส์ เบ็คมัวยุ่งอยู่กับการโต้เถียงโดยทั่วไปอยู่กับจานลุยจิ โคลาลุชชิ โรนัลด์ เฟลด์แมนนักค้าขายศิลปะจากนิวยอร์กก็เริ่มรวบรวมคำร้องโดยมีผู้สนับสนุนโดยศิลปินคนสำคัญสิบห้าคนที่รวมทั้งโรเบิร์ต มาเธอร์เวลล์, คริสโต และแอนดี วอร์ฮอล และยื่นต่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ร้องขอให้ระงับการปฏิสังขรณ์ พร้อมกับยับยั้งการปฏิสังขรณ์ภาพ "พระกระยาหารมื้อสุดท้าย" ที่มิลานโดยเลโอนาร์โด ดา วินชีไปด้วยในขณะเดียวกัน[15]

การดำเนินของคณะผู้ปฏิสังขรณ์ควรจะเป็นไปอย่างเปิดเผยโดยที่นักข่าว, นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และผู้มีความสนใจอื่น ๆ และไม่ควรจะสร้างปัญหาให้แก่ผู้ต้องการข้อมูลหรือเปิดโอกาสให้สามารถเข้าชมงานระหว่างการปฏิสังขรณ์ได้ แต่เครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีลิขสิทธิ์ในการถ่ายภาพ ใน ค.ศ. 1991 ไมเคิล คิมเมิลแมนหัวหน้านักวิจารณ์ศิลปะของเดอะนิวยอร์กไทมส์เขียนวิจารณ์การปฏิสังขรณ์เพดานและโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกที่มีสาเหตุมาจากการที่ความไม่เต็มใจของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนที่จะให้พิมพ์ภาพเป็นการสาธารณะ เพราะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการบันทึกกระบวนการทุกขั้นทุกตอนและถือว่าเป็นหลักฐานอย่างเดียวที่บ่งว่าการปฏิสังขรณ์ที่ทำเป็นวิธีที่เหมาะสม

ตามทัศนคติของไมเคิล คิมเมิลแมน สาเหตุของความไม่เต็มใจในการแสดงภาพรายละเอียดของกระบวนการซ่อมแซม และความหวั่นกลัวของผู้มีความสนใจในโครงการ ก็มาจากสาเหตุความประสงค์ทางการค้าของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนที่ต้องการจะพิมพ์ "หนังสือโต๊ะกาแฟ" (coffee-table book) ฉบับจำกัดขนาดยักษ์สองเล่มขาย (ที่มีขนาดเท่าโต๊ะกาแฟจริง ๆ) หนังสือนี้ถ้าพิมพ์ก็จะตกประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเล่ม ไมเคิล คิมเมิลแมนกล่าววิจารณ์ว่าภาพเหล่านี้มีให้เฉพาะผู้สามารถซื้อได้ไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งเป็นการแสดงความ "ใจแคบ" และความขาด "จริยธรรม" ของเครือบริษัทสถานีโทรทัศน์นิปปอนโดยตรง[16]

"ประกาศกเอเซอคีลได้ยินเสียงพระเจ้า"

เมื่อโครงการค่อย ๆ เสร็จไปแต่ละขั้นก็มีผู้ที่พอใจกับผลงานที่รวมทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ผู้กล่าวสรรเสริญโครงการทุกครั้งที่เปิดงานที่สำเร็จแต่ละขั้น ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 หลังจากการบูรณะพระองค์ก็กล่าวเปิดงานที่เสร็จลงว่า:

เป็นการยากที่จะหาภาพพจน์ทางจักษุของภาพจากพระคัมภีร์ที่งดงามไปกว่าภาพที่เขียนในโบสถ์น้อยซิสทีน ที่เป็นความงามอันเลอเลิศที่เรายังได้ชื่นชมกันตราบเท่าทุกวันนี้ ที่เป็นผลมาจากการปฏิสังขรณ์ที่เพิ่งทำสำเร็จ ความปิติของเราร่วมโดยผู้มีศรัทธาจากทั่วโลกผู้ไม่แต่จะชื่นชมกับสถานที่นี้ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของภาพเขียนแต่ยังในฐานะที่มีบทบาทในการการดำรงชีวิตของสถาบันศาสนาด้วย

– พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2

คาร์ดินัลเอ็ดมันด์ สโซคา (Edmund Szoka) ข้าหลวงของนครรัฐวาติกันกล่าวว่า: "การปฏิสังขรณ์และความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิสังขรณ์เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมในปัจจุบันมีความรู้สึกเหมือนว่าได้กลับไปยืนชมภาพหลังจากที่เพิ่งเปิดให้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อวาดเสร็จ"[17]

ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามของบริษัทแคริเออร์ที่เป็นผู้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศสรรเสริญยิ่งไปกว่านั้นว่า:

ในฐานะศิลปินมีเกลันเจโลต้องพึ่งแสงที่ประทานโดยพระเจ้าในการสร้างงานจิตรกรรม ในฐานะผู้ดูเราก็ขึ้นอยู่กับมโนทัศน์ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผู้ดูในปีปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นผู้โชคดี เพราะผู้คนหลายล้านคนในสี่ร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมาได้เห็นก็แต่เพียงจิตรกรรมฝาผนังของมีเกลันเจโลที่ต้องดูผ่านเลนส์ที่จับฝุ่น...

การสะสมของสิ่งสกปรกเป็นร้อย ๆ ปีทำให้สีหม่นลงไปและลบรายละเอียดออก ที่ทำให้จิตรกรรมฝาผนังดูแบนจากความเป็นทัศนมิติที่ตั้งใจไว้ แต่เราต้องขอบคุณต่อความอุตสาหะในรอบสิบปีที่ผ่านมาของคณะผู้ปฏิสังขรณ์ของวาติกันผู้เปิดหน้ากากนั้นออก

[12]

แต่นักเขียนอื่นไม่ได้ยกยอเท่ากับที่เขียนมา แอนดรูว์ เวิร์ดสเวิร์ธแห่งหนังสือพิมพ์ "ดิอินดีเพ็นเดนต์" ของลอนดอนแสดงความวิตก:

การเขียนเพดานของโบสถ์น้อยซิสทีนเป็นการเขียนบนปูนชื้นแต่ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ตัดสินใจว่าการปฏิสังขรณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำเพราะความสกปรกที่หมักหมมกันอยู่บนผิวภาพ (โดยเฉพาะจากควันเทียน) ผลที่ออกมาก็คือเพดานที่ดูเหมือนถูกล้าง ที่เป็นสีที่ดูสวยแต่ขาดอรรถรสทางจักษุและความลึก - ที่ทำให้ผลที่ออกมาไม่เหมือนงานเขียนที่ทำโดยมีเกลันเจโลที่เต็มไปด้วยพลังเสน่ห์ของความดึงดูดทางอารมณ์อันรุนแรง (intensely sensual)

– แอนดรูว์ เวิร์ดสเวิร์ธ

ประเด็นและรายละเอียดของบทวิจารณ์เกี่ยวกับการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์น้อยซิสทีนโดยจิตรกรร่วมสมัยปีเตอร์ อาร์กิมเบาบรรยายไว้อย่างละเอียดในบทความในเว็บไซต์ชื่อ "โบสถ์น้อยซิสทีนของมีเกลันเจโลถูกทำความสะอาดด้วย "อีซีออฟ": วิทยาศาสตร์และศิลปะ---ความเสียหายที่เกิดขึ้น" (Michelangelo’s Sistine Chapel Cleaned With Easyoff: Science Vrs. Art --- What A Price To Pay)[19][20]

ประเด็นที่เสนอโดยผู้วิจารณ์

ส่วนหนึ่งของการปฏิสังขรณ์ภายในโบสถ์น้อยซิสทีนที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันมากที่สุดก็คือการบูรณะภาพเขียนบนเพดานที่เขียนโดยมีเกลันเจโล ความสดใสของสีสันของภาพ "บรรพบุรุษของพระเยซู" หลังจากการบูรณะจากสีที่หม่นก่อนหน้านั้นทำให้เกิดปฏิกิริยาว่าวิธีที่ใช้ในการปฏิสังขรณ์เป็นวิธีที่ออกจะหนักมือจนเกินไป แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากผู้ที่แสดงความวิตกกังวลจากนักวิจารณ์การปฏิสังขรณ์เช่นเบ็ค แต่โครงการก็ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งเสร็จ[21][19]

ปัญหาของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิสังขรณ์อยู่ตรงวิธีการวิจัยและการทำความเข้าใจในวิธีการเขียนภาพของมีเกลันเจโล และ วิธีที่ใช้โดยผู้ปฏิสังขรณ์ในการทำการบูรณะภาพเหล่านั้น จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของภาพเขียนในบริเวณโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกทำให้ผู้ปฏิสังขรณ์เชื่อว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" (buon fresco) โดยตลอด ซึ่งเป็นวิธีที่จิตรกรเขียนภาพลงบนพลาสเตอร์อินโทนาโคที่ฉาบไว้เป็นช่วง ๆ ในช่วงวันที่จะเขียนขณะที่พลาสเตอร์ที่ฉาบไว้ยังชื้นอยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ตรงกันข้ามกับ "การวาดบนปูนแห้ง" (A Secco) ซึ่งเป็นวิธีที่จิตรกรใช้ในการกลับมาเพิ่มเติมรายละเอียดเมื่อปูนแห้งแล้ว[22]

เมื่อสรุปว่าจิตรกรใช้วิธีเดียวในการเขียนภาพทั้งหมด คณะผู้ปฏิสังขรณ์ก็ใช้วิธีเดียวในการบูรณปฏิสังขรณ์ภาพทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจว่าชั้นสีที่เห็นเป็นสีที่เกิดจากเงาจากไขมันสัตว์และสีดำตะเกียง, ไขจากเทียน, และสีที่เขียนทับที่เป็นสิ่งที่แปลกปลอมจากงานเขียนต้นฉบับไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ตามความเห็นของอาร์กิมเบาเมื่อตัดสินเช่นนี้แล้วผู้ปฏิสังขรณ์ก็เลือกใช้น้ำยาที่เท่ากับเป็นการลอกเพดานไปจนถึงชั้นพลาสเตอร์ที่อมสีเท่านั้น ซึ่งทำให้เหลือแต่เพียงชั้นที่เขียนโดยวิธีการวาดบนปูนเปียกเท่านั้น ซึ่งทำให้ส่วนที่เขียนเมื่อปูนแห้งถูกลอกตามไปด้วย[19]

แดเนียลก่อนและหลังการปฏิสังขรณ์

ตามความคิดเห็นของผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิสังขรณ์ ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ความปรัชญาของผู้ปฏิสังขรณ์ที่มีความเชื่ออย่างเหนียวแน่นหรือสรุปว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" วิธีเดียวเท่านั้นในการเขียนภาพทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการสรุปว่ามีเกลันเจโลมีความพอใจต่อผลงานของตนเองทุกวันที่ทำตลอดสี่ปีครึ่งที่เขียน โดยไม่มีการตามกลับมาเพิ่มรายละเอียด หรือ แก้ภายหลังใดใดทั้งสิ้นจากที่เขียนเสร็จ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลและค้านกับข้อเขียนของโคลาลุชชิเองก่อนหน้านั้น

ข้อสรุปที่เกี่ยวข้องของโคลาลุชชิ ในภาคผนวกชื่อ "การพบสีใหม่ของมีเกลันเจโล" กล่าวว่า:

ขั้นหนึ่งของการเตรียมตัว ก็มีการสัมภาษณ์ผู้ปฏิสังขรณ์ผู้สูงอายุที่ทำการปฏิสังขรณ์ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ผู้ปฏิสังขรณ์เหล่านี้อ้างว่ามีเกลันเจโลใช้วิธี "การวาดบนปูนเปียก" โดยใช้ "velature" หรือสารเคลือบเป็นตัวเชื่อม โคลาลุชชิไม่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้และกล่าวว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดบนปูนเปียกวิธีเดียวเท่านั้น แต่ต่อมาโคลาลุชชิเองก็บรรยายค้านกับข้อเขียนเดิมที่ว่ามีเกลันเจโลใช้วิธีการวาดบนปูนแห้งด้วย แต่ก็เพียงเป็นการใช้บ้างและไม่ใช้เลยในการเขียนโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกโคลาลุชชิต่อมากล่าวถึง "การบำรุงรักษาอย่างแข็งขัน" ของมีเกลันเจโลของงานที่เขียนไว้บนปูนเปียก และกล่าวขัดกับทฤษฎีเดิมต่อไปถึงการเขียนเพิ่มเติมบนปูนแห้งบนไหล่ของภาพเอเลซาร์และเท้าของเรโบมภายในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก และกล่าวว่ามีเกลันเจโลเขียนบนปูนเปียกโดยไม่มี "การแก้" (pentimenti) หรือการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด[4]

การวิจารณ์ประเด็นอื่นที่ยังคงมีอยู่คือข้อที่ผู้ปฏิสังขรณ์อ้างว่ามีความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของจิตรกรบนทุกส่วนของเพดาน และใช้วิธีปฏิสังขรณ์ที่เป็นการสนับสนุนจุดประสงค์ที่เชื่อว่ามีความเข้าใจ ข้อวิจารณ์นี้ก็ยังไม่สามารถยุติลงได้และเป็นข้อที่ไม่มีหนทางที่จะสามารถตกลงกันได้[21][19]

ปัญหาคาร์บอนแบล็ค

ผู้ปฏิสังขรณ์สรุปง่าย ๆ ว่าสิ่งชั้นที่ดูเหมือนสิ่งสกปรกทุกชั้นเป็นไขหรือเขม่าที่มาจากควันเทียน ซึ่งเบ็คและศิลปินหลายคนไม่เห็นด้วยและให้ความเห็นว่าสีคร่ำที่เห็นเป็นการใช้คาร์บอนแบล็ค (Carbon black) ของมีเกลันเจโล กับกาวในบริเวณที่เป็นเงาและสีดำจัดของ "การวาดบนปูนแห้ง" ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงส่วนนี้ก็ถูกลอกออกไปจนเกือบหมดสิ้นระหว่างการทำความสะอาด[23]

แต่บางรูปยังมีร่องรอยที่เห็นได้ชัดของการใช้คาร์บอนแบล็ค เหตุผลของการใช้การวาดวิธีนี้ก็อาจจะอธิบายได้ว่าระหว่างที่มีเกลันเจโลทำงานเขียนอยู่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการเขียน ที่อาจจะมาจากสิ่งที่มีผลต่อ "งานเขียนบนปูนเปียกของแต่ละวัน" (Giornata) ที่ได้แก่อุณหภูมิและ/หรือความชื้นของบรรยากาศแต่ละวัน และความยาวของแสงอาทิตย์ที่ได้รับ แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตามการใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกันในการเขียนแสงเงาของแต่ละภาพก็เห็นได้อย่างเด่นชัด

การใช้เงาที่เข้มข้นของภาพประกาศกคิวเมียน (Cumaean) ทำให้ดูราวกับเป็นภาพนูนหรือยิ่งไปกว่านั้นที่ดูราวกับเป็นภาพสามมิติซึ่งผู้รักงานศิลปะหวังว่าจะได้พบในงานของศิลปินผู้แกะสลักรูปโมเสส[21] นักวิจารณ์การปฏิสังขรณ์อ้างว่าการเขียนเช่นนั้นเป็นความตั้งใจเดิมของมีเกลันเจโล และจิตรกรรมเหล่านี้ที่เป็นสีสันสดใสที่เมื่อนำมาวางเคียงข้างกันทำให้เกิดผลเช่นที่ว่า แต่คุณสมบัติดังกล่าวนี้สูญหายไปจนเกือบหมดสิ้นกับการทำความสะอาดกันอย่างเอาจริงจังระหว่างการปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดนี้[19]

สิ่งที่สูญหายไปอีกอย่างหนึ่งคือ "การวาดบนปูนแห้ง" ของรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่คมชัดเช่น หอยสคาลล็อพ, ลายลูกเอคอร์น หรือลายลูกปัดตกแต่งซึ่งมีเกลันเจโลอาจจะทิ้งไว้ให้ผู้ช่วยเป็นผู้วาดเมื่อตนเองย้ายไปเขียนช่วงอื่นของผนังต่อ นอกจากนั้นคุณภาพของการซ่อมรายละเอียดก็ต่างระดับกันมาก ในบางบริเวณเช่นบริเวณช่องของภาพเอเซเคียล รายละเอียดเป็นการเขียนบนปูนเปียกและไม่มีการซ่อมแซมแต่อย่างใด

ความแตกต่างระหว่างภาพเขียนในช่องสองช่องของงานที่คล้ายคลึงกันที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ ทางด้านซ้ายสีดำที่ใช้ในการสร้างรายละเอียดของเสื้อ, ตา และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไม่ได้รับการแตะต้อง แต่ภาพขวารายละเอียดเหล่านี้หายไปหมดระหว่างการทำความสะอาด

การเปรียบเทียบระหว่างภาพในช่องสองช่องทำให้เห็นระดับความแตกต่างที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิสังขรณ์ ภาพทางด้านซ้ายใช้สีดำในการเน้นรายละเอียด เสื้อสีเขียวเน้นด้วยสีเหลืองและแต่งด้วยสีดำที่ทำให้เป็นเงาลึกขึ้น และในรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมก็ทำให้เด่นขึ้นด้วยสีดำ สีตาของเด็กก็เป็นรายละเอียดของสีขาวตัดกับดำ รายละเอียดที่เห็นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นการเขียนเมื่อปูนยังเปียก ส่วนทางด้านขวาดูเหมือนภาพที่ยังเขียนไม่เสร็จ ก่อนหน้าที่จะได้รับการทำความสะอาดภาพนี้ก็มีการใช้สีดำในการสร้างเงาบนเสื้อผ้าและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม

ภาพแต่ละภาพตรงมุมสี่มุมเป็นหัวข้อที่มีพลังทางนาฏกรรมอันรุนแรง (violent) การลอกคาร์บอนแบล็คจากภาพเหล่านี้ออกทำให้ภาพเหล่านี้ลดความเป็นนาฏกรรมลงไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะการสูญเสียของความลึกของภาพ "ความตายของฮามัน" ที่เดิมดูเหมือนว่าตัวแบบจะชะโงกออกมาจากฉากหลังที่มืด ที่กลายมาเพียงปรากฏอยู่หน้าภาพหลังจากการซ่อมแซม ความเป็นนาฏกรรมของภาพจึงสูญหายไปหมดสิ้นกับสีพาสเตลที่ใช้ที่ปรากฏในปัจจุบัน

สี

ภัณฑารักษ์ฟาบริซิโอ มันชิเนลลิอ้างคำบรรยายจากบันทึกของนักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 เฌโรม ลาลองด์ที่กล่าวถึงสีของเพดานที่เมื่อมาถึงสมัยนั้นก็กลายเป็นสีเดียวที่ "ออกไปทางหม่นและเทา" ไปแล้ว มันชิเนลลิกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ว่าเป็นการทำให้เห็น "มีเกลันเจโลใหม่" ในฐานะผู้ใช้สี (colourist) และสีใหม่ที่เห็นทำให้ "ตัวแบบในภาพมีความหมายเพิ่มขึ้นตามตำแหน่งทางประวัติศาสตร์"[7] และกล่าวต่อไปว่าผู้ชมเพดานผู้มีความซาบซึ้งมีความสำนึกอยู่เสมอถึงสีต่าง ๆ ที่เห็นที่แตกต่างไปจากสีที่เขียนไว้แต่เดิม[7] ที่รวมทั้งสีชมพู, เขียวแอปเปิล, ส้ม, เหลือง และฟ้าอ่อนเดียวกับที่โดเมนนิโค เกอร์ลันเดาครูของมีเกลันเจโลใช้ ผู้เป็นจิตรกรผู้เชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมฝาผนังผู้มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

สีสดใสควรที่จะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิสังขรณ์หวังที่จะได้เห็นหลังจากการบูรณะเพราะสีต่าง ๆ ในกลุ่มสีที่ใช้ปรากฏในงานจิตรกรรมของจอตโต ดี บอนโดเน, มาซาชิโอ, มาโซลิโน ดา พานิคาเล, ฟราอันเจลิโค และเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา และรวมทั้งโดเมนนิโค เกอร์ลันเดาเอง และจิตรกรผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังรุ่นต่อมาเช่นอันนิบาเล คารัคชี และ จิโอวานนิ บัตติสตา ติเอโปโล เหตุผลในการใช้กลุ่มนี้ก็เพราะรงควัตถุอื่น ๆ ใช้ในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังไม่ได้เพราะมีปฏิกิริยาทางเคมีอย่างรุนแรงกับปูนเปียก และสีหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เลยบนเพดาน แต่มาใช้บนผนังบนภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" บนผนังคือสีน้ำเงินเข้มสดที่ทำจากการบดหินลาพิส ลาซูไลที่เขียนเมื่อปูนแห้งแล้วพร้อมกับการปิดทองคำเปลวบนรัศมีหรือตกแต่งชายเสื้อ[e]

มือขวาและเข่าของดาเนียลบนภาพที่ยังไม่ได้บูรณะเห็นสีแดงเข้มภายใต้สีดำที่มาเขียนเมื่อปูนแห้งที่ทำให้มีความเรืองในเงา และการทำให้เห็นเข่าและขาส่วนล่างภายใต้เสื้อผ้าทำโดยการใช้สีดำ[f]

การใช้สีที่แทบจะไม่ได้คาดกันของมีเกลันเจโลในการเขียนเงา การเขียนภาพประกาศกลิเบียน (Libyan) และประกาศกดาเนียล (Daniel) ที่อยู่ข้างเคียงกันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สีเหลืองบนเสื้อของประกาศกลิเบียนมีเกลันเจโลใช้สีเหลืองสดและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเหลืองที่เข้มขึ้นจนกลายเป็นสีส้มอ่อน, ส้มแก่และเกือบจะเป็นสีแดงในบริเวณที่มีเงา ขณะที่เงาสีแดงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบในงานจิตรกรรมฝาผนัง การค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นการแก้ปัญหาอย่างธรรมชาติ แต่บนเสื้อของแดเนียลไม่มีการเปลี่ยนสีที่ค่อยเป็นค่อยไป สีเหลืองของเสื้อคลุมกลายเป็นสีเขียวในทันทีที่อยู่ในเงา ขณะที่สีม่วงมีเงาเป็นสีแดงเข้ม การใช้สีผสมเช่นนี้เรียกว่า "การใช้สีเหลือบ" (iridescent) ซึ่งพบหลายแห่งบนเพดานรวมทั้งบนถุงน่องของชายหนุ่มในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีก "มาธาน" ซึ่งเป็นสีเขียวอ่อนและม่วงแดง

"โจนาห์" บูรณะแล้ว การใช้โทนสีที่เป็นนาฏกรรมของภาพหายไปหลังจากการทำความสะอาดและทำให้ลดความเป็นทัศนมิติของภาพลงอย่างมาก (effect of the foreshortening)

ในบางกรณีการใช้สีผสมทำให้ดูฉูดฉาดน่าเกลียด (garish) โดยเฉพาะในกรณีของภาพประกาศกดาเนียล การเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ยังไม่ได้บูรณะและที่บูรณะแล้วทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีเกลันเจโลหันมาใช้คาร์บอนแบล็คภายหลังและการใช้เป็นการคิดล่วงหน้า[24] สีแดงสดที่ใช้บนเสื้อคลุมของแดเนียลและลิเบียนไม่ทำให้เกิดแสงเงาที่มีประสิทธิภาพ ในกรณีทั้งสองนี้และกรณีอื่น ๆ ก็อาจจะเป็นเพราะสีที่เห็นเป็นสีที่ตั้งใจจะให้เป็นสีภายใต้ (underpainting) ที่ตั้งใจจะให้มองทะลุสีดำบาง ๆ และด้วยเงาลึกที่ใช้สีดำจัด ซึ่งยังคงเห็นได้จากภาพประกาศกคิวเมียน การใช้สีสดที่ตัดกันสำหรับสีภายใต้ไม่ใช่วิธีที่ใช้กันทั่วไปในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังแต่เป็นวิธีที่นิยมกันในการเขียนทั้งจิตรกรรมสีน้ำมัน และจิตรกรรมสีฝุ่นเท็มเพอราเช่นที่เห็นบนเสื้อของภาพแดเนียลและลิเบียนที่เดิมเป็นสีที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปกับรอยพับของเสื้อผ้าและเงา แต่รายละเอียดเหล่านี้หายไปหลังจากการบูรณะ[d]

ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิสังขรณ์ก็เป็นที่ทราบกันอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเพดานเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกที่หมักหมมมานาน แต่เมื่อได้ชมภาพเมื่อมีคราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์เบ็คและอาร์กิมเบาก็บรรยายว่า[21][19] ยังเป็นภาพที่มีพลังที่แสดงให้เห็นทำให้รู้สึกถึงรูปทรงอันแน่นและเป็นรูปร่าง

จิตรกรและนักเขียนชีวประวัติจอร์โจ วาซารีในหนังสือ "ชีวิตจิตรกร, ประติมากร, และสถาปนิกผู้ดีเด่น" บรรยายภาพโจนาห์ที่เห็นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า:

"จะมีใครบ้างเล่าที่จะไม่ประทับใจกับภาพสุดท้ายอันเด่นของโจนาห์? เพดานโค้งตามปกติแล้วก็จะยื่นออกมาจากโค้งของสิ่งก่อสร้างแต่ด้วยพลังของศิลปะก็ดูเหมือนจะผลักรูปของโจนาห์ที่โค้งในทางตรงกันข้ามโดยการเขียนที่ใช้แสงและเงาที่ดูเหมือนจะทำให้เพดานจะถอยร่นออกไป"[25]

รูปใหญ่ของโจนาห์มีความสำคัญเป็นอันมากต่อองค์ประกอบของภาพทั้งหมดทั้งทางด้านจิตรกรรมและทางด้านคริสต์ศาสนปรัชญาเพราะภาพที่เป็นอุปมานิทัศน์ของการคืนชีพของพระเยซู ภาพโจนาห์เขียนภายในช่องที่แล่นขึ้นมาจากกำแพงแท่นบูชาที่รองรับเพดานโค้งและเอี้ยวตัวขณะที่ตามองไปยังพระเจ้า ลักษณะการวาดแบบลักษณะลวงตา (foreshortening) ที่บรรยายในงานเขียนของวาซารีว่ายังเป็นวิธีเขียนที่ใหม่ในขณะนั้น และมามีอิทธิพลต่อจิตรกรรุ่นต่อมาเป็นอันมาก การทำความสะอาดภาพนี้ทำให้ลบร่องรอยการใช้เงาดำที่เห็นทางด้านซ้ายสุดของภาพออกไปอย่างสิ้นเชิงที่เป็นผลทำให้ภาพขาดความมีพลังของภาพเดิม และลดคุณค่าทางความกินตาลงเป็นอันมาก การลบก็รวมไปถึงปลาด้านหลังของโจนาห์และรายละเอียดของกรอบสถาปัตยกรรมรอบภาพด้วย

ตา

การสูญเสียความลึกของภาพมิใช่เป็นเพียงประเด็นเดียวของนักวิจารณ์ติง สิ่งที่สำคัญของงานเขียนของมีเกลันเจโลในบรรดาสิ่งที่หายไปอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนลูกตาดำ[26]

การสูญเสีย"สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ" ที่ระบุโดยผู้ต่อต้านการปฏิสังขรณ์ ช่องเจสสีก่อนและหลังการปฏิสังขรณ์ ที่ลูกตาหายไปพร้อมกับตัวประกอบย่อยอื่น ๆ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นบรรพบุรุษ ตาของตัวแบบหลักของภาพต่าง ๆ มักจะเขียนเมื่อปูนเปียก แต่ถ้ายังไม่ได้เขียนก็จะมาเขียนเมื่อปูนแห้ง แต่ถ้าเขียนด้วยวิธีหลังก็จะถูกลบออกไปโดยผู้ปฏิสังขรณ์[26]

ลูกตาของตัวแบบเป็นองค์ประกอบสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียง เช่นในภาพ "การสร้างอาดัม" ที่อาดัมทอดสายตาไปยังพระเจ้าและพระองค์ทอดพระเนตรตรงลงมายังอาดัม และภายในอ้อมพระกรที่ปกป้อง อีฟชายตาไปยังอาดัมผู้ที่จะมาเป็นสามีในอนาคตด้วยความชื่นชม มีเกลันเจโลเขียนการมองการชายตาที่สื่อความรู้สึกให้กับตัวแบบต่าง ๆ ที่เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนใหญ่เป็นการเขียนขณะที่ปูนยังเปียกซึ่งทำให้รอดมาได้จากการปฏิสังขรณ์ แต่ดวงตาที่สื่อความรู้สึกของบางภาพก็สูญหายไป เบ้าตาของครอบครัวโซโรบาเบล (Zorobabel) ผู้เป็นข้าหลวงของยูดาห์ในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกก็กลวงเช่นเดียวกับบุรุษในโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกอมินาดับ (Aminadab) แต่การลบลูกตาที่ทำให้ผู้ต่อต้านเดือดดาลมากที่สุดคือการลบลูกตาจากตัวแบบสีเขียวและขาวผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมองออกมาจากโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกเจสสี (Jesse)

อาร์กิมเบากล่าวว่า:

เคยรู้สึกกันไหมว่าบางอย่างมีความอยู่ยงคงกระพันและเป็นแรงบันดาลใจอยู่ตลอดมา? สิ่งนั้นก็คือโบสถ์น้อยซิสทีนที่ปัจจุบันถูกปอกแรงบันดาลใจอันสูงส่งออกจนหมดสิ้นด้วยสารเคมี และดูไม่เหมาะกับสถานที่... หน้าที่ของผู้ปฏิสังขรณ์คือการไม่เปลี่ยนแปลงจุดประสงค์ของศิลปิน แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ดูเหมือนจะช่วยตนเองไม่ได้ ใครเล่าจะสนใจว่าโคลาลุชชิเป็นผู้พบว่ามีเกลันเจโลคือรงคจิตรกร (colorist) และสามารถอธิบายถึงแนวโน้มการใช้สีของจาโคโป ปอนตอร์โม หน้าที่ของโคลาลุชชิคือการอนุรักษ์ให้ภาพเขียนติดอยู่บนเพดานและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไปแตะต้อง ในการเปรียบเทียบระหว่างภาพของบริเวณที่บูรณะแล้วและบริเวณที่ยังไม่ได้บูรณะก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์อย่างเห็นได้ชัดว่าโคลาลุชชิลอกส่วนที่เขียนเมื่อปูนแห้งออกและทิ้งบางบริเวณอื่นไว้อย่างบาง ๆ และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อบรรดาสิ่งต่าง ๆ เป็นอันมาก

– อาร์กิมเบา[19]

ริชาร์ด เซอร์รินในบทความชื่อ "ความหลอกลวงและความผิด, โบสถ์น้อยซิสทีนของโบสถ์น้อยซิสทีนของจานลุยจิ โคลาลุชชิ อภิปรายรอบสอง" กล่าวว่า:

การปฏิสังขรณ์ที่เรียกว่าการปฏิสังขรณ์อันเลิศเลอของจิตรกรรมฝาผนังโดยมีเกลันเจโลเป็นการทำลายงานจิตรกรรมโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เราจะกล่าวต่อไปก็ไม่สามารถนำงานนี้กลับมาได้อีก แต่สิ่งที่ทำได้คือการบันทึกถึงความผิดพลาดของคณะผู้ปฏิสังขรณ์วาติกันเพื่อที่จะให้ทราบว่าเป็นสิ่งทราบกันว่าเกิดขึ้น

– ริชาร์ด เซอร์ริน[26]

ใกล้เคียง

การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน การบูร การบูชาเทวรูป การบูร (พรรณไม้) การบูชาพระคัมภีร์ การบินไทย การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–98) การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การบุกครองโปแลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน http://search.atomz.com/search/?sp_i=1&sp_q=Sistin... http://findarticles.com/p/articles/mi_qn4158/is_20... http://mimsstudios.com/richardserrinarticle.pdf http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9D0... http://www.robertfulford.com/restore.html http://www.oberlin.edu/alummag/oamcurrent/oam_fall... http://www.arguimbau.net/article.php?sid=8 http://www.arguimbau.net/images/articles/Sistina_C... http://www.artwatchinternational.org/articles/inde...