ปรอฮก
ปรอฮก

ปรอฮก

ปรอฮก (เขมร: ប្រហុក, ปรหุก) ภาษาเขมรถิ่นไทยเรียก ปร็อละ[1] หรือ ประเฮาะ[2] ในประเทศไทยจะเรียกว่า ปลาร้าเหนียว หรือ ปลาร้าเขมร[3] คือ เนื้อปลาหมัก (โดยเฉพาะปลาช่อน) ใช้เป็นวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงรสในอาหารกัมพูชา มีต้นกำเนิดมาจากการถนอมอาหารในช่วงที่ปลาขาดตลาดด้วรสชาติที่เค็มและมีกลิ่นรสแรง ปรอฮกจึงถูกใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อเสริมรสอาหารต่าง ๆ เช่น น้ำแกง หรือน้ำซอส ชาวเขมรมีคำพูดว่า "ไม่ใส่ปรอฮก ไม่ใส่เกลือ" แปลว่าอาหารชนิดนั้นมีรสชาติแย่หรือจืดชืด อันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปรอฮกในสำรับอาหารกัมพูชา แต่ด้วยกลิ่นและรสชาติที่แรง ปรอฮกจึงมีสมญาว่า ชีสกัมพูชา[4][5] บ้างก็ว่ามีกลิ่นฉุนแรงกว่าปลาร้าของไทย[6][7] มีลักษณะแห้งและค่อนข้างแข็ง สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า ต่างกับปลาร้าที่มีลักษณะเหลวและต้องเก็บไว้ในไห[3] ปรอฮกเป็นกับข้าวที่ใช้รับประทานเคียงกับข้าวสวย พร้อมผักสดต่าง ๆ เป็นต้นว่า ถั่วฝักยาว แตงกวา ถั่วพลู และมะเขือต่าง ๆ หรือเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร เช่น ปรอฮกคะติ (เขมร: ប្រហុកខ្ទិះ, ปรหุกขะทิ) หรือน้ำพริกปลาร้ากะทิเขมร[8] บรรจบ พันธุเมธา กล่าวถึงปรอฮกไว้ว่า "...อาหารเขมรแท้ ๆ นั้นใส่ปลาร้าแทบทุกอย่าง แม้แต่ต้มยำ หรือตึกเกรือง ที่เป็นน้ำจิ้มของเขา ก็หาใช่กะปิไม่ กลับใส่ปลาร้าหรือปลาย่างแทน เพราะฉะนั้นคนกินปลาร้าไม่เป็นจึงต้องระวัง..."[9]ปรอฮกมีกรรมวิธีถนอมอาหารเช่นเดียวกับปลาเจ่าของประเทศไทย คือจะต้องนำปลาไปทำความสะอาด คัดขนาด ก่อนนำปลาไปหมักเกลือไว้สักระยะหนึ่ง ต่อมานำปลาที่หมักมาผึ่งแดด ก่อนนำไปหมักต่อ[7][9] แต่รสชาติของปรอฮกจะออกรสคล้ายปลาส้ม[10] ปัจจุบันชาวเขมรลัดขั้นตอนการทำ เพราะไม่นำปลาที่หมักเกลือขึ้นมาตากแดด จนมีลักษณะใกล้เคียงกับปลาร้าของไทย[7] ปรอฮกได้รับความนิยมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนต้องมีการนำเข้าปลาจากประเทศไทยเพื่อไปแปรรูปเป็นปรอฮกต่อไป[10] ขณะที่ปรอฮกของสกุลอภัยวงศ์ ซึ่งสืบสันดานมาจากสกุลขุนนางเขมรในเมืองพระตะบอง ทำมาจากปลาช่อนตัวใหญ่ แล่เอาแต่เนื้อ ไปหมักกับเกลือและข้าวคั่ว ก่อนนำมาประกอบอาหาร จะต้องห่อใส่ใบตอง และปิ้งด้วยไฟอ่อน ๆ จนสุก จึงจะหอมน่ารับประทาน ไม่มีกลิ่นคาว[11]ส่วนชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ มีกรรมวิธีต่างออกไป คือจะนำเนื้อปลา (โดยเฉพาะปลาไหลและปลาช่อน) ไปใส่ในหลุมดิน แล้วเอาเปลือกไม้ของต้นหมากติ้วไปรองไว้ก้นหลุม นำเกลือและรำอ่อนใส่ตามลงไป ตำให้ส่วนผสมเข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อน จากนั้นนำไปตากในตาข่ายให้แห้งแล้วใส่กระชุ ก็จะได้ปลาร้าเหนียว[3] แต่ปลาร้าเหนียวสิ้นความนิยมไปจากอีสานใต้ หลังเกิดข้อพิพาทเขาพระวิหารระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2505 ชาวเขมรจากฝั่งกัมพูชาเกรงกลัวว่าทหารไทยจะจับกุมจึงเลิกขายไป[12]

ปรอฮก

ภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พลังงาน(ต่อ หน่วยบริโภค) 125 กิโลแคลอรี (523 กิโลจูล)
จานอื่นที่คล้ายกัน กะปิ, บากูอง, งาปิ
ไขมัน 24 กรัม
ส่วนผสมหลัก ปลาหมัก
คาร์โบไฮเดรต 43 กรัม
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง กัมพูชา
แหล่งกำเนิด กัมพูชา
คุณค่าทางโภชนาการ(ต่อserving)โปรตีนไขมันคาร์โบไฮเดรต
โปรตีน32 กรัม
ไขมัน24 กรัม
คาร์โบไฮเดรต43 กรัม
โปรตีน 32 กรัม

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปรอฮก https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/artic... https://www.lilysecretgarden.com/blog/prahok-the-c... https://www.ozy.com/around-the-world/rotting-fish-... https://mgronline.com/indochina/detail/95000000199... https://www.matichonacademy.com/content/recipes/ar... https://www.thaipbs.or.th/news/content/194379 https://www.sentangsedtee.com/food-recipes-for-job... https://arit.chandra.ac.th/archives/doc/fable/23.p... https://web.archive.org/web/20220527191138/https:/...