เมื่อเขมรแดงครองอำนาจ ของ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

ภาพสมาชิกระดับผู้นำของเขมรแดง - พล พต หรือซาลอธ ซาร์ หัวหน้าขบวนการ ยืนอยู่ตำแหน่งซ้ายมือสุด (ภาพนี้ถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ตวล สเลง)

ผู้นำของเขมรแดงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คณะกรรมการของพรรคระหว่างครองอำนาจได้แก่

  • พี่ชายหมายเลข 1 พล พต หรือลต ซอร์ เป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรคระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2541 เป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาประชาธิปไตยระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2522
  • พี่ชายหมายเลข 2 นวน เจียหรือฬง บุนรวต ประธานสภาตัวแทนประชาชนกัมพูชา
  • พี่ชายหมายเลข 3 เอียง ซารี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2518 – 2522
  • พี่ชายหมายเลข 4 เขียว สัมพัน ประธานสภาเปรซิเดียมและประมุขรัฐของกัมพูชาประชาธิปไตย
  • พี่ชายหมายเลข 5 ตา มก หรือ ชิต เชือน ผู้นำกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย ผู้นำเขมรแดงคนสุดท้าย เลขาธิการเขตตะวันตกเฉียงใต้ (เสียชีวิตระหว่างรอพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549)
  • พี่ชายหมายเลข 13 เก ปวก เลขาธิการทั่วไปเขตเหนือ
  • ซอน เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ยุน ยัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 – 2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ (แทนที่ ฮู นิมใน พ.ศ. 2520)

ในระหว่างที่มีอำนาจ เขมรแดงจัดการให้ประเทศปลอดจากอิทธิพลของต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม ยกเลิกธนาคาร การเงิน สกุลเงิน สั่งให้การนับถือศาสนาผิดกฎหมาย บังคับให้ประชาชนอพยพออกจากเมือง ไปอยู่ในนารวม เพื่อเปลี่ยนชาวกัมพูชาทั้งหมดให้เป็นประชาชนเก่าที่อยู่ได้ด้วยการเกษตร ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องล้มตาย ทั้งการขาดอาหาร โรคระบาด และถูกประหาร ในพนมเปญและเมืองอื่นๆ เขมรแดงบังคับให้ประชาชนอพยพออกมาเพราะอ้างว่าสหรัฐอเมริกาจะมาทิ้งระเบิด ประชาชนต้องไปอยู่ตามคอมมูน และค่ายสำหรับใช้แรงงาน คนบางกลุ่มถูกเลือกไปประหารชีวิต เช่นเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเขมร และคนที่มีความรู้ รวมทั้งคนที่สงสัยว่าจะทรยศ

กะโหลกศีรษะของเหยื่อของเขมรแดงส่วนที่เหลืออยู่ของเหยื่อของเขมรแดงที่ Kampong Trach Cave, Kiry Seila Hills, Rung Tik (Water Cave) หรือ Rung Khmao (Dead Cave).

อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคได้เกิดความแตกแยกภายในโดยเกิดกลุ่มที่ต่อต้าน พล พตขึ้น โดยเกิดการต่อต้านใน พ.ศ. 2520 และ 2521 ทำให้มีผู้ถูกประหารชีวิตนับพันคนรวมทั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ทั้งนี้ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับเวียดนามจะตกเป็นเป้าหมายของ พล พต

องค์กรหรืออังการ์

ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2520 พล พตประกาศถึงการมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาในสุนทรพจน์นาน 5 ชั่วโมง โดยประกาศตั้งอังการ์ (ภาษาเขมร: អង្គការ หมายถึงองค์กร) เป็นหน่วยงานที่ครองอำนาจสูงสุดในกัมพูชา ก่อนหน้านี้การมีอยู่ของพรรคถือว่าเป็นความลับ และพล พตยังคงถือเป็นความลับอยู่ในช่วงสองปีแรกที่ขึ้นครองอำนาจ เพื่อป้องกันศัตรูภายใน การประกาศการมีอยู่ของพรรคเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆก่อนที่ พล พตจะเดินทางไปเยือนจีน และเขมรแดงต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในการต่อต้านเวียดนาม พล พตกล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2503 โดยไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

ใกล้เคียง

พรรคความหวังใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์ (พม่า) พรรคคอมมิวนิสต์มลายา พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี