รายละเอียด ของ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรจัดอยู่ในพระสูตรหมวดปรัชญาปารมิตาของพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน และถือเป็นพระสูตรฝ่ายมหายานที่โดดเด่นที่สุดในหมวดนี้ เช่นเดียวกับวัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นออกเป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ส่วนพระสูตรที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง) มีทั้งหมด 260 ตัวอักษรจีน ในภาษาอังกฤษมักแปลออกมาได้จำนวน 16 บรรทัด จำนับเป็นพระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตาที่มีขนาดกระชับที่สุด เนื่องจากพระสูตรในหมวดนี้มักมีขนาดยาว ที่ยาวที่สุดมีจำนวนถึง 100,000 โศลก ทั้งนี้ เกเช เคลซัง กยัตโซ คณาจารย์ด้านพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตได้ให้กถาธิบายเกี่ยวกับพระสูตรนี้ไว้ว่า

"สารัตถะแห่งปรัชญาปารมิตาสูตร (ปรัชาปารมิตาหฤทัยสูตร) มีขนาดสั้นมากเมื่อเทียบกับปรัชญาปารมิตาสูตรอื่น ๆ แต่พระสูตรนี้ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งความหมายโดยนัยตรงและนัยประหวัดของพระสูตรขนาดยาวไว้ท้งหมด" [4]

เอ็ดเวิร์ด คอนเซ (Edward Conze) ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธได้จัดลำดับพระสูตรนี้ ให้อยู่ในลำดับที่ 3 ของทั้งหมด 4 ลำดับพัฒนาการของพระสูตรสายปรัชญาปารมิตา อย่างไก็ตาม พระสูตรนี้อาจมีช่วงลำดับพัฒนาการคาบเกี่ยวกับยุคที่ 4 เนื่องจากตอนท้ายของพระสูตรปรากฏคาถา (ซึ่งบางครั้งเรียกว่าธารณี) อันเป็นลักษณะของพัฒนาการของสายตันตระ ซึ่งเป็นพัฒนาการช่วงหลังสุดของพุทธศาสนา นอกจากนี้ ในบางกรณีพระสูตรดังกล่าวยังได้รับการจัดหมวดหมู่เข้าอยู่ในหมวดตันตระ ในพระไตรปิฎกสายทิเบตบางสาย [5] คอนเซ ประเมินอายุของพระสูตรไว้ว่า น่าจะมีจุดกำเนิดอยู่ในช่วงปีค.ศ. 350 แต่นักวิชาการบางคนคาดว่า น่าจะมีอายุเก่ากว่าถึง 2 ศตวรรษ [6] อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ไม่สามารถประเมินอายุของพระสูตรได้เกินศตวรรษที่ 7 [7]

พระสูตรฉบับภาษาจีนมักนำมาสาธยายระหว่างประกอบพิธีทางศาสนาโดยพระภิกษุนิกายฉาน (เซน) ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญกับนิกายชินงอน โดยท่านคูไค ผู้ก่อตั้งนิกายนี้ในญี่ปุ่นยังได้รจนาอรรถกถาไว้ รวมถึงอีกหลายนิกายในศาสนาพุทธแบบทิเบตก็ยังศึกษาพระสูตรนี้อย่างยิ่งยวดอีกด้วย

พระสูตรนี้จัดอยู่ในกลุ่มพระสูตรจำนวนหยิบมือที่มิได้เป็นพุทธวจนะโดยตรง ในบางฉบับมีการเอ่ยถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชื่นชมและรับรองวจนะของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อาทิเช่นพระสูตรฉบับฝ่าเยว่ ที่มีอายุราวปีค.ศ. 735 [8] อย่างไรก็ตาม การระบุถึงในส่วนนี้ ไม่ปรากฏในฉบับของพระถังซำจั๋ง ขณะที่ฉบับภาษาทิเบตมีขนาดยาวกว่า [9] [10] กระนั้นก็ตาม ฉบับแปลภาษาทิเบตซึ่งพบที่ตุนหวงไม่ปรากฏอารัมภกถา ส่วนในพระไตรปิฎกฉบับภาษาจีนเก็บรักษาทั้งฉบับยาวและฉบับสั้น ซึ่งยังคงพบต้นฉบับในภาษาสันสกฤตทั้ง 2 ฉบับ [11]