เครือญาติ ของ ครอบครัวของพระโคตมพุทธเจ้า

ฝ่ายพุทธบิดา

กัญจนา

กัญจนา เป็นพระราชธิดาของเทวทหสักกะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระขนิษฐาของอัญชนะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะลำดับถัดมา ด้วยเหตุนี้นางจึงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (อา) ของสิริมหามายา และมหาปชาบดีโคตมี กัญจนาอภิเษกสมรสกับสีหหนุ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ ได้แก่ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา กัญจนาจึงเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนก (ย่า) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]

กาฬิโคธา

กาฬิโคธา เป็นนางสากิยานีแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ไม่ปรากฏนามบรรพชน ทราบแต่เพียงว่าเป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งไม่ปรากฏนามของสามี นางมีบุตรคนหนึ่งชื่อ ภัททิยะ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นราชาหรือเจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ แต่ภายหลังได้สละตำแหน่งเพื่อออกบวชในพระพุทธศาสนา[49] ใน กาฬิโคธาสูตร ระบุว่านางมีความศรัทธาในพระบรมศาสดาอย่างยิ่ง มีอุปนิสัยดี ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มักบริจาคทานอยู่เป็นนิจศีล ซึ่งนางกาฬิโคธามีธรรมเหล่านั้นอยู่กับตัว พระพุทธองค์กล่าวชมเชยว่านางเป็นโสดาบัน และเข้าถึงการตรัสรู้ได้เป็นแน่[50][51]

กิมพิละ

บทความหลัก: พระกิมพิลเถระ
เจ้าชายสักกะและโกลิยะทั้งห้าพระองค์ขอบวชกับพระพุทธเจ้าที่แคว้นมัลละพุทธองค์ขณะเสด็จออกจากพระนิเวศน์ม้ากัณฑกะและนางฟ้อนที่กำลังหลับไหลพระพุทธเจ้าขณะแสดงธรรมต่อหน้าพระสงฆ์และสาวก

กิมพิละ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ อุนุรุทธะได้ชักชวนกิมพิละออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ ภัททิยะ อุนุรุทธะ ภัคคุ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] เมื่อสิ้นสุดพรมแดนแคว้นสักกะแล้ว เหล่าเจ้าชายทั้งห้าก็เปลื้องเครื่องประดับมีค่าออก มอบให้อุบาลีนำไปขาย แต่อุบาลีไม่ยินยอมขอออกบวชด้วย ทั้งหมดจึงทิ้งเครื่องประดับเหล่านั้นไว้ใต้ต้นไม้ แล้วเดินทางขอบวชกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิมพิละมุ่งบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุพระอรหันต์[54][55]

กิสาโคตมี

กิสาโคตมี เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า ทราบว่ามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นพระธิดาของพระเจ้าอาแต่ไม่ปรากฏพระนามว่าเป็นพระองค์ใด[56] (คนละท่านกับกีสาโคตมีผู้ภิกษุณี)[57] นางเสกสมรสกับสุกโกทนะ พระอนุชาของสุทโธทนะ มีพระโอรสด้วยกันเพียงพระองค์เดียวคือ อานนท์[58] กิสาโคตมีปรากฏในพุทธประวัติช่วงต้น ว่าหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบกับเทวทูตและเสด็จกลับไปยังพระนครในช่วงเย็น ก็สดับพระคาถาที่กิสาโคตมีภาษิตไว้ว่า[56]

พระราชกุมารผู้เช่นนี้ เป็นพระราชโอรสแห่งพระชนนี
พระชนก และเป็นพระสวามีของนางใด ๆ พระชนนี
พระชนก และพระนางนั้น ๆ ดับ (เย็นใจ) แน่แล้ว

หลังสดับภาษิตดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเปลื้องแก้วมุกดาหารที่พระศอ ส่งประทานแก่กิสาโคตมี แล้วกลับไปที่ประทับ ในคืนนั้นเอง พระองค์เกิดความเบื่อหน่ายเมื่อทอดพระเนตรนางฟ้อนที่กำลังหลับไหลด้วยท่าทางแปลก ๆ จึงเสด็จออกพร้อมฉันนะและม้ากัณฑกะ แล้วออกผนวชริมฝั่งแม่น้ำอโนมา[56]

นันทิยะ

นันทิยะ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร เคยเข้าไปสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[59]

นาคมณฑา

นาคมณฑา หรือ นาคบุณฑา เป็นนางทาสีซึ่งถือเป็นหญิงชั้นต่ำ นางตั้งครรภ์กับมหานามะ เจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ มีธิดาด้วยกันคนเดียว คือ วาสภขัตติยา ผู้มีรูปโฉมงดงาม อย่างไรก็ตามทั้งนาคมณฑา วาสภขัตติยา และวิฑูฑภะ ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน ต่างถูกเลือกปฏิบัติอันเกิดจากการแบ่งชั้นวรรณะในเครือญาติศากยวงศ์[60][61][62]

ภัคคุ

บทความหลัก: พระภัคคุเถระ

ภัคคุ หรือ ภคุ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ อุนุรุทธะได้ชักชวนภัคคุออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ ภัททิยะ อุนุรุทธะ กิมพิละ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52] พระพุทธเจ้าเคยให้การชื่นชมการอยู่โดดเดี่ยวของภัคคุ[53]

ภัททิยะ

ภัททิยะ หรือ ภัททิยกาฬิโคธาบุตร ชนนีเป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้าแต่ไม่ปรากฏนามของบรรพชน[63] เป็นพระโอรสของนางกาฬิโคธา หญิงในวงศ์สักกะ แต่ไม่ปรากฎนามบิดา เมื่อจำเริญวัยภัททิยะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นราชาหรือเจ้าผู้ครองของแคว้นสักกะ กระทั่งอนุรุทธะชี้ชวนให้ภัททิยะออกบวชด้วย เบื้องต้นภัททิยะไม่พอใจที่จะบวช แต่ก็ตัดใจยอมบวช โดยสละตำแหน่งราชาของตน[49] แล้วออกบวชพร้อมกับอุนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ อานนท์ เทวทัต และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] ทว่าเมื่อบวชแล้วภัททิยะก็สามารถบรรลุอรหันต์ได้อย่างรวดเร็ว ครั้นเมื่อบำเพ็ญพรตในป่า ภัททิยะมักกล่าวว่า "สุขหนอ ๆ" อยู่เป็นนิจศีล จนพระบรมศาสดาเปล่งวาจาชมเชย[49]

มหานามะ

บทความหลัก: พระเจ้ามหานามะ

มหานามะ หรือ มหานาม[64] เป็นพระโอรสของอมิโตทนะ[65] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ เขามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหานามะมีพระอนุชาคือ อนุรุทธะ และพระขนิษฐาคือ โรหิณี[58] มหานามะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นราชาของแคว้นสักกะ[64] เขามีพระธิดากับนางทาสีชื่อนาคมณฑา คือ วาสภขัตติยา ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นพระอัครมเหสีของปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งอาณาจักรโกศล[68] มหานามแม้จะไม่ได้ออกผนวช แต่ก็เป็นอุบาสกที่มีศรัทธาแก่กล้า ด้วยเป็นเอตทัคคะด้านการถวายของประณีต[64]

โรหิณี

โรหิณี เป็นนางสากิยานีแห่งกบิลพัสดุ์ เป็นพระธิดาของอมิโตทนะ[58] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ นางมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางเป็นขนิษฐาของมหานามะ และอนุรุทธะ[58] โรหิณีประชวรด้วยโรคผิวหนังจึงละอายพระทัยไม่ออกนอกพระตำหนัก นางทำได้เพียงแต่นำเครื่องประดับอันมีค่าของตนออกขายแล้วนำเงินนั้นมาทำบุญแก่พระพุทธศาสนาเพื่อสร้างโรงฉันและภัตตาหาร พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่โรหิณีและผู้คนว่าให้พึงระงับความโกรธลง[69] หลังจากนั้นนางบรรลุถึงโสดาบัน และผิวพรรณที่เคยป่วยโรคนั้นก็กลับมางดงามดุจทองคำ[70][71][72]

วัปปะ

วัปปะ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร ทราบแต่เพียงว่ามีศักดิ์เป็นอาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดิมเป็นสาวกนิครันถ์ ได้เข้าไปสนทนาธรรมกับพระมหาโมคคัลลานะ แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปอธิบายธรรม วัปปะก็บรรลุธรรมและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[73]

วาสภขัตติยา

วาสภขัตติยา เป็นนางสากิยานีแห่งกบิลพัสดุ์ เป็นพระธิดาของมหานามะ ที่ประสูติแต่นางนาคมณฑา ซึ่งเป็นนางทาสี[74][75] แม้จะเกิดแต่มารดาสกุลต่ำแต่ก็มีรูปงาม แต่เพราะมีมารดาเป็นนางทาสีนี้เองที่ทำให้ศากยวงศ์ล้วนรังเกียจเดียดฉันท์นาง[60][62] เมื่อวาสภขัตติยามีพระชันษาได้ 16 ปี ก็ได้เข้าเป็นพระอัครมเหสีของปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศล[62][68] มีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งคือ วิฑูฑภะ หรือ วิฏฏุภะ ครั้นเมื่อปเสนทิโกศลทราบว่าวาสภขัตติยามีมารดาเป็นทาสีจึงปลดนางออกจากตำแหน่ง รวมทั้งปลดวิฑูฑภะออกด้วยเช่นกัน แต่ทั้งสองยังคงประทับอยู่ในพระราชวังของปเสนทิโกศล[61]

วิฑูฑภะ

บทความหลัก: วิฑูฑภะ

วิฑูฑภะ เป็นพระราชโอรสของปเสนทิโกศล กับวาสภขัตติยา ด้วยความที่มีพระราชชนนีสืบสันดานจากทาสจึงทำให้เขาถูกรังเกียจเดียดฉันท์ทั้งจากเครือญาติศากยวงศ์ที่ไม่ร่วมสนิทสมาคม[60][76] หรือแม้แต่พระราชชนกที่เคยปลดพระองค์และวาสภขัตติยาออกจากตำแหน่งมาแล้ว[61] ต่อมาเมื่อวิฑูฑภะขึ้นเสวยราชสมบัติอาณาจักรโกศลแล้ว หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ไม่นาน วิฑูฑภะได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นสักกะและโกลิยะ เอกสารพุทธอธิบายว่าวิฑูฑภะไปฆ่าล้างวงศ์ด้วยการเชือดคอแล้วนำเลือดของพวกศากยะมาล้างไม้กระดาน ด้วยผูกใจเจ็บว่าพวกศากยะเคยนำน้ำเจือน้ำนมมาล้างไม้กระดานที่พระองค์และวาสภขัตติยะเคยนั่ง[60] ซึ่งในความเป็นจริง การรุกรานดังกล่าวอาจเกิดจากการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของวาสภขัตติยาผู้ชนนี จึงกลายเป็นแรงจูงใจให้วิฑูฑภะยกทัพไปตีดินแดนทั้งสอง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวสักกะได้ถูกผนวกเข้าเป็นประชากรของอาณาจักรโกศล มีบางครอบครัวที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของตระกูลศากยะไว้ได้ ขณะที่ชาวโกลิยะเองกลับถูกกลืนไปจนหมดสิ้นหลังการผนวกดินแดน[77][78]

สรกานิ

สรกานิ เป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบุตรของใคร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยทำนายไว้ว่าจะได้ไปเกิดเป็นโสดาบัน และจะตรัสรู้ได้ในเบื้องหน้า[79] เพราะแต่เดิมสรกานิโปรดเสวยน้ำจัณฑ์ และเพิ่งสมาทานศาสนาพุทธก่อนที่จะสิ้นพระชนม์[80] มหานามะและเจ้าศากยวงศ์พระองค์อื่นมองว่าสรกานิยังไม่บริบูรณ์ในสิกขา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดสินว่า สรกานิเป็นผู้บริบูรณ์ในสิกขาในเวลาจะสิ้นพระชนม์[79]

สีหหนุ

บทความหลัก: พระเจ้าสีหหนุ

สีหหนุ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นสักกะ เป็นพระราชโอรสของชัยเสน เจ้าผู้คนแคว้นสักกะองค์ก่อน สีหหนุอภิเษกสมรสกับกัญจนา พระราชธิดาเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 7 พระองค์ ได้แก่ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา สีหหนุจึงเป็นพระอัยกาฝ่ายพระชนก (ปู่) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]

สุกโกทนะ

สุกโกทนะ เป็นพระราชโอรสลำดับที่สองของสีหหนุกับกัญจนา เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุกโกทนะเสกสมรสกับนางกิสาโคตมี มีพระโอรสด้วยกันหนึ่งคนคือ อานนท์[1][58] แต่บางเอกสารระบุว่ามหานามะ อนุรุทธะ กับโรหิณี เป็นพระบุตรของสุกโกทนะ[66][67]

อนุรุทธะ

บทความหลัก: พระอนุรุทธเถระ

อนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของอมิโตทนะ[65] (บางแห่งว่าสุกโกทนะ)[66][67] พระอนุชาของสุทโธทนะ อนุรุทธะมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระเชษฐาคือมหานามะ และมีพระขนิษฐาคือโรหิณี[58] อนุรุทธะเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินศฤงคารและบริวาร เขามีปราสาทสามหลัง แต่ละหลังใช้พำนักในสามฤดู[81]

จากความสะดวกสบายดังกล่าว มหานามะผู้เชษฐาได้ชักชวนให้อนุรุทธะออกบวช เบื้องต้นอนุรุทธะปฏิเสธอย่างแข็งขันเพราะตนนั้นรักสบาย มหานามะจึงให้ผู้อนุชาเรียนการครองเรือนเสียก่อน คือการทำนา แต่อนุรุทธะเบื่อหน่ายการเรือนจึงขอออกบวชเสียดีกว่า แต่มารดาก็ทัดทานไว้ตลอด อนุรุทธะได้ชวนให้ภัททิยะออกบวชเป็นเพื่อน แต่ภัททิยะก็ปฏิเสธเรื่อยมา ที่สุดภัททิยะมิอาจทนการรบเร้าของอนุรุทธะไม่ไหวจึงออกบวชด้วย พร้อมกับญาติวงศ์แห่งสักกะ ได้แก่ กิมพิละ ภัคคุ อานนท์ และเทวทัต รวมเดินทางไปขอบวชกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ อนุรุทธะได้ศึกษาธรรมกับพระสารีบุตร และได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหันต์[81]

อมิตา

อมิตา เป็นพระราชธิดาของสีหหนุกับกัญจนา และเป็นพระขนิษฐาของสุทโธทนะ จึงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อมิตาอภิเษกสมรสกับสุปปพุทธะ เจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ มีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์ คือ เทวทัต และยโสธรา ซึ่งต่อมายโสธราได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อมิตาจึงมีศักดิ์เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพุทธองค์[1] แต่เอกสารบางแห่งระบุว่านางมีโอรสคนเดียวคือ ติสสะ ซึ่งภายหลังได้ออกบวชเป็นภิกษุ[82]

อมิโตทนะ

อมิโตทนะ เป็นพระราชโอรสลำดับที่สามของสีหหนุกับกัญจนา เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระบุตรสามพระองค์ คือ มหานามะ อนุรุทธะ และโรหิณี[1][58] แต่บางเอกสารกลับระบุว่าอมิโตทนะเป็นบิดาของอานนท์[83]

อานนท์

บทความหลัก: พระอานนท์
รูปปั้นส่วนพระเศียรของอานนท์ ศิลปะจีนยุคราชวงศ์ฉีเหนือ

อานนท์ หรือ อานันทะ[84] เป็นพระโอรสของสุกโกทนะ กับกีสาโคตมี[58][85][86] บิดาของอานนท์เป็นพระอนุชาของสุทโธทนะ อานนท์จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระพุทธเจ้าเมื่อนับจากฝ่ายบิดา[87] ทังยังเกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นหนึ่งในสหชาติ 7[88] อานนท์เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเมื่อคราวที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงธรรมที่เมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จออกไปแสดงธรรมที่เมืองอื่น อานนท์จึงขอออกบวชเพื่อตามเสด็จ[89]

อานนท์มีความสำคัญในฐานะหนึ่งในสิบอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[90] ทั้งยังโดดเด่นเรื่องความจำเป็นเลิศ[91] เนื้อหาของ สุตตันตปิฎก ส่วนใหญ่มาจากการระลึกถึงคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากการสังคายนาครั้งแรก[87] ด้วยเหตุนี้อานนท์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น "คลังของพระธรรม"[92] ยี่สิบปีของการออกผนวชเพื่อรับใช้พระศาสนา อานนท์ทำงานอย่างเอาใจใส่และจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง[93] โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระพุทธเจ้า ฆราวาส และคณะสงฆ์[94][95] อานนท์ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้าทุกหนแห่ง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเลขานุการและเป็นกระบอกเสียงแทนพระพุทธเจ้า[96] นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการวางรากฐานระบบการบวชภิกษุณีอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการทูลขอพุทธานุญาตแทนมหาปชาบดีโคตมีให้สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้[97][98] และในช่วงการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อานนท์แสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง[99]

ริชาร์ด แวกเนอร์ (Richard Wagner) นักแต่งเพลง ได้นำเรื่องราวของอานนท์มาร่างเป็นบทเพลง ต่อมาโจนาทาน ฮาร์วีย์ (Jonathan Harvey) ได้นำบทเพลงดังกล่าวไปจัดเป็นการแสดงโอเปราใช้ชื่อว่า แวกเนอร์ดรีม เมื่อ ค.ศ. 2007[100]

ฝ่ายพุทธมารดา

เทวทัต

บทความหลัก: พระเทวทัต
จิตรกรรมรูปเทวทัตกำลังชี้นิ้วสั่งช้างช้างนาฬาคิรีให้ไปทำร้ายพระพุทธเจ้า

เทวทัต หรือสะกดว่า เทวทัตต์[84] เป็นพระราชโอรสของสุปปพุทธะกับอมิตา เป็นพระเชษฐาของยโสธรา และยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตออกบวชจากการชักชวนของอนุรุทธะ เจ้าศากยวงศ์ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง โดยมีผู้ออกบวชด้วยพร้อมกัน ได้แก่ กิมพิละ ภัททิยะ ภัคคุ อานนท์ และอุบาลีชาวภูษามาลา[52][53] ซึ่งในกาลต่อมาผู้ที่บวชพร้อมกับเทวทัตล้วนแต่บรรลุอรหันตผลไปแล้ว แต่เทวทัตทำได้เพียงโลกิยสมาบัติเท่านั้น เทวทัตได้กระทำการชั่วช้าหลายครั้ง ได้แก่ การยุยงให้อชาติศัตรูกระทำปิตุฆาตพิมพิสารแล้วปราบดาภิเษก ส่งช้างนาฬาคิรีซึ่งตกมันไปยังพุทธองค์ที่กำลังบิณฑบาต จ้างพลธนู 10 ผลัดลอบยิงพุทธองค์ และกลิ้งหินลงจากหน้าผาเขาคิชฌกูฏใส่พระพุทธเจ้า แต่พุทธองค์กลับถูกสะเก็ดหินทำให้พระองค์เป็นห้อที่ข้อพระบาท[101][102] นอกจากนี้ยังตั้งตัวเป็นศาสดาแทนพระผู้มีพระภาคเจ้า รวมทั้งก่อให้เกิดสังฆเภท[103][104]

แม้เทวทัตจะสำนึกตนที่ทำชั่วต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในช่วงบั้นปลายของชีวิต ขณะที่เทวทัตกำลังเดินไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อขออภัยที่วัดเชตวันมหาวิหาร แต่เทวทัตกลับถูกธรณีสูบบริเวณหน้าวัดเสียก่อน[105]

สีวลี

บทความหลัก: พระสีวลีเถระ

สีวลี หรือ สีวลิ[106] เป็นพระโอรสของสุปปวาสา พระราชโกฬิยธิดาของเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะซึ่งไม่ได้ระบุพระนามของราชา และไม่ได้ระบุนามของบิดา เอกสารพุทธระบุว่าสุปปวาสาตั้งครรภ์สีวลีนานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เมื่อสีวลีจำเริญวัยขึ้นก็ได้ออกบวชในสำนักของพระสารีบุตร เอกสารระบุอีกว่าบรรลุอรหันตผลขณะกำลังปลงผมบวช[107] สีวลีมีชื่อเสียงว่าเป็นเอตทัคคะด้านผู้มีลาภมาก[108]

สุปปพุทธะ

บทความหลัก: พระเจ้าสุปปพุทธะ

สุปปพุทธะ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชโอรสของอัญชนะกับยโสธรา เขาอภิเษกสมรสกับอมิตา พระราชธิดาของสีหหนุแห่งสักกะ ทั้งสองมีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์คือ เทวทัต และยโสธรา ต่อมายโสธราได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้สุปปพุทธะจึงมีฐานะเป็นสัสสุระ (พ่อตา) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า[1] สุปปพุทธะผูกใจเจ็บกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงทอดทิ้งยโสธราให้เป็นม่าย และยังผูกเวรกับเทวทัตจนถูกธรณีสูบ สุปปพุทธะเสวยน้ำจัณฑ์แล้วไปขวางทางพระพุทธเจ้ามิให้เสด็จออกไปจากปราสาทเพื่อเผยแผ่คำสอน หลังจากนั้นเจ็ดวันสุปปพุทธก็ถูกธรณีสูบเช่นเดียวกับเทวทัต[109]

อัญชนะ

อัญชนะ เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชโอรสของเทวทหสักกะ เขาอภิเษกสมรสกับยโสธรา พระราชธิดาของชัยเสนแห่งสักกะ มีพระราชบุตรด้วยกันสี่พระองค์ ได้แก่ สุปปพุทธะ ทัณฑปาณิ สิริทหามายา และมหาปชาบดีโคตมี ด้วยเหตุนี้อัญชนะจึงเป็นพระอัยกาฝ่ายพระชนนี (ตา) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]

ใกล้เคียง

ครอบครัวตึ๋งหนืด ครอบครัวของพระโคตมพุทธเจ้า ครอบครัว ครอบครัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครอบครัวตัวสลับ ครอบครัวขำ ครอบครัวจอมวุ่น บ้านอุ่นไอรัก ครอบครัวสกายวอล์คเกอร์ ครอบครัวตึ๋งหนืดตืดขั้นเทพ ครอบครัวตัวดำ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ครอบครัวของพระโคตมพุทธเจ้า https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/art... https://archive.org/details/afterbuddhismret0000ba... http://lirs.ru/lib/sutra/Long_Discourses_of_the_Bu... https://archive.org/details/afterbuddhismret0000ba... https://web.archive.org/web/20170718151939/http://... http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist17.htm http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=1... https://web.archive.org/web/20150128094505/http://... http://www.drukpa-nuns.org/index.php/maha-pajapati... http://www.buddhanet.net/e-learning/buddhism/lifeb...