ตะพาบไต้หวัน
ตะพาบไต้หวัน

ตะพาบไต้หวัน

ตะพาบไต้หวัน (อังกฤษ: Chinese softshelled turtle; อักษรจีน: 中華鱉; พินอิน: zhōnghuá biē; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pelodiscus sinensis) ตะพาบชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตะพาบพันธุ์พื้นเมืองของไทย แต่เป็นตะพาบที่พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้ ตลอดจนรัสเซีย และเวียดนาม มีรูปร่างคล้ายตะพาบสวน (Amyda cartilaginea) ที่พบได้ในประเทศไทย แต่ตะพาบไต้หวันมีขนาดเล็กกว่า โตเต็มมีขนาดกระดองประมาณ 25 เซนติเมตร มีนิสัยดุร้าย ลักษณะกระดองเป็นทรงรีเล็กน้อย ลักษณะโครงร่างแบบผิวกระดองเรียบมีกระดองส่วนที่นิ่มหรือเชิงค่อนข้างมาก มีหัวใหญ่ คอ ยาวมาก ปากแหลม ฟันคมและแข็งแรง เมื่อยังเล็กกระดองเป็นสีเขียวเข้มด้านท้องจะมีสีส้มและสีดำสลับ 5-6 ตำแหน่ง ใต้ท้องมีสีขาว เมื่อโตเต็มวัยกระดองจะเป็นสีเขียวอมเหลือง บริเวณขอบตาจะมีสีเหลืองเห็นได้ชัดเจน ตรงกลางกระดองจะมีรอยขีดขวางลำตัว 6-7 ขีด ส่วนท้องอ่อนนุ่มมีสีขาวอมชมพูหรือสีเหลืองอ่อน ๆ นิยมรับประทานโดยทำเป็นซุป นิยมกันมากในแบบอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น ทำให้นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันนิยมเลี้ยงมากกว่าตะพาบสวน เพราะโตได้เร็วและแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็วกว่า และยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะในตัวที่เป็นเผือก แต่ในด้านสิ่งแวดล้อมขณะนี้พบเป็นเผ่าพันธุ์ต่างถิ่น ที่รุกรานที่อยู่อาศัยและที่วางไข่ของตะพาบและเต่าพื้นเมืองของไทย ปัจจุบัน มีฟาร์มเพาะเลี้ยงกันในประเทศไทยแถบจังหวัดภาคตะวันออก เช่น ระยอง, ชลบุรี, ตราด และเพชรบุรี [3] [4]