ประวัติ ของ ฉินเซี่ยวกง

ฉินเซี่ยวกงทรงขึ้นครองราชย์ในรัฐฉินสืบต่อจากฉินเซี่ยนกง (秦獻公) พระบิดา เมื่อ 361 ปีก่อนคริสตกาล ขณะนั้น ฉินเซี่ยวกงมีพระชนม์ 21 ชันษา และมีพระปณิธานปรารถนาจะนำพารัฐฉินกลับสู่ความรุ่งโรจน์ในอดีตเหมือนครั้งรัชกาลของฉินมู่กง (秦穆公) ที่รัฐฉินได้เป็นหนึ่งในกลุ่มห้าอธิราช (五霸) ดังนั้น ฉินเซี่ยวกงจึงทรงออกประกาศรับผู้มีความสามารถมาช่วยสร้างบ้านเมืองให้แข็งแกร่ง โดยทรงให้คำมั่นจะประทานรางวัลเป็นตำแหน่งชั้นสูงและที่ดินหลายผืน ชาง ยาง แห่งรัฐเว่ย์ ตกลงใจมาถวายตัวตามประกาศนี้ หลังจากที่ไปรัฐอื่นแล้วถูกปฏิเสธมาตลอด

ผู้ทูลเสนอชาง ยาง ต่อฉินเซี่ยวกง คือ Jing Jian และชาง ยาง ได้เข้าเฝ้าฉินเซี่ยวกงสองครั้งเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองโดยอิงหลักการลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และสำนักอื่น ๆ แต่ไม่ถูกพระทัยฉินเซี่ยวกงนัก ในการเข้าเฝ้าครั้งที่สาม ชาง ยาง ทูลเสนอแนวคิดการปกครองแบบเข้มงวดโดยอิงหลักการนิยมกฎหมาย ซึ่งทำให้ฉินเซี่ยวกงสนพระทัย ฉินเซี่ยวกงทรงอภิปรายเรื่องดังกล่าวกับชาง ยาง ถึงสามวันสามคืน จนบรรลุเป็นร่างแผนการปฏิรูป มีการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติใน 363 ปีก่อนคริสตกาล แต่ขุนนางรัฐฉินหลายคนคัดค้านอย่างรุนแรง[2] กระนั้น ฉินเซี่ยวกงก็ทรงสนับสนุนแผนของชาง ยาง และทรงรับรองว่า การปฏิรูปจะเป็นไปตามแผนอย่างแน่แท้

การปฏิรูปของชาง ยาง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายขนานในรัฐฉิน รัฐฉินกลายเป็นรัฐที่ใช้กฎหมายควบคุมเข้มงวด และนิยมการใช้กำลังทหาร ถึงบีบคั้นขั้นกดขี่[3] มีการบังคับให้ประชากรโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อให้การเกษตรขยายพื้นที่[4] และมีการมอบรางวัลหรือลงโทษราษฎรตามผลงานด้านทหารและกสิกรรม[5]

ครั้น 366 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพรัฐฉินเอาชนะกองกำลังร่วมของรัฐหาน (韓國) กับรัฐเว่ย์ (衞国) ได้ในการรบที่ฉือเหมิน (石门)[6] ทหารและข้าราชการรัฐฉินได้ปูนบำเหน็จตามจำนวนศีรษะข้าศึกที่ตัดมาได้[7] นอกจากนี้ รัฐฉินยังเดินหน้ายึดที่ดินจากรัฐเว่ย์ ทำให้รัฐเว่ย์ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐจ้าว (趙國) เพื่อให้อยู่รอด ความพ่ายแพ้และสูญเสียนี้ทำให้รัฐเว่ย์เสื่อมถอยลงอย่างหนัก

ฉินเซี่ยวกงทรงครองรัฐฉิน 24 ปีจนสิ้นพระชนม์เมื่อ 338 ปีก่อนคริสตกาล สิริพระชนม์ 44 ชันษา ผู้สืบราชสมบัติต่อ คือ ฉินฮุ่ยเหวินหวัง (秦惠文王) พระโอรส เมื่อฉินเซี่ยวกงสิ้นพระชนม์แล้ว ฉินเซี่ยวกงทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า "เซี่ยว" (孝; "กตัญญู")

ฉินเซี่ยวกงทรงเป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายของรัฐฉินที่มีตำแหน่งว่า "กง" (公; "พระยา") ผู้ปกครองถัดจากนั้นได้รับการเรียกขานว่า "หวัง" (王; "กษัตริย์")