จักรวรรดิเรืองอำนาจ ของ จักรพรรดินโปเลียนที่_1

ในปี ค.ศ. 1804 ยังไม่ถึงเวลาแห่งการออกรบครั้งใหญ่เพื่อยึดครองดินแดน และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งยึดติดกับแนวความคิดว่า สันติภาพอย่างถาวรจะมีได้ ต่อเมื่อปราบสหราชอาณาจักรลงได้เท่านั้น ได้ร่วมกับพลเรือเอกลาตุชเชอ-เตรวิลล์ (ผู้ซึ่งเสียชีวิตก่อนจะกระทำการสำเร็จ) วางแผนรุกรานเกาะอังกฤษ ซึ่งเป็นแผนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากการรบที่ยุทธนาวีทราฟัลการ์ กองเรือผสมฝรั่งเศส-สเปนที่บัญชาการโดยพลเรือโท วีลเนิฟว์ ถูกพลเรือโท ลอร์ด เนลสัน แห่งราชนาวีอังกฤษตีจนแตกพ่าย ทำให้สหราชอาณาจักร กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล นับแต่นั้นจวบจนในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1บนพระราชอาสน์

ในปีเดียวกันนั้นเอง (ค.ศ. 1805) ได้มีการประสานมิตรครั้งที่สามในยุโรปขึ้นเพื่อต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำให้จักรพรรดิผู้ซึ่งกำลังบัญชาการ จากเมืองบูลอญในฝรั่งเศส เพื่อเตรียมการบุกบริเตนใหญ่ ต้องเผชิญกับสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของทวีปยุโรปอย่างกะทันหัน จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้รับสั่งให้ตั้งรับโดยทันที โดยบังคับให้นำทัพใหญ่ออกเดินเท้า และสัญญาว่าจะนำชัยชนะ ต่อพวกออสเตรียและรัสเซียมาให้จากยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น"สงครามสามจักรพรรดิ"

ในปี ค.ศ. 1806 สงครามประสานมิตรครั้งที่สี่ได้เริ่มต้นขึ้น ปรัสเซียได้ก่อเหตุพิพาทครั้งใหม่ โดยพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย ตัดสินพระทัยที่จะทำสงครามกับกองทัพฝรั่งเศสโดยลำพัง ตามตำนานเล่าว่า คาร์ล ฟอน เคลาเซวิทซ์ นักคิดทางการทหารได้เสนอแผนการรบที่ชาญฉลาด ซึ่งเป็นแผนการที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยังชื่นชม ในความรวดเร็วของการนำแนวคิดเรื่อง "จิตวิญญาณแห่งโลก" ของเฮเกิลมาใช้ แต่แผนรบดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายบัญชาการของกองทัพปรัสเซีย อย่างไรก็ดีกองทัพใหญ่ ลากองด์ อาเม ของนโปเลียนมีความได้เปรียบมาก เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนปรัสเซีย พระเจ้านโปเลียนจึงทรงลงมือโจมตีก่อน และได้รับชัยชนะอย่างใหญ่หลวงในสงครามสองสมรภูมิ คือการรบที่สมรภูมิเจนา-โอเออสเต็ดท์ โดยกองทัพหลวงของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สามารถกวาดล้างกองทัพปรัสเซีย ที่การรบในสมรภูมิเจนา (Battle of Jena)ได้ในวันที่ 14 ตุลาคม ในขณะที่นายพลหลุยส์-นีกอลา ดาวูตีทัพใหญ่ของดยุกแห่งเบราน์ชไวก์แตกพ่ายไปในสมภูมิที่เมืองโอเออสเต็ดท์ แม้ว่าทัพหลวงของปรัสเซียจะมีจำนวนทหารเหนือกว่ากองทัพฝรั่งเศสที่นำโดยนายพลหลุยส์-นีกอลา มากก็ตาม ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์บาดเจ็บสาหัสในที่รบ ทหารของปรัสเซียที่แตกมาจากสมรภูมิที่เจนาทะลักเข้ามาสู่สมรภูมิที่โอเออสเต็ดท์ นำไปสู่ความเสียขวัญและความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด นายพลดาวูจึงได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ให้เป็น ดยุกแห่งโอเออสเต็ดท์ เพราะความชอบในครั้งนี้

แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยังไม่หยุดแค่นั้น ในปีถัดมาพระองค์ได้ทรงเดินทัพข้ามโปแลนด์ โดยทรงสถาปนาดัชชีวอร์ซอขึ้นและให้พันธมิตรของฝรั่งเศสปกครอง จากนั้นพระเจ้านโปเลียนได้ยกกองทัพขึ้นเหนือเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซีย พระเจ้านโปเลียนรบชนะกองทัพรัสเซียที่สมรภูมิฟรีดแลนด์ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1807 ทางฝ่ายรัสเซียต้องขอยอมสงบศึก และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเมืองทิลสิทในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1807 กับจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย อันเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการแบ่งดินแดนยุโรปกันระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซีย สองมหาอำนาจในขณะนั้น เพื่อเป็นการข่มขวัญศัตรู (ฝรั่งเศสครองยุโรปตะวันตก และรัสเซียครองยุโรปตะวันออก โดยมีโปแลนด์อยู่ตรงกลาง)

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและครูบาอาจารย์ในระบอบเก่า ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายทหารในกองทัพหลวง ได้ทำลายกฎเกณฑ์ดั้งเดิมทางการทหารอย่างสิ้นเชิง ด้วยการไม่ริเริ่มสงครามที่กินเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษในการรบด้วยพลทหาร 30 ถึง 50,000 นาย แต่มองหาการรบที่สามารถเผด็จศึกได้อย่างเด็ดขาด ใช้ทหารกว่า 100,000 นายหากจำเป็น นั่นคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ไม่ต้องการจะเป็นผู้นำในสมรภูมิเท่านั้น แต่ต้องการจะบดขยี้ศัตรูอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 1808 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้ทรงสร้างระบบศักดินาของจักรวรรดิฝรั่งเศสให้แก่กลุ่มชนชั้นสูงที่แวดล้อมพระองค์ ไม่นานต่อมา บรรดานายพันและนายพลของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ต่างได้รับฐานันดรเป็นท่านเคานต์แห่งจักรวรรดิ เจ้าชายแห่งเนอชาแตล ดยุกแห่งโอเออสเต็ดท์ ดยุกแห่งมองต์เบลโล ดยุกแห่งดันท์ซิช ดยุกแห่งเอลชิงเกน กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ ฯลฯ

จากกรุงอัมสเตอร์ดัมถึงกรุงโรม จักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านคน โดยมีเพียง 30 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นชาวฝรั่งเศส

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิคังซี จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย