บริบท ของ การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง

สถานะชนกลุ่มน้อยฮังการีและรูซึนในเชโกสโลวาเกีย

เชโกสโลวาเกียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งหนึ่งในทวีปยุโรปสมัยระหว่างสงคราม เช่นเดียวกับยูโกสลาเวีย ทำให้ในบางครั้งจึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีขนาดเล็ก[1] จากประชากรทั้งหมด 13,600,000 คนที่ลงทะเบียนในการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 1921 มีเพียง 50.4 % ที่เป็นชาวเช็ก และ 15 % เป็นชาวสโลวัก ในขณะที่ 23.4 % เป็นชนกลุ่มน้อยเยอรมัน 3.5 % เป็นชาวรูซึน และอีก 5.6 % เป็นชาวฮังการีและอื่น ๆ[1] ซึ่งชาวรูซึนและฮังการีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาครูทีเนียและสโลวาเกีย[1] โดยสำหรับสโลวาเกียนั้นมีชาวฮังการีอาศัยอยู่เป็นจำนวน 637,000 คน และชาวรูซึน 86,000 คน (คิดเป็น 21.5 % และ 2.9 % ของจำนวนประชากรในภูมิภาค ตามลำดับ)[1] ในภูมิภาครูทีเนียมีชาวรูซึนอาศัยอยู่เป็น 373,000 คน (61.2 %) และชาวฮังการี 192,000 คน (17 %)[1] โดยทั้งสองภูมิภาค ชนกลุ่มน้อยจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็ก: ชาวฮังการีกระจุกตัวอยู่บริเวณที่ราบทางตอนใต้ ในขณะที่ชาวรูซึนจะอาศัยอยู่พื้นที่ภูเขามากกว่า[1] สโลวาเกียมีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ เนื่องจากการรวมสโลวาเกียเข้ากับสาธารณรัฐใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเป็นเพราะเหตุผลจากทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม[2] และสำหรับภูมิภาครูทีเนียถูกผนวกเข้ากับเชโกสโลวาเกียเนื่องด้วยคำร้องขอจากผู้อพยพชาวรูซึนในสหรัฐ[2]

สถานะทางกฎหมายของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกียมีความไม่ชัดเจน: ในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แลได้มอบสัญชาติแก่ชาวฮังการี แต่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1920 อนุญาตให้เฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเชโกสโลวาเกียใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เท่านั้น[3] ซึ่งข้อจำกัดนี้ส่งผลให้ชาวฮังการีประมาณ 56,000–106,000 คน อพยพไปยังฮังการี[3] นอกจากนี้ยังมีชาวฮังการีประมาณ 15,000–100,000 คน ที่ถูกละทิ้งให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ[3] ในทางตรงกันข้าม ชาวรูซึนได้รับอิสรภาพทางดินแดนโดยปฏิบัติในรัฐเชโกสโลวาเกีย[4]

กฎหมายเชโกสโลวาเกียอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยได้รับการศึกษาในภาษาของตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งหมายความว่า 86.4 % ของนักเรียนชาวฮังการีระดับประถมศึกษาได้รับการศึกษาในภาษาแม่ของพวกเขา เช่นเดียวกับ 72 % ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่ขณะเดียวกันในเชโกสโลวาเกียไม่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สำหรับชาวฮังการี[4] อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การรับรู้ของชาวฮังการีต่อสถานการณ์การศึกษาของพวกเขาเลวร้ายลง เนื่องด้วยจำนวนโรงเรียนของชาวฮังการีถูกลดลงถึงสองในสาม มหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาฮังการีถูกยกเลิก และประกาศนียบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยในฮังการีไม่ได้รับการยอมรับในเชโกสโลวาเกีย[5] ชนกลุ่มน้อยฮังการีส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายวัฒนธรรมของรัฐบาลเชโกสโลวาเกียและพรรคของชาวฮังการีทุกพรรคในประเทศ โดยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพรมแดนในอนาคต ซึ่งจะทำให้สโลวาเกียและรูทีเนียบางส่วนหรือทั้งหมดกลับคืนสู่ฮังการี[6] พรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงข้างน้อยประมาณครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาติดต่อกัน[6] ชนชั้นนำฮังการีในยุคจักรวรรดิ (เจ้าของที่ดิน นักบวช ทนายความ ข้าราชการ ครู และประชากรชาวยิวส่วนหนึ่ง) แสดงท่าทีต่อต้านรัฐใหม่และมักจะเข้าควบคุมในฐานะผู้นำพรรคการเมืองของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกีย[6] ชาวนาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่และได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจในรัฐใหม่ ก็ยังคงสนับสนุนการกลับคืนสู่ฮังการีต่อไป[7]

ในส่วนของชาวรูซึน แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากเชโกสโลวาเกีย เพียงแค่พวกเขาต้องการปฏิรูปรัฐบาล เพื่อขยายอำนาจการปกครองตนเองและเพิ่มขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของรูทีเนีย โดยการตัดทอนพื้นที่บางส่วนจากสโลวาเกียไป[7] อำนาจการปกครองตนเองนั้นเป็นไปในทางปฏิบัติสำหรับฝ่ายตุลาการในรูทีเนีย และผู้ว่าราชการประจำรูทีเนียก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่ารองผู้ว่าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางปราก[8] อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลมีมากกว่านั้นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่า[9] ถึงแม้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะสามารถสร้างอิทธิพลขึ้นได้เป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1929 อันเป็นผลจากการปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้ฝ่ายค้านรัฐบาลเริ่มกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง[10]

ความปรารถนาของฮังการี

การสูญเสียดินแดนของฮังการีตามสนธิสัญญาทรียานงใน ค.ศ. 1920 รัฐบาลฮังการีหลายชุดในสมัยระหว่างสงครามได้เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การฟื้นฟูดินแดนเหล่านี้เป็นหลัก

ฮังการีสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง[11] ซึ่งหนึ่งในดินแดนที่สูญเสียไปคือสโลวาเกียและรูทีเนีย ที่ถูกมอบให้เชโกสโลวาเกีย[11] โดยวัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศของฮังการีในช่วงระหว่างสงครามคือการฟื้นฟูดินแดนทั้งหมดหรือบางส่วนที่สูญเสียไปหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[11]

มีการเกิดขึ้นของสองกระแสการเมืองในหมู่ผู้นำฮังการีสำหรับการบรรลุเป้าหมายของลัทธิปฏิรูปนิยม โดยกระแสหนึ่งสนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีเพื่อใช้อำนาจโดยตรงในการแก้ไขสนธิสัญญาทรียานง และอีกกระแสหนึ่งสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งสนับสนุนการสร้าง "ขั้วอำนาจที่สามของยุโรป" อันมีพันธมิตรร่วมคืออิตาลี ฮังการี และโปแลนด์ เพื่อบีบบังคับให้เชโกสโลวาเกียยอมจำนนและถ่วงดุลอำนาจของเยอรมนีในเวลาเดียวกัน[12] ในช่วงต้น ค.ศ. 1938 รัฐบาลวอร์ซอและบูดาเปสต์ต้องการที่จะสร้างพรมแดนร่วมกัน[หมายเหตุ 1] เนื่องจากความเป็นไปได้ในการผนวกออสเตรียของเยอรมนี เพื่อรับประกันความเป็นเอกราชระหว่างสองประเทศ[12]

จากเหตุการณ์อันชลุสและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมนี ทำให้ฮังการีพยายามใช้โอกาสนี้ในการกู้คืนดินแดนในอดีต[13] ทางสันนิบาตปฏิรูปนิยมฮังการีได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1938 เพื่อเรียกร้องการปฏิบัติแก่ชนกลุ่มน้อยฮังการีในเชโกสโลวาเกียเหมือนดังที่เยอรมนีได้เรียกร้องในเวลาเดียวกัน[13] และเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเยอรมนีมากเกินไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีจึงพยายามขอความร่วมมือจากอิตาลี ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย และโปแลนด์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย[13] ในการเจรจากับประเทศภาคีน้อย (Little Entente) มีการยินยอมที่จะลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการเคารพชนกลุ่มน้อย ยกเลิกการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย และยอมรับสิทธิของฮังการีในสร้างเสริมกำลังอาวุธใหม่ โดยทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตกลงเบลต (Bled agreement) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเชโกสโลวาเกียไม่ได้ลงนาม[14] อย่างไรก็ตาม ทางเบอร์ลินได้รับรู้ถึงความตกลงดังกล่าวที่รัฐบาลฮังการีปฏิเสธการใช้กำลังในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างเบอร์ลินและปรากเริ่มสูงขึ้น โดยสิ่งนี้ถือเป็นการแสดงท่าทีถึงความเป็นอิสระของนโยบายต่างประเทศฮังการี ซึ่งนั่นทำให้เยอรมนีไม่พอใจเป็นอย่างมาก[15]

ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องให้ผู้นำฮังการีที่ขณะนั้นมาเยือนเบอร์ลินเข้าร่วมในการกดดันเชโกสโลวาเกีย[16] ฮิตเลอร์ตั้งใจที่จะรุกรานประเทศโดยใช้การลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุผล และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลบูดาเปสต์สำหรับความช่วยเหลือจากชนกลุ่มน้อยฮังการี[16] การร่วมมือของฮังการีมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับดินแดนกลับคืนมา แม้ว่าฝ่ายเยอรมนีจะมีความไม่ชัดเจนต่อการผนวกดินแดนของฮังการีก็ตาม[16] ถึงแม้จะมีแรงกดดันมหาศาลจากเยอรมนี แต่ฮังการีก็ปฏิเสธแผนการของเยอรมนีอย่างแข็งขัน โดยฮังการีไม่ได้ปฏิเสธการร่วมมือกับเยอรมนี แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะร่วมมือด้วยเช่นกัน[16]

ในทางกลับกัน รัฐบาลฮังการียังคงพยายามประสานข้อเรียกร้องของตนกับโปแลนด์ต่อไป รัฐบาลวอร์ซอได้เสนอว่าทางบูดาเปสต์ควรเรียกร้องให้มีการลงประชามติในทุกดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีเดิม ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่เท่านั้น เพื่อที่จะสร้างพรมแดนร่วมกันระหว่างฮังการี-โปแลนด์[17] ข้อเรียกร้องของโปแลนด์-ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี[17]

ใกล้เคียง

การอนุมาน การอนุรักษ์ทางทะเล การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง การอนุรักษ์นก การอนุรักษ์และบูรณะทรัพย์สินทางวัฒนธรรม การอนุมานแบบอุปนัย การอนุรักษ์ธรรมชาติ การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก

แหล่งที่มา

WikiPedia: การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง http://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/0959229... //doi.org/10.1080%2F09592299908406126 http://www.jstor.org/stable/2495494 http://www.jstor.org/stable/40392004 http://www.jstor.org/stable/40866831 http://www.jstor.org/stable/41036397 http://id.worldcat.org/fast/1918049/ http://www.worldcat.org/oclc/51889 http://www.worldcat.org/oclc/744230 https://aleph.nkp.cz/F/?func=find-c&local_base=aut...