มอญในประเทศไทย ของ ชาวมอญ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11–13 คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 ม.ม. พบที่นครปฐมและอู่ทองนั้น พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร” และ มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณ ได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี (บางแห่งเรียกทวาราวดี) ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางที่เมืองนครปฐมโบราณ (ลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือ นครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไป ถึงหริภุญชัยหรือลำพูน มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ. 1100 พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไปตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน

เมืองนครปฐมบริเวณพระปฐมเจดีย์ และใกล้เคียงมีการพบจารึกอักษรปัลลวะ บาลี สันสกฤต และ อักษรมอญโบราณ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และแนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์)[4] และพบจารึกอักษรมอญโบราณ สมัยหริภุญชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 จำนวน 7 หลัก ที่ลำพูน (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน)[15]

ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตใน พ.ศ. 1732 อำนาจขอมก็เริ่มเสื่อมลง พ่อขุนบางกลางหาว ที่สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ที่ได้ครองราชย์สืบต่อมา ทรงดัดแปลงอักษรขอม และ อักษรมอญ มาประดิษฐ์เป็นลายสือไทย

ด้านจารึกภาษามอญบนใบลานนั้น พบมากมายตามหมู่บ้านมอญในประเทศไทย ส่วนที่ประเทศพม่าพบมากตามหมู่บ้านมอญในเมืองสะเทิมและเมืองไจคะมีในรัฐมอญ ซึ่งมีการคัดลอกและรวบรวมนำมาเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติเมืองย่างกุ้ง และที่ห้องสมุดมอญเมืองเมาะลำเลิง นอกจากนี้กองโบราณคดีและกองวัฒนธรรม ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรม ชาดก ตำรามอญ และเคยมีการริเริ่มจัดพิมพ์พจนานุกรมมอญ-พม่าอีกด้วย

มอญอพยพ

วัดปรมัยยิกาวาส

ทุกวันนี้ชนชาติมอญ ไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากตกอยู่ในภาวะสงคราม การแย่งชิงราชสมบัติกันเอง และการรุกรานจากพม่า ชาวมอญอยู่อย่างแสนสาหัส ถูกกดขี่รีดไถ มีการเกณฑ์แรงงานก่อสร้าง ทำไร่นาหาเสบียงเพื่อการสงคราม และเกณฑ์เข้ากองทัพ โดยเฉพาะสงครามในปี พ.ศ. 2300 สมัยพระเจ้าอลองพญาเป็นสงครามครั้งสุดท้าย ที่ชาวมอญพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างราบคาบ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีหงสาวดีแตกใน พ.ศ. 2082 ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติ พระยารามและครัวเรือนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และเมื่อถึง พ.ศ. 2084 ราชวงศ์ตองอูตีเมืองเมาะตะมะแตก มีการฆ่าฟันชาวมอญลงขนาดใหญ่ ก็เข้าใจว่ามีชาวมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีก ถือเป็นระลอกแรกของมอญอพยพ

ครั้งที่ 2 เมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช ทรงชักชวนชาวมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ราว พ.ศ. 2127 ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อหงสาวดีถูกยะไข่ทำลายใน พ.ศ. 2138 ครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของชาวมอญมาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยา

ครั้งที่ 4 หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว ชาวมอญก็ตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน ต่อมาถึงรัชกาลพระเจ้าอโนเพตลุน พม่าจึงยกทัพมาปราบชาวมอญอีกใน พ.ศ. 2156 ทำให้เกิดการอพยพของชาวมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า ชาวมอญกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย

ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2204หรือ 2205 ชาวมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฏขึ้นอีก แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มชาวมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน

ครั้งที่ 6 หลังจากที่ชาวมอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ใหม่ในปลายราชวงศ์ตองอู แล้วยกกำลังไปตีกรุงอังวะแตก ต่อมาสมัยพระเจ้าอลองพญารวบรวมกำลังพม่าแล้วลุกขึ้นต่อสู้จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์โก้นบองได้ และใน พ.ศ. 2300 ก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือกลืนมอญให้เป็นพม่าโดยวิธีรุนแรง จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลายระลอก รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวกเม็งในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 7 ใน พ.ศ. 2316 ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี ชาวมอญก่อกบฏในย่างกุ้ง พม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก พระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง) คนที่นับตัวเองเป็นชาวมอญในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้หรือหลังจากนี้ ส่วนชาวมอญที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี

ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2336 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาชาวมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามา

ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อชาวมอญไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างเจดีย์ ได้ก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าปราบ ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่มาก ราว 40,000 คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) เสด็จเป็นแม่กองพร้อมด้วยกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก (ปทุมธานี), ปากเกร็ด และพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่ามอญใหม่[16]

ชุมชนมอญ

คลองมอญ

ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระยาเกียรติและพระยารามขุนนางมอญที่มีความดีความชอบในราชการและกลุ่มญาติพี่น้องได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน ณ บ้านขมิ้น ซึ่งได้แก่บริเวณวัดขุนแสนในปัจจุบัน มอญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งกลุ่มชาวมอญเก่าที่อยู่มาแต่เดิมและกลุ่มชาวมอญใหม่ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนอยู่ชานกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดตองปุและคลองคูจาม

ในปัจจุบันแม้จะไม่มีชุมชนของผู้สืบเชื้อสายมอญภายในกรุงศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ทางภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา

ชุมชนมอญในประเทศไทย[17]

  • มอญหนองดู่ จ.ลำพูน
  • บ้านมอญ จ.นครสวรรค์
  • มอญบ้านเก่า จ.อุทัยธานี
  • มอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี
  • มอญบ้านเสากระโดง จ.อยุธยา
  • สะพานมอญ จ.กาญจนบุรี
  • มอญบ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี
  • มอญกระทุ่มมืด จ.นครปฐม
  • มอญบางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม
  • มอญบางปลา จ.สมุทรสาคร
  • มอญเจ็ดริ้ว จ.สมุทรสาคร
  • มอญปากลัด (มอญพระประแดง) จ.สมุทรปราการ

  • มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มอญปทุมธานี จ.ปทุมธานี
  • มอญสามโคก จ.ปทุมธานี
  • มอญคลองสี่(ทุ่งรังสิต)จ.ปทุมธานี
  • มอญเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
  • มอญคลองสิบสี่ (มอญหนองจอก) กรุงเทพฯ
  • มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ
  • มอญบางกระดี่ กรุงเทพ
  • มอญลาดกระบัง กรุงเทพฯ
  • คลองมอญ กรุงเทพฯ
  • สะพานมอญ กรุงเทพฯ
  • มอญสลุย จ.ชุมพร

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวมอญ http://www.monstudies.com/show_all_topics.php?page... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=... http://www.panya4u.com/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.thaiws.com/pmch/monstudies.htm http://gotoknow.org/blog/mscb/15498