ราชอาณาจักรสเปน ของ ประวัติศาสตร์สเปน

อาณาจักรต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียประมาณปี ค.ศ. 1360

ในขณะที่การยึดดินแดนคืนกำลังดำเนินอยู่นั้น ราชรัฐและราชอาณาจักรคริสต์ทางตอนเหนือก็พัฒนาขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อาณาจักรที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอาณาจักรคริสต์เหล่านี้ได้แก่ ราชอาณาจักรกัสติยา (ครอบครองตอนกลางและตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย) และราชอาณาจักรอารากอน (ครอบครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร) กษัตริย์ผู้ปกครองของอาณาจักรทั้งสองนี้เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ในโปรตุเกส (ซึ่งประกาศแยกตัวจากอาณาจักรกัสติยาและเลออนไปเป็นอิสระตั้งแต่ปี ค.ศ. 1129) ฝรั่งเศส และอาณาจักรใกล้เคียงอื่น ๆ บ่อยครั้งจะมีการอภิเษกสมรสระหว่างพระโอรสกับพระธิดาจากราชวงศ์ของอาณาจักรเหล่านี้ ทำให้ดินแดนที่ราชวงศ์เหล่านั้นปกครองได้เข้ามารวมกันอยู่เป็นอาณาจักรเดียว แต่ก็อาจจะแยกออกจากกันภายหลังได้เช่นกัน หากผู้ปกครองอาณาจักรนั้นสิ้นพระชนม์ลงและมีการแบ่งดินแดนให้พระโอรสและพระธิดาพระองค์ต่าง ๆ ปกครอง

แม้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (ชาวยิวและชาวมุสลิม) จะได้รับการยอมรับให้อยู่ร่วมกันกับชาวคริสต์ในกัสติยาและอารากอน (ซึ่งเป็นอาณาจักรคริสต์เพียงสองแห่งที่ชาวยิวไม่ถูกจำกัดการประกอบอาชีพ) ก็ตาม แต่สถานการณ์ของชาวยิวก็เริ่มแย่ลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และถึงจุดร้ายแรงเมื่อปี ค.ศ. 1391[48][49] ซึ่งมีการสังหารหมู่ชาวยิวเกิดขึ้นแทบทุกเมืองใหญ่ เช่น เซบิยา โตเลโด บาเลนเซีย บาร์เซโลนา และโลกรอญโญ[48] เมื่อถึงศตวรรษต่อมา ครึ่งหนึ่งจากจำนวนชาวยิวในสเปนประมาณ 200,000 คนได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์แล้ว เรียกว่าพวก "กอนเบร์โซส"

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในปี ค.ศ. 1474 ทำให้ราชบัลลังก์กัสติยาว่างลงเนื่องจากไม่มีรัชทายาท เกิดความขัดแย้งในการการอ้างสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ระหว่างฝ่ายของเจ้าหญิงคัวนา ลาเบลตราเนคาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรตุเกสและฝรั่งเศส กับฝ่ายของเจ้าหญิงอิซาเบลลาที่ได้รับการสนับสนุนจากอารากอนและชนชั้นสูงของกัสติยา จนกระทั่งหลังจากสงครามการสืบราชบัลลังก์กัสติยาสิ้นสุดลง อิซาเบลลาก็ได้ขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม "สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 แห่งกัสติยา" (Isabella I of Castile; Isabel I de Castilla) และทรงปกครองอาณาจักรร่วมกับพระราชสวามี (ซึ่งทรงอภิเษกสมรสกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1469 ที่เมืองบายาโดลิด) คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 แห่งกัสติยา ต่อมาในปี ค.ศ. 1479 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 ได้ทรงขึ้นครองอาณาจักรอารากอนต่อจากพระเจ้าจอห์นที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดาด้วย และเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอน" (Ferdinand II of Aragon; Fernando II de Aragón) การอภิเษกสมรสและครองราชย์ร่วมกันครั้งนี้ได้ทำให้ราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนเข้ามารวมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นราชอาณาจักรสเปนในเวลาต่อมา[50]

พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 (ซ้าย) และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลา (ขวา)

หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาและพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ทรงยึดเมืองกรานาดาคืนจากชาวมุสลิมได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1492 (ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการพิชิตดินแดนคืน) ก็ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม "พระมหากษัตริย์คาทอลิก" (Catholic Monarchs; Reyes Católicos) ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ที่ทรงได้รับจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 นอกจากนี้ ในสมัยของพระองค์ทั้งสอง กัสติยาและอารากอนยังได้รับกรรมสิทธิ์ในการครอบครองหมู่เกาะคะแนรีในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทั้งสองทรงอนุมัติและสนับสนุนการสำรวจดินแดนของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ไปถึงโลกใหม่ (หากไม่นับเลฟ เอริกสัน) ซึ่งจะนำความมั่งคั่งเข้ามาสู่สเปนและเป็นทุนให้รัฐใหม่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของยุโรปในอีกสองศตวรรษถัดมา

ในปี ค.ศ. 1492 กษัตริย์คาทอลิกทั้งสองพระองค์ได้ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายกับคนต่างศาสนา คือ ทรงออกพระราชกฤษฎีกาอาลัมบรา (Alhambra Decree; Decreto de la Alhambra) ให้ชาวยิวที่เหลือเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มิฉะนั้นก็ต้องอพยพออกไปจากสเปน ซึ่งพอประมาณได้ว่าจำนวนชาวยิวที่ถูกขับไล่ออกไปนั้นอยู่ที่ 150,000[51]-200,000 คน[52] และอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา ชาวมุสลิมก็ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา (เรียกว่าพวก "โมริสโกส") หรือไม่ก็ถูกขับไล่ออกไป แต่ชาวยิวและชาวมุสลิมก็ไม่ใช่ประชากรเพียงสองกลุ่มในสเปนที่ถูกไล่ล่าในช่วงนี้ ชาวยิปซีก็ถูกรวมอยู่ในบัญชีกลุ่มคนที่จะต้องถูกกลืนเชื้อชาติศาสนาหรือถูกเนรเทศเช่นกัน[53]

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลายังทรงสร้างความมั่นคงทางการเมืองของสเปนในระยะยาวด้วยวิธีจัดการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์กับพระราชวงศ์ของอาณาจักรอื่น ๆ ในยุโรป พระราชธิดาพระองค์แรกคือเจ้าหญิงอิซาเบลลา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลฟอนโซแห่งโปรตุเกส เจ้าหญิงโจแอนนาพระราชธิดาพระองค์ที่สองทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปรูปหล่อ พระราชโอรสของจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (ออสเตรีย) และทรงมีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางและมีอำนาจมากด้วย เจ้าชายจอห์นพระราชโอรสพระองค์แรกและพระองค์เดียว ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรตแห่งออสเตรีย (พระขนิษฐาของเจ้าชายฟิลิปรูปหล่อ) พระราชธิดาพระองค์ที่สี่ เจ้าหญิงมาเรีย ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ามานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และพระราชธิดาพระองค์ที่ห้า เจ้าหญิงแคเทอรีน ทรงสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กษัตริย์แห่งอังกฤษ และต่อมากลายเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1

มหาวิทยาลัยซาลามังกา

ภาษาและมหาวิทยาลัยของสเปน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันในเขตที่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่ของดินแดนที่เป็นประเทศสเปนปัจจุบัน ได้แก่ ภาษากัสติยา ภาษากาตาลา ภาษาบาสก์ ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน และภาษาอัสตูเรียส-เลออน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งศตวรรษนี้ มีเฉพาะภาษากัสติยา (ซึ่งจะพัฒนามาเป็นภาษาสเปนทุกวันนี้) ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ[ต้องการอ้างอิง] ในอาณาจักรกัสติยาในฐานะภาษาแห่งวัฒนธรรมและการสื่อสาร ตัวอย่างหนึ่งคือ บทสดุดีวีรกรรมของเอลซิด กัมเปอาดอร์

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 นักบุญ ก็เริ่มมีการใช้ภาษากัสติยาบ้างในเอกสารต่าง ๆ แต่มากลายเป็นภาษาราชการก็ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ผู้ชาญฉลาด และนับจากนั้นเป็นต้นมา เอกสารต่าง ๆ ของทางการก็จะถูกเขียนขึ้นเป็นภาษากัสติยา รวมทั้งตำราจากภาษาอื่นก็ได้รับการแปลเป็นภาษากัสติยาแทนภาษาละติน

ยิ่งไปกว่านั้น ในศตวรรษเดียวกันนี้เอง มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในอาณาจักรกัสติยา บางแห่ง (เช่น มหาวิทยาลัยซาลามังกา) เป็นหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป และในปี ค.ศ. 1492 ภายใต้การปกครองของกษัตริย์คาทอลิก ตำราไวยากรณ์ภาษากัสติยาฉบับแรกก็ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นโดยอันโตเนียว เด เนบรีคา[54]

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...