ความขัดแย้งกับสเปนและโปรตุเกส ของ จักรวรรดิดัตช์

เซาหลุยส์ ในรัฐมารันเยา สมัยที่ชาวดัตช์ปกครองบราซิลบางส่วน ชัยชนะของโปรตุเกสในยุทธการกัวราราเปสปิดฉากอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในบราซิล

สงครามระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปนไม่เพียงเป็นการสู้รบระหว่างชาวดัตช์และชาวสเปนในผืนแผ่นดินใหญ่เพื่อการเรียกร้องเอกราชเท่านั้น ยังเป็นการก่อสู้กับกองกำลังในสถานีการค้าและป้อมปราการในดินแดนโพ้นทะเลด้วย ชาวดัตช์เริ่มรุกรานอาณานิคมของสเปนและต่อมาของโปรตุเกสด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1517 ท่าเรือลิสบอนของโปรตุเกสเป็นตลาดสำคัญในการซื้อขายสินค้าที่มาจากอินเดียกับชาวยุโรป แต่หลังจากที่สเปนได้ผนวกรวมโปรตุเกสเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันภายใต้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในปี ค.ศ. 1580 ดินแดนและตลาดของโปรตุเกสจึงกลายเป็นของสเปนด้วย ชาวดัตช์จึงตัดสินใจที่จะออกเดินทะเลด้วยตัวเองนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 เป็นต้นมา โดยพยายามใช้เส้นทางการค้าที่ชาวโปรตุเกสเก็บเป็นความลับ แต่คอร์เนลิส เด เฮาท์มัน นักสำรวจชาวดัตช์สืบหามาได้จากลิสบอน

การขยายเส้นทางการค้าของดัตช์ที่เริ่มไปไกลถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับผลประโยชน์กับสเปนและโปรตุเกสที่ได้รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริษัทอินเดียตะวันตกเริ่มบุกโจมตีอาณานิคมของโปรตุเกสในบราซิลและแอฟริกาที่เป็นดินแดนค้าน้ำตาล

เอเชีย

ชุมชนหลักของชาวดัตช์และชาวโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1665

เมื่ออำนาจของจักรวรรดิโปรตุเกสเริ่มเสื่อมลงจากสงครามต่อเนื่อง บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เริ่มทยอยยึดครองดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสทีละเล็กละน้อย เพราะแต่ละดินแดนตั้งอยู่แยกกันและยากที่จะหากำลังเสริมหากถูกโจมตี ชาวดัตช์ยึดเกาะอัมบน(ในอินโดนีเซีย)จากโปรตุเกสได้ในปี ค.ศ. 1605 แต่ยึดมะละกาไม่สำเร็จ ชาวดัตช์ค้นพบว่าเกาะอัมบนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมาะและใช้ประโยชน์จากลมมรสุมไม่ได้ จึงเสาะหาที่ตั้งฐานทัพแห่งใหม่จนกระทั่งมาพบจาการ์ตาที่ตอบโจทย์นี้ ยาน คูน นำกำลังเข้ายึดในปี ค.ศ.1619 ตั้งชื่อใหม่เป็นปัตตาเวีย และกลายมาเป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ชาวดัตช์พยายามยึดดินแดนของโปรตุเกสต่อไปและยึดครองมะละกาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1641 ในการบุกครั้งที่สองเท่านั้น ตามมาด้วยการยึดโคลัมโบ (ค.ศ. 1656) ซีลอง (ค.ศ. 1658) นากาปัตตินัม (ค.ศ. 1662) แครงกานอร์และโกชิ (ค.ศ. 1662)

อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ไม่สามารถยึดกัวอันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโปรตุเกสทางตะวันออกได้หลังบุกโจมตีในปี ค.ศ. 1603 และ 1610 และการโจมตีมาเก๊าที่ชาวโปรตุเกสตั้งเป็นศูนย์กลางการผูกขาดการค้ากับจีนและญี่ปุ่นถึงสี่ครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลโชกุนของญี่ปุ่นเริ่มคลาแคลงใจสงสัยในการเผยแพร่ศาสนาของพระคาทอลิกชาวโปรตุเกสนำไปสู่การขับไล่ออกจากเกาะในปี ค.ศ. 1639 และเปลี่ยนมาให้สิทธิ์ขาดกับเนเธอร์แลนด์ทำการค้าขายกับญี่ปุ่น เป็นชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ได้สิทธิ์นี้ในยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1639 ถึง 1854) นอกจากนี้ ชาวดัตช์ยังได้สำรวจพบบริเวณตะวันตกของออสเตรเลียกลางศตวรรษที่ 17 ด้วย

ชาวดัตช์ยึดครองมอริเชียสได้ในปี ค.ศ. 1638 โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับเจ้าชายมอรีส​ แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา​ เจ้าผู้ครองดินแดนดัตช์ นับเป็นช่วงเวลาสี่สิบปีหลังจากที่กองเรือกองที่สองของเนเธอร์แลนด์ที่มาขนเครื่องเทศกลับไปขายในปี ค.ศ. 1598 อับปางด้วยพายุที่ดินแดนนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ได้สละเกาะนี้ไปเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่อำนวยในอีกหลายสิบปีต่อมา ส่วนทางตะวันออก ชาวดัตช์ได้ตั้งอาณานิคมที่ถาหยวน ทางตอนใต้ของไต้หวัน โดยในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสที่รู้จักกันในชื่อเกาะฟอร์โมซา ก่อนที่ชาวดัตช์จะยึดครองตอนเหนือของเกาะได้จากสเปนในปี ค.ศ. 1642 ความพยายามของเนเธอร์แลนด์ในการยึดครองฟิลิปปินส์จากสเปนในปี ค.ศ. 1646 นั้นเกือบจะประสบความสำเร็จแต่มาพลาดท่าในครั้งที่จะยึดมะนิลา จากนั้น ชาวดัตช์ก็ล้มเลิกความคิดที่จะยึดมะนิลาและฟิลิปปินส์อีก

โดยรวม ชาวดัตช์ส่งชาวยุโรปไปทำงานในเส้นทางการค้ากับเอเชียระหว่างปี ค.ศ. 1602 ถึง 1796 เกือบหนึ่งล้านคน หลายคนเสียชีวิตด้วยโรคภัยในการเดินทางกลับยุโรปแต่อีกหลายคนก็ปรับตัวเข้ากับดินแดนอาณานิคมได้ ชาวดัตช์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวพื้นเมืองในศรีลังกาและหมู่เกาะอินโดนีเซีย

อเมริกา

การยึดครองอาณานิคมของดัตช์โดยบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์

ในทะเลแอตแลนติกนั้น บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์เน้นการขยายอำนาจไปยังดินแดนศูนย์กลางการค้าน้ำตาลและทาสแข่งกับจักรวรรดิโปรตุเกสและสเปน ชาวดัตช์ยึดบาเอียที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลได้ในปี ค.ศ. 1624 แต่ก็ถูกกองกำลังผสมสเปนโปรตุเกสยึดคืนได้ในปีถัดมา แม้โดยรวมแล้ว บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์จะทำสงครามสู้รบกับอาณาจักรสเปนไม่ได้ แต่ปีเตอร์ เฮย์น พลเรือเอกของดัตช์โจมตีและจับกุมกองเรือของสเปนได้ในปี ค.ศ. 1628 แล้วส่งสินค้าและโลหะมีค่ากลับไปยังบริษัททำให้บริษัทอินเดียตะวันตกสามารถจ่ายเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 70 ชาวดัตช์ยึดครองเปร์นัมบูกู ถิ่นการค้าน้ำตาลของโปรตุเกสได้ในปี ค.ศ. 1630 ตลอดจนโรงงานน้ำตาลที่อยู่รอบๆ และยึดเมืองเอลมินา ศูนย์กลางการค้าทาสได้จากโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1637 เพื่อป้อนแรงงานสู่อุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนในแอฟริกา ชาวดัตช์ยึดครองชุมชนโปรตุเกสในแองโกลาได้ในปี ค.ศ. 1641 และเมืองอาซิม(ปัจจุบันอยู่ในประเทศกานา)ได้ในปีต่อมา กล่าวได้ว่า ภายในปี ค.ศ. 1650 ชาวดัตช์สามารถยึดครองเส้นทางการค้าน้ำตาลและทาสได้อย่างมั่นคง และยังได้ยึดครองหมู่เกาะแคริบเบียน ได้แก่ ซินต์มาร์เติน กือราเซา อารูบา และโบแนเรอได้เพื่อครอบครองนาเกลือของหมู่เกาะ

แผนที่ของนิวเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1650

อย่างไรก็ตาม การยึดครองอาณานิคมในบราซิลและแอฟริกาจากมือของโปรตุเกสนั้นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในเอเชียเพราะส่วนใหญ่มักจะยึดครองได้ไม่นานก็มักจะเสียไป โดยธรรมชาติแล้วชาวดัตช์เป็นพ่อค้ามากกว่าผู้ปกครองอาณานิคม ชาวโปรตุเกสหลายคนยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลแม้จะเสียอำนาจการปกครองให้กับชาวดัตช์ ชุมชนโปรตุเกสในเปร์นัมบูกูก่อการกบฎขึ้นนปี ค.ศ. 1654 ขับชาวดัตช์ออกจากบราซิล และโปรตุเกสยังได้ส่งกองกำลังจากบราซิลไปยึดเมืองลูอันดา เมืองหลวงของแองโกลาคืนในปี ค.ศ. 1648 ขับไล่ชาวดัตช์ออกไปจากพื้นที่

ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทนิวเนเธอร์แลนด์เข้ายึดครองพื้นที่บริเวณออลบานี ริมแม่น้ำฮัดสันได้ในปี ค.ศ. 1614 และครอบครองเป็นเวลาสี่ปีก่อนที่บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์จะเข้ามาครอบครองกิจการ ชาวดัตช์ส่งกองเรือไปค้าขายขนสัตว์นับตั้งแต่เฮนรี ฮัดสัน นักเดินเรือชาวอังกฤษสำรวจค้นพบอ่าวฮัดสันเมื่อปี ค.ศ. 1609 อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งของออลบานีไม่ค่อยจะปลอดภัยนักเพราะอยู่ใกล้กับดินแดนที่อังกฤษและฝรั่งเศสครอบครองอยู่ จึงได้มีการย้ายลงมาสร้างเมืองป้อมปราการอยู่ที่นิวอัมสเตอร์ดัมในปี ค.ศ. 1625 ที่ปากแม่น้ำฮัดสันและส่งเสริมให้ประชาชนมาตั้งถิ่นฐานตามเกาะลองและรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่โชคไม่ดีที่การค้าขนสัตว์ไม่ประสบความสำเร็จนัก การผูกขาดการค้าถูกทำลายด้วยการลักลอบค้าขาย ทำให้การตั้งอาณานิคมที่นิวเนเธอร์แลนด์ไม่ทำกำไร อย่างไรก็ดี ชาวดัตช์ได้ดินแดนเพิ่มเติมเมื่อสามารถยึดครองอาณานิคมของนิวสวีเดนริมแม่น้ำเดลาแวร์ได้ในปี ค.ศ. 1655

ในปี ค.ศ. 1643 บริษัทอินเดียตะวันตกของดัตช์ได้ตั้งอาณานิคมที่เมืองบัลดิเบีย ทางตอนใต้ของชิลีได้ในปี ค.ศ. 1643 เพื่อเปิดเส้นทางการขยายดินแดนสู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งในยุคนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของสเปน เหตุผลหนึ่งของการยึดครองคือการเข้าถึงแหล่งทองคำที่สเปนเคยมาขุดค้นและนำแร่มีค่านี้กลับไปทำกำไรมหาศาลให้กับจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม ชาวพื้นเมืองที่เคยขับไล่กองทัพสเปนออกจากบัลดิเบียในปี ค.ศ. 1604 ก็ทำเช่นเดียวกันกับกองกำลังชาวดัตช์ ขับไล่ผู้รุกรานได้หลังจากการเข้ายึดครองเพียงไม่กี่เดือน หลังจากนั้นสเปนก็กลับมาที่บัลดิเบียอีกครั้งและสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งขึ้นที่เมืองนี้

แอฟริกาใต้

ภาพของอ่าวเทเบิล แอฟริกาใต้ โดยมีกองเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำการ ในปี ค.ศ. 1683

บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจในการค้าเครื่องเทศและไหมช่วงกลางศตรรษที่ 17 มีการตั้งอาณานิคมที่แหลมกู๊ดโฮปในปี ค.ศ. 1652 เพื่อเป็นสถานีเสบียงสำหรับเรือสินค้าที่จะเดินทางไปยุโรปและเอเชีย ชาวดัตช์ย้ายถิ่นฐานมาที่แอฟริกาใต้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น รัฐยังสนับสนุนเงินทุนและยกเว้นภาษีให้กับชาวอาณานิคมแลกกับการผลิตอาหารเพื่อป้อนให้กับเรือที่ผ่านไปมา นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังนำเข้าแรงงานชาวยุโรปชาติอื่นอย่างเยอรมนีและชาวอูว์เกอโนในฝรั่งเศสเข้ามาเสริมแรงงานทาสหลายพันคนจากหม่เกาะอินเดียตะวันออกด้วย

อาณานิคมของชาวดัตช์ที่แหลมกู๊ดโฮปขยายตัวไปอย่างรวดเร็วจากการเป็นชุมชนเล็กๆสู่การตั้งเป็นอาณานิคมเคปโคโลนีในปี ค.ศ. 1778 ชาวดัตช์ปราบชนพื้นเมืองโคยซานและซานที่เคยอาศัยอยู่ที่เคปได้และยึดดินแดนของชนพื้นเมืองมาเป็นของตน แต่การขยายดินแดนไปทางตะวันออกนั้นถูกจำกัดเมื่อมาชนกับการขยายดินแดนสู่ตะวันตกของชนพื้นเมืองคอร์ซา รัฐบาลของดัตช์จึงได้เจรจากับหัวหน้าเผ่าคอร์ซาเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบที่ไม่จำเป็นและเพื่อแบ่งเขตดินแดน ตกลงกันว่าจะไม่รุกรานกัน แต่ข้อตกลงนี้มักถูกละเมิดอยู่บ่อยครั้ง เกิดเป็นสงครามที่ยืดเยื้อและยาวนานที่สุดในดินแดนอาณานิคมแอฟริกาใต้คือ สงครามคอร์ซา

ใกล้เคียง

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิบริติช จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิมองโกล จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิโรมัน จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล: เฟสสอง จักรวรรดิรัสเซีย