คาถา ของ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

จุดเด่นสำคัญของปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือคาถาตอนท้ายพระสูตร ที่ว่า "คะเต คะเต ปารคะเต ปารสังคะเต โพธิสวาหา" หรืออาจแปลโดยคร่าวๆ ได้ว่า "จงไป จงไป ไปถึงฝั่งโน้น ไปให้พ้นโดยสิ้นเชิง บรรลุถึงความรู้แจ้ง หะเหวย!" อย่างไรก็ตาม ต้นฉบับในภาษาต่าง ๆ มักละไว้ ไม่แปลคาถานี้ ตามตำนานฝ่ายจีนระบุว่า คณาจารย์ชาวอินเดียที่เดินทางมาประกาศพระศาสนาในแผ่นดินจีน ไม่แปลคาถานี้เพราะท่านทราบดีว่า ไม่มีทางที่จะทำได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายความนัยอันลี้ลับของคาถานี้ [20] กล่าวกันว่า หากผู้ใดสาธยายคาถาในพระสูตรจนบังเกิดสมาธิขึ้น บัดนั้นความนัยอันลึกซึ้งของคาถาก็จะเปิดเผยขึ้นมาเอง [21]

ขณะที่คณาจารย์ทิเบตตีความไปในแนวทางพุทธตันตระ โดยบางท่านตีความว่า คาถานี้ เป็นการแสดงถึงการเคี่ยวกรำบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ผ่านภพภูมิต่างๆ กล่าววคือ ภพภูมิชั้นมูลฐาน หรือสัมภารมรรค (คะเต คะเต) ผ่านถึงภาคแรกของภพภูมิแรก หรือประโยคะมรรค (ปารคะเต) ถึงภาคที่สองของภพภูมิแรกจนถึงภพภูมิที่สิบ หรือประโยคะแห่งสุญตาจนถึงภาวนามรรค (ปารสังคะเต) กระทั่งจนถึงภูมิที่สิบเอ็ด หรืออไศกษะมรรค (โพธิสวาหา) ดังที่ เกเช เคลซัง กยัตโซ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ The New Heart of Wisdom ความว่า "คาถานี้ ซึ่งอยู่ในพากย์ภาษาสันสกฤต อธิบายการปฏิบัติตามแนวทางมหายานไว้อย่างเข้มข้นที่สุด ซึ่งเราจักบรรลุและโดยสมบูรณ์โดยผ่านปัญญาบารมี (ปรัชญาปารมิตา) [22]

พระมหาคณาจารย์โพธิ์แจ้งและมหาวัชราจารย์โซนัมรินโปเช่ กล่าวว่า "คำสวดนี้เป็นคาถาหัวใจของปรัชญาปารามิตาสูตร เลียนคำมาจากสันสฤตโบราณ ฉะนั้นจึงไม่ขอแปลความหมาย บทธารณีในภาษาจีนได้จบเพียงเท่านี้ แต่ในสันสฤตได้มีอีกประโยคว่า ได้กล่าวปรัชญาปารามิตาสูตรจบแล้ว ในภาษาทิเบตมีการบรรยายที่มาของพระสูตร และ บท สรุปของพระสูตรนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า “ดูกรกัจจนะโลกนี้ติด อยู่กับสิ่งสองประการ คือ “ความมี”และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย ในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความไม่มี”อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น ดูก่อนกัจจนะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น”" [23]