เหตุการณ์ภายหลัง ของ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลงเหลือจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การทำลายกรุงศรีอยุธยา

หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ. 120 ว่า พม่าหักเข้ากรุงได้แล้ว ก็เริ่มเผาเมืองทั้งเมืองใน "เพลาเที่ยงคืน ประมาณสองยามเศษ"[78] เพลิงไหม้ไม่เลือกตั้งแต่เหย้าเรือนราษฎรไปจนถึงปราสาทราชมนเทียร เพลิงผลาญพระนครเป็นเวลาถึงสิบห้าวัน[79] โดยหนังสือพระราชพงศาวดารฯ ดังกล่าว บันทึกว่า "เพลาเที่ยงคืน ประมาณสองยามเศษ เพลิงเกิดในกรุงศรีอยุธยา ไหม้แต่ท่าทราย ตลอดถนนหลวง ไปจนถึงวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ ครั้นได้ทัศนาการเห็นก็สังเวชสลดใจ..."[78] นอกจากการล้างผลาญบ้านเรือนแล้ว ทัพพม่ายังปล้นชิงทรัพย์สินในพระนคร บังคับราษฎรทั้งภิกษุทั้งฆราวาสให้แจ้งที่อยู่ทรัพย์สิน ผู้ขัดขืนต้องเผชิญโทษทัณฑ์ต่าง ๆ แล้วให้จับผู้คน รวมถึงพระราชวงศ์ ข้าราชการ สมณะ ไปคุมขังไว้ โดยพระสงฆ์ให้กักไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนฆราวาสให้ไว้ตามค่ายของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย[80] คำนวณแล้ว ปรากฏว่า เชื้อพระวงศ์ถูกกวาดต้อนไปกว่า 2,000 พระองค์[81] รวมจำนวนผู้ถูกพม่ากวาดต้อนไปนั้นมากกว่า 30,000 คน[82]

ในจำนวนเชลยนี้มีสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรรวมอยู่ด้วย พระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งได้ชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" นอกจากพระเจ้าอุทุมพรแล้ว ยังมีนายขนมต้ม เชลยไทยที่สร้างชื่อเสียงในทางหมัดมวยในเวลาต่อมา

เผาทำลายพระนครแล้ว ทัพพม่าได้พำนักอยู่ ณ ที่นั้นจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2310[83] ก่อนยกกลับประเทศตน โดยประมวลเอาทรัพย์สินและเชลยศึกไปด้วย เนเมียวสีหบดีได้แต่งตั้งให้สุกี้เป็นนายทัพ คุมพล 3,000 คน รั้งทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินตามกลับไปภายหลัง อย่างไรก็ดี หลักฐานพม่ากล่าวตรงกันข้ามกับหลักฐานไทย คือ ทหารพม่ามิได้ฆ่าฟันผู้คนมากมาย เพียงแต่เผาเมือง ริบสมบัติ และจับพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชสำนัก และพลเมืองกลับไปด้วยเท่านั้น[84]

ฝ่ายพระเจ้ามังระทรงพระดำริว่า จะไว้กำลังจำนวนหนึ่งที่กรุงศรีอยุธยา โดยอาจทรงให้อยู่ในบังคับบัญชาของพระราชวงศ์อยุธยาหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของพม่าโดยตรง[43] แต่เผอิญ พม่าเกิดการสงครามกับจีน พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยเรียกกองทัพส่วนใหญ่กลับไปป้องกันมาตุภูมิ และให้คงกองทหารขนาดเล็กไว้ประจำในหลายพื้นที่เท่านั้น[85] กองทัพพม่าที่เหลืออยู่ในอาณาจักรอยุธยาที่เป็นซากไปแล้วนั้นมีอยู่ไม่ถึง 10,000 นาย ซึ่งไม่รับกับอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา กองทัพเหล่านี้จึงมีอำนาจอยู่แต่ในบริเวณค่ายคูประตูหอรบของตนและปริมณฑลเท่านั้น ท้องที่ห่างไกลล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุม ซ้ำบางแห่งกลายเป็นซ่องโจรไปเสีย[85]

แม้ว่าพม่าจะได้ชายฝั่งตะนาวศรีตอนล่างมาเป็นของตนก็ตาม แต่พม่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญในอันที่จะพิชิตคนไทยและควบคุมดินแดนโดยรอบทั้งสิ้น เพราะคนไทยภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นแรงหนุนเหล่ากบฏในล้านนาและพม่าตอนล่างได้ดีกว่าเดิม ประกอบกับพม่าสูญเสียความสามารถในการรบลงมากหลังผ่านพ้นสงครามกับสยาม ทั้งต้องรบกับจีนอีกหลายปี[86][87]

สภาพจลาจล

เส้นทางเดินทัพของพระยาตากเพื่อกอบกู้เอกราช

ภายหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา เพื่อความอยู่รอด ทำให้เกิดชุมนุมทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็น "รัฐบาลธรรมชาติ" ขึ้นมาในท้องถิ่นทันที ส่วนรัฐบาลธรรมชาติเหล่านี้เกิดจากการที่บรรดาเจ้าเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามมากนักได้ตั้งตนเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลของตน เรียกว่า "ชุมนุม" หรือ "ก๊ก" ซึ่งมีจำนวน 4-6 แห่ง นับว่ารัฐไทยเกือบสิ้นสลายไปเพราะไม่อาจรวมกันเป็นปึกแผ่นได้อีก[9]

เป็นเวลาไล่เลี่ยกับการตั้งตนเป็นใหญ่ของพระยาตากแถบเมืองจันทบุรี, การขับไล่ทหารพม่าที่หลงเหลืออยู่ในดินแดนอยุธยาออกไปทั้งหมด, การปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ของคนไทย พร้อมกับย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี อย่างไรก็ตาม สภาวะความวุ่นวายทางการเมืองยังดำเนินอยู่ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนกระทั่งคนไทยเริ่มกลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้งเมื่อย่างเข้าสมัยรัตนโกสินทร์

ปัญหาทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบโดยตรงของสงครามคราวเสียกรุงครั้งนี้ คือ การเกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[88] ทหารพม่าได้ทำลายไร่นาสวนในภาคกลาง ราษฎรไม่มีโอกาสทำมาหากินอย่างปกติ ซ้ำยังทำให้เศรษฐกิจของรัฐไทยตกต่ำอย่างหนักด้วยการปล้นท้องพระคลัง เผาบ้านเรือน วัด และสถานที่ราชการทั้งหลาย ทั้งนี้ ในระหว่างการทัพเองก็มีเรือต่างประเทศจะนำเสบียงและยุทธภัณฑ์มาช่วยเหลืออยุธยา แต่ทัพเรือพม่าก็ขัดขวางจนมิอาจให้ความช่วยเหลือได้[88]

ความเสื่อมโทรมหลายประการในภายหลังก็มีสาเหตุมาจากการปล้นทรัพย์สมบัติของพม่าเมื่อคราวเสียกรุง เช่น มะริดและตะนาวศรีตกเป็นเมืองท่าของพม่าอย่างเด็ดขาด การค้าขายกับชาวตะวันตกจึงเสื่อมโทรมลง อีกทั้งยังทำให้การทหารของชาติอ่อนแอลงจากการสูญเสียปืนน้อยใหญ่เรือนหมื่นที่พม่าขนกลับบ้านเมืองไปด้วย[89] นอกจากนี้ ยังมีประชากรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ละทิ้งบ้านเรือนหนีภัยสงครามเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในเวลาต่อมา[90]

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียดินแดนของไทย การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์