ขันทีจำแนกตามประเทศ ของ ขันที

จีน

ขันทีจีนยุคสุดท้ายแห่งราชสำนักชิง

ขันทีในจีนจะเรียกว่า ฮ่วนกวน (อักษรจีน: 宦官; พินอิน: huànguān) ไท่เจี้ยน (อักษรจีน: 太监; พินอิน: Tàijiàn) ทำงานหลายอย่างที่สตรีเพศทำไม่ได้ ในพระราชวังในจีนมีหน้าที่ควบคุมนางในฝ่ายพระราชฐาน และบางครั้งจะขับลำนำถวายฮ่องเต้ก่อนเข้าที่บรรทม นอกจากเรื่องทางโลกแล้ว ขันทียังมีหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับฮ่องเต้ในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งในบางยุคสมัยก็เป็นเพราะขันทีที่เอาแต่ปรนเปรอฮ่องเต้จนบ้านเมืองอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพจนนำมาสู่การล่มสลายของบ้านเมือง เช่น ยุคสามก๊ก หรือ ปลายราชวงศ์หมิง หรือ ปลายราชวงศ์ชิง เป็นต้น[3]

เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยิน (1,324 –1,066 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นชื่อเรียกของราชวงศ์ซาง หลังย้ายเมืองหลวงไปเมืองยิน ซึ่งปัจจุบันคือเมืองอันหยัง ในมณฑลเหอหนาน) จากหลักฐานบนกระดองเต่ามีตัวหนังสือจีนโบราณอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'การตัดองคชาต' และ คำว่า ‘羌 ’(อ่านว่าเชียง) บนกระดองเต่ากล่าวไว้ว่า อู่ติงหวัง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยิน (1,254 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้มีรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของหนุ่มชาวเชียง ที่ถูกจับมาเป็นเชลย และให้นำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ต่อมาในรัชสมัยของมู่หวัง (976-920 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจว จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิอิงจง (ค.ศ. 1457-1464) แห่งราชวงศ์หมิง ปรากฏหลักฐานว่า มีการลงโทษ ด้วยการตัดอวัยวะเพศ หรือที่เรียกกันว่าการลงโทษของราชสำนัก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความทารุณนี้ ได้แก่ เชลยศึก ข้าราชการที่จักรพรรดิไม่ทรงพอพระทัย หรือแม้แต่ลูกชายของชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกนำมาเป็นทาสของบรรดาผู้ปกครอง

ต่อมาในสมัยกวงบู๊ ค่านิยมเปลี่ยนไป ผู้ชายที่รับใช้ในวังต้องเป็นขันที ถือว่าเป็นคนที่มีหน้ามีตามาก พอถึงยุคสมัยราชวงศ์สุย ทางการยกเลิกโทษการตอน ดังนั้นคนที่เป็นขันทีต้องตอนตัวเอง

ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง (ค.ศ. 1644-1911) สองราชวงศ์สุดท้ายของจีน กลับมีชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย สมัครใจเข้าเป็นขันที ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความยากจน โดยขันทีคนสุดท้ายของจีนคือซุนเหย้าถิง เขาเกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ (ค.ศ. 1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง[4]

ไทย

นักเทษขันทีช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา โพกศีรษะแต่งกายอย่างแขก

ในประเทศไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีร่องรอยที่ทำให้เห็นว่ามีขันทีมาก่อนโดยในสมัยอยุธยาเรียกขันทีว่า นักเทษขันที (บ้างเขียน นักเทศขันที) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า นักเทษ และ ขันที คงเป็นขุนนางชายที่ถูกตอนเหมือนกัน มีเพียง ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร อธิบายไว้ว่า คือฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) นั้นรับราชการฝ่ายขวา ส่วนอีกฝ่ายที่เรียกว่า ขันที นั้นรับราชการฝ่ายซ้าย มีข้อสันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณให้ขันทีอยู่ในสังกัดของฝ่ายใน และไม่ทรงเปิดโอกาสให้นักเทษขันทีมีส่วนร่วมในราชการฝ่ายหน้า[5] อย่างไรก็ตามนักเทษขันทียังคงดำรงอยู่จนสิ้นกรุงศรีอยุธยา[5] และถูกยกเลิกลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งราชวงศ์จักรี[5]

ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า "ขันที" ว่าน่าจะมาจากคำว่า "ขณฺฑ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า "ทำลาย" และกินความหมายไปถึง “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น”[5] และคนไทยได้แผลงคำว่า ขณฺฑ เป็น ขณฺฑี ในการเขียน[5]

พม่า

ในพม่าและยะไข่ ขันทีจะมีหน้าที่ในการดูและฝ่ายในและจำทูลพระราชสาสน์[5] นอกจากนี้ชาวมอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า "ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ"[5]

เกาหลี

ในอาณาจักรแถบคาบสมุทรเกาหลีได้มีระบบขันทีเช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า แนซี (เกาหลี: 내시; 內侍) ซึ่งทำหน้าที่สนองพระราชบัญชาพระมหากษัตริย์และเหล่าเชื้อพระวงศ์ ซึ่งปรากฏการมีอยู่ของขันทีครั้งแรกใน "โครยอซา" (เกาหลี: 고려사; 高麗史 "ประวัติศาสตร์โครยอ") ซึ่งบันทึกเรื่องราวช่วงยุคโครยอ และต่อมาในยุคราชวงศ์โชซอน ระบบแนซีได้ถูกแก้ไข และเปลี่ยนแปลงเรียกว่า กรมแนซี (เกาหลี: 내시부; 內侍府)[6]

ระบบแนซี จะมีสองระดับคือ ซังซ็อน (เกาหลี: 상선; 尙膳 "หัวหน้าขันที") รงลงมาคือ แน-กวัน (เกาหลี: 내관; 內官 "ขันทีพนักงานสามัญ") ทั้งสองตำแหน่งถือว่าสูงกว่าขันทีทั่วไป ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่จำนวน 140 นายประจำอยู่ตามพระราชวัง และขันทีทุกคนจะต้องสอบปรัชญาขงจื๊อในทุก ๆ เดือน[6] ภายหลังระบบขันทีได้ถูกยกเลิกลงในปี พ.ศ. 2437 หลังเกิดการปฏิรูปกาโบ (เกาหลี: 갑오 개혁; 甲午改革)

ตามตำนานกล่าวไว้เกี่ยวกับการตอนความว่า เบื้องต้นต้องทาอุจจาระของมนุษย์ลงบริเวณอวัยวะเพศของเด็กน้อยแล้วให้สุนัขกัดอวัยวะเพศจนขาด[7] ต่อมาในยุคราชวงศ์หยวน ขันทีได้กลายเป็นสินค้าชั้นดี และการตอนด้วยสุนัขก็ถูกแทนที่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น[8]

เวียดนาม

ในยุคราชวงศ์จาง (เวียดนาม: Nhà Trần; 陳朝) ได้ทำการส่งขันทีเด็กชาวเวียดนามเป็นเครื่องบรรณาการแก่จีนในยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 1926, 1927 และ 1928[9] และปรากฏหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของขันทีในอดีต นั่นคือบทกวีวิพากษ์วิจารณ์เหล่าขุนนาง ซึ่งถูกรจนาโดยกวีหญิง โห่ ซวน เฮือง (เวียดนาม: Hồ Xuân Hương; 胡春香) อันปรากฏเนื้อความตอนหนึ่งล้อเลียนเหล่าขันที[10]

อินโดนีเซีย

ในยุคก่อนรับศาสนาอิสลาม อินโดนีเซียเคยมีขันทีคอยรับใช้ในวงศ์กษัตริย์ชวาซึ่งนับถือศาสนาฮินดู-พุทธ กล่าวกันว่ากษัตริย์ชวามีพระมเหสีและนางห้ามเป็นจำนวนมาก จึงมีขันทีซึ่งแต่งกายแบบหญิงนับพันคอยถวายงานรับใช้[11]

ออตโตมัน

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

แหล่งที่มา

WikiPedia: ขันที http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t... http://books.google.com/?id=S3Y2PTI_vYYC&pg=PA137&... http://books.google.com/?id=U-fc5X0cUjwC&pg=PA280&... http://100.naver.com/100.nhn?docid=367722 http://www.okls.net/thaijeen14.html http://www.gotoknow.org/posts/151017 http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.matichon.co.th/youth/youth.php?tagsub=0... https://books.google.com/books?id=Ka6jNJcX_ygC&pg=... https://books.google.com/books?id=jzUz9lKn6PEC&pg=...