ทฤษฎี ของ นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์

ภาพนักเป่าปี่นำเด็ก ๆ ออกจากเมืองฮาเมิลน์ วาดโดยเคต กรีนอะเวย์เพื่อประกอบบทกวี "The Pied Piper of Hamelin" ของรอเบิร์ต บราวนิง

สาเหตุตามธรรมชาติ

ทฤษฎีจำนวนหนึ่งเสนอว่าเด็กอาจเสียชีวิตจากสาเหตุตามธรรมชาติอย่างโรคภัยหรือความอดอยาก[15] และนักเป่าปี่เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ทฤษฎีนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบำมรณะซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทั่วไปของความตายในสมัยกลาง นอกจากนี้มีการตีความว่าเด็กถูกล่อลวงโดยพวกลัทธินอกศาสนาหรือนอกรีตไปยังป่าใกล้เมืองคอพเพินบรึกก่อนทั้งหมดจากถูกดินถล่มหรือหลุมยุบ[16]

การย้ายถิ่น

ทฤษฎีการย้ายถิ่นมาจากแนวคิดประชากรล้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่งผลให้บุตรคนโตต้องแยกออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่[17] ว็อล์ฟกัง มีเดอร์เสนอในหนังสือ The Pied Piper: A Handbook ว่ามีหลักฐานว่าผู้คนจากฮาเมิลน์มีส่วนช่วยก่อตั้งบางส่วนของทรานซิลเวเนีย[18] เอมิลี เจราร์ดอธิบายคล้ายกันในรายงาน The Land Beyond the Forest ว่า "แนวคิดที่เป็นที่นิยมของชาวเยอรมันในทรานซิลเวเนียนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเด็กที่สูญหายแห่งฮาเมิลน์ ผู้เดินทางไกลไปจนถึงทรานซิลเวเนีย"[19]

ทฤษฎีคล้ายกันนี้ยังปรากฏบนเว็บไซต์ของเมืองฮาเมิลน์ ซึ่งบรรยายว่าเด็ก ๆ แห่งฮาเมิลน์อาจเป็นประชาชนที่ต้องการย้ายถิ่นไปยังโมราเวีย ปรัสเซียตะวันออก พอเมอเรเนียและรัฐอัศวินทิวทัน และสันนิษฐานว่าคำว่า "เด็ก" ในที่นี้มีความหมายเดียวกับ "บุตรแห่งเมืองนั้น" หรือ "ผู้มาจากเมืองนั้น"[20] เออร์ซุลา ซอตเตอร์สนับสนุนทฤษฎีการย้ายถิ่นเช่นกัน โดยอ้างอิงงานของเยือร์เกิน อูดอล์ฟที่เสนอว่าหลังเดนมาร์กพ่ายแพ้ในยุทธการที่บอร์นฮือเวดในปี ค.ศ. 1227 เดนมาร์กได้ถอนตัวจากตอนใต้ของทะเลบอลติก บรรดามุขนายกและขุนนางแห่งพอเมอเรเนีย บรานเดนบวร์ก อุกเคอร์มาร์กและพริกนิตซ์จึงเสนอให้ชาวเยอรมันย้ายเข้ามาอยู่ ซึ่งมีผู้คนจากนีเดอร์ซัคเซินและเวสต์ฟาเลียหลายพันคนเข้ามาอาศัย ทั้งนี้ยังพบชื่อสถานที่แบบเวสต์ฟาเลียปรากฎในพื้นที่นั้น[21]

ความขัดแย้งศาสนาคริสต์–ลัทธินอกศาสนา

มีข้อสังเกตถึงรายงานท้องถิ่นทั้งหมดที่ระบุวันเกิดเหตุเป็นวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งตรงกับการฉลองวันกลางฤดูร้อนของลัทธินอกศาสนา การที่เด็กถูกพาตัวไปยังคอพเพินหรือเนิน ซึ่งธรรมเนียมท้องถิ่นบางแห่งในเยอรมนีมีการฉลองวันกลางฤดูร้อนด้วยการก่อกองไฟบนเนินเขา นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเชมันลัทธินอกศาสนาอาจลวงเด็กไปทำพิธีฉลองวันกลางฤดูร้อนก่อนจะเกิดเรื่องร้าย[22]

อื่น ๆ

บางทฤษฎีเชื่อมโยงการหายตัวไปของเด็กเข้ากับอุปาทานหมู่อย่างโรคชอบเต้น ทั้งนี้มีการระบาดของโรคชอบเต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1237 เมื่อกลุ่มเด็กขนาดใหญ่เดินทางจากเมืองแอร์ฟวร์ทไปยังอาร์นชตัทโดยกระโดดโลดเต้นไปตลอดทาง[23] เหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับตำนานนักเป่าปี่ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน[24]

บางส่วนเสนอว่าเด็กอาจเดินทางออกจากเมืองฮาเมิลน์เพื่อจาริกแสวงบุญ ทำสงครามหรือแม้แต่เป็นสงครามครูเสดเด็กครั้งใหม่แต่ไม่ได้กลับมาอีกเลย ชาวเมืองจึงอาจสร้างตำนานนักเป่าปี่ขึ้นเพื่อปกปิดความจริงจากศาสนจักรหรือผู้ปกครอง[25]

วิลเลียม แมนเชสเตอร์เสนอในหนังสือ A World Lit Only by Fire ว่าตำนานนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1484 และตั้งข้อสังเกตว่านักเป่าปี่อาจเป็นโรคใคร่เด็ก[26]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นักเป่าปี่แห่งฮาเมิลน์ http://www.hameln.com/tourism/piedpiper/rf_sage_gb... http://www.merriam-webster.com/dictionary/pied%20p... http://www.trivia-library.com/b/true-story-the-pie... http://pages.pedf.cuni.cz/tamara-buckova/files/201... http://www.marktkirche-hameln.de/marktkirche/kirch... http://www.museum-hameln.de/museum/rattenfaenger.p... http://www.pitt.edu/~dash/hameln.html#grimm245 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/14255255 //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/326865 //doi.org/10.1016%2FS0140-6736(65)92112-4