ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เผชิญกับช่วงเวลาที่เกิดปัญหาจากวิกฤติการณ์ และความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงชนิดที่สร้างรอยร้าวขนาดใหญ่ให้แก่สังคมไทยด้วยการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายที่คอยเข้าห้ำหั่น และประหัตถ์ประหารกันในทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ดังสะท้อนให้เห็นผ่านเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และ วิกฤติการณ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และจิตใจของผู้คนชาวไทยอย่างร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2554 - 2555 จึงได้เกิดกระแสเรียกร้องให้สร้าง “ความปรองดองแห่งชาติ” ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (หรือ คอป.) ตลอดจนการเสนอแผนปรองดองฉบับต่างๆ จากหลายๆ ฝ่ายออกสู่สาธารณชนโดยหวังว่าอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่จะสามารถช่วยประสานความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมไทยให้คลี่คลายลงไปได้บ้าง

ในสภาพการณ์ของกระแสเรียกร้องให้มีการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นดังกล่าวนี้เอง ที่ดูเหมือนกระบวนการปรึกษาหารือ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มี “สุนทรียเสวนา” (dialogue) ตามรายงานการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทั้งภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในสังคม เพื่อปรับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกหรือแนวทางในการปรับโครงสร้างทางการเมือง และสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่แต่ละฝ่ายให้การยอมรับนั่นเอง (รายงานสถาบันพระปกเกล้า, 2555: 17)[4]

อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนสูง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคงไม่อาจแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้ เป็นแต่เพียงกระบวนการเสริมเพื่อลดจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนและตัดสินด้วยเสียงข้างมาก กระบวนการปรึกษาหารือในระบอบประชาธิปไตยจากการพูดคุย และถกเถียงกัน จะนำไปสู่การสร้างสัญญาประชาคมใหม่ทั้งต่อพลเมืองด้วยกัน และระหว่างพลเมืองกับผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกันที่จะทำให้พลเมืองของรัฐนั้นสามารถร่วมกันจรรโลงสังคม และสร้างกฎระเบียบใหม่ที่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างที่พวกเขาต้องการได้อย่างยั่งยืน