ชื่อพระสูตร ของ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร

พระสูตรฉบับจื่อเฉียน ให้ชื่อไว้ว่า "ปัวญั่วปัวลัวมี เซินอีจ้วน" (般若波羅蜜[多]) [12] หรือ "ปรัชญาปารมิตา ธารณี" [13] ฉบับของพระกุมารชีพให้ชื่อไว้ว่า "มัวฮัวปัวญัวปัวลัวมี เซินอีจ้วน" (摩訶般若波羅蜜[多])[14] หรือ มหา ปรัชญาปารมิตา มหาวิทยา ธารณี ฉบับของพระเสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง) เป็นฉบับแรกที่มีคำว่า "หฤทัย" (心) แทรกไว้ในชื่อพระสูตร [15]

แม้ว่าโดยทั่วไปจะเรียกพระสูตรนี้ว่า พระสูตรหัวใจ หรือ Heart Sutra (心經) แต่คำว่า "สูตร" (經) มิได้ปรากฏในฉบับภาษาสันสกฤตแต่อย่างใด เพราะปรากฏเพียงว่า "ปรัชญาปารมิตาห์หฤทัย" [16] ฉบับของพระเสวียนจั้งเป็นฉบับแรกที่มีการเติมคำว่า พระสูตรเข้าไป แม้ว่าจะไม่พบฉบับภาษาสันสกฤตฉบับใดที่พ่วงท้ายด้วยคำว่า "สูตร" หรือพระสูตร คำนี้ได้กลายเป็นคำที่พบได้เป็นปกติในฉบับภาษาจีน ภาษาทิเบต และภาษาอังกฤษ [17] ทั้งนี้ ฉบับภาษาทิเบตบางฉบับเติมคำว่า "ภควตี" ต่อท้ายชื่อพระสูตร ตามความเชื่อเชิงบุคคลาธิษฐานเทศนาที่ว่า หลักธรรมปรัชญาปารมิตา หรือปัญญาบารมี มีรูปลักษณ์เป็นสตรี [18]