การก่อตั้งพรรคระยะแรก ของ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

พรรคก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนสลายตัวเพื่อแยกเป็นพรรคในแต่ละประเทศคือกัมพูชา ลาว และเวียดนาม การตัดสินใจแยกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเกิดขึ้นในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ชาวอินโดจีนในเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ก่อตั้งพรรคและการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในแต่ละแหล่งให้ข้อมูลต่างกันไป พรรคไม่ได้เลือกตั้งคณะกรรมการกลางแต่ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการก่อตั้งพรรคและการขยายตัว ในช่วงแรก พรรคใช้ชื่อว่าพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม ดังนั้น พรรคในระยะแรกจึงได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามด้วยในระยะแรกของการต่อสู้ และเพราะการที่ชาวเวียดนามเข้ามามีบทบาทมากในช่วงแรกนี่เอง จึงได้มีการเขียนประวัติพรรคขึ้นใหม่ โดยให้ พ.ศ. 2503 เป็นปีก่อตั้งพรรค

พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรถือเป็นต้นกำเนิดของขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ผู้นำของพรรค คือ เซิง งอกมิญและ ตู สามุต ในช่วงแรกสมาชิกของพรรคส่วนใหญ่คือคนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา ส่วนชาวกัมพูชาพื้นถิ่นจริง ๆ ที่เข้าร่วมกับพรรคมีจำนวนค่อนข้างน้อย พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้ปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระอื่น ๆ เข้าควบคุมพื้นที่ชนบทของประเทศได้อย่างกว้างขวาง แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ สามารถเรียกร้องเอกราชของกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสได้สำเร็จ พระองค์ก็ใช้เวทีการประชุมว่าด้วยปัญหาอินโดจีน ที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2497 ณ เมืองเจนีวา ต่อต้านข้อเรียกร้องของขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งที่ประชุมเองก็รับรองเอกราชของกัมพูชาภายใต้การนำของพระองค์ และไม่รับรองสถานะและกำหนดเขตที่ตั้งของฐานที่มั่นฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้เช่นกัน จากมติการประชุมดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ รวมถึงพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร สูญเสียบทบาททางการเมืองในกัมพูชา และต้องลี้ภัยไปอาศัยในเวียดนามเหนือตามข้อตกลงเจนีวา จำนวนผู้ลี้ภัยในขณะนั้นมีประมาณ 2,000 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีซิง งอกมิญรวมอยู่ด้วย[6]

สำหรับในมุมมองของเขมรแดง เวียดมิญล้มเหลวในการเจรจาเพื่อกำหนดบทบาทของพรรคในการประชุมเจนีวา พ.ศ. 2497 ขบวนการยังคงควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในเขตชนบท และควบคุมกำลังทหารราว 5,000 คน มีสมาชิกราว 1,000 คน รวมทั้งเซิง งอกมิญที่เดินทางไปยังเวียดนามเหนือและลี้ภัยที่นั่น ในปลายปี พ.ศ. 2497 กลุ่มที่เหลืออยู่ในกัมพูชาได้จัดตั้งพรรคที่ถูกกฎหมายคือกรมประชาชน ซึ่งเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 และ พ.ศ. 2501 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 ได้คะแนน 4% แต่ไม่เพียงพอที่จะได้ที่นั่งในสภา สมาชิกพรรคถูกกล่าวหาว่าอยู่นอกระบบสังคมของพระนโรดม สีหนุ รัฐบาลได้ขัดขวางการเข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2505 ของพรรค ทำให้พรรคต้องลงไปต่อสู้แบบใต้ดิน ในช่วงนี้เองที่พระนโรดม สีหนุเรียกเขมรฝ่ายซ้ายว่าเขมรแดง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย พล พต นวน เจีย เอียง ซารี เขียว สัมพันและคนอื่นๆ

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2497 ขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยังอาศัยอยู่ในกัมพูชาได้จัดตั้งพรรคการเมืองถูกกฎหมาย โดยใช้ชื่อพรรคว่า “กรมประชาชน” (Krom Pracheachon; กร็อมปราเจียจ็วน) หรือ “กลุ่มประชาชน” เพื่อลงเลือกตั้งสภาใน พ.ศ. 2498 ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคประชาชนได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ ส่วนพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดคือ พรรคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum) หรือ "กลุ่มสังคม” ของเจ้าสีหนุ [7]

หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง สมาชิกของพรรคประชาชนก็โดนกลุ่มของเจ้าสีหนุกดดันและตามจับกุมจนต้องหลบหนีไปอยู่ใต้ดิน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปไตยที่ถูกเจ้าสีหนุกดดันจนต้องสลายตัวไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากพระองค์กล่าวหาว่าพรรคเป็นอันตรายต่อนโยบายของพระองค์[8] การหลบหนีของพรรคประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลให้พรรคไม่ได้ลงเลือกตั้งครั้งต่อมา ใน พ.ศ. 2505 ในช่วงนี้เอง ที่เจ้าสีหนุเริ่มเรียกกลุ่มฝ่ายซ้ายที่แฝงอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยชื่อว่า “เขมรแดง”[9]

กลุ่มปัญญาชนปารีส

เมื่อราว พ.ศ. 2493 นักศึกษาเขมรในปารีสได้จัดตั้งขบวนการของตนเอง ซึ่งมีการติดต่อกับส่วนของพรรคในบ้านเกิด กลุ่มนี้ได้กลับสู่กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2503 และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสีหนุและลน นลใน พ.ศ. 2511 และเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มปัญญาชนปารีสมาจากชนชั้นเจ้าของที่ดินหรือข้าราชการ และมีการแต่งงานกันเองในกลุ่ม พล พตแต่งงานกับเขียว พอนนารี ส่วนเอียง ซารีแต่งงานกับ เขียว ธีริท ทั้งสองคนเป็นหญิงที่มีการศึกษาดี และต่อมามีบทบาทสำคัญในกัมพูชาประชาธิปไตย

ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่าง พ.ศ. 2492 – 2494 พลพต และเอียง ซารีเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ในพ.ศ. 2494 ได้เข้าไปในเบอร์ลินตะวันออกเพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองระดับเยาวชน เมื่อพวกเขากลับมาทำงานร่วมกับกลุ่มที่เคยต่อสู้ร่วมกับเวียดมิญมาก่อน พวกเขาเห็นว่าการปฏิวัติโดยใช้กำลังเท่านั้นจึงจะสำเร็จ พวกเขาจัดตั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ที่มีนักศึกษาเขมรในปารีสเข้าร่วมราว 200 คน ใน พ.ศ. 2495 พล พต ฮู ยวน เอียง ซารีและสมาชิกฝ่ายซ้ายอื่นๆ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพระนโรดม สีหนุ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในปีต่อมา ฝรั่งเศสสั่งยุบสมาคมนักศึกษาเขมร อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2499 ฮู ยวนและเขียว สัมพันได้จัดตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นในชื่อสหภาพนักศึกษาเขมร ซึ่งยังเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายเช่นเดิม วิทยานิพนธ์ของฮู ยวนและเขียว สัมพันได้แสดงแนวคิดที่ต่อมาจะถูกปรับเป็นนโยบายของกัมพูชาประชาธิปไตย โดยได้ท้าทายมุมมองของการพัฒนาโดยการทำให้เป็นเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรมและชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้วมากเกินไป

หลังจากกลับสู่กัมพูชาใน พ.ศ. 2496 พล พตได้เข้าร่วมงานกับเวียดมิญในพื้นที่ชนบทของจังหวัดกำปงจาม เมื่อสงครามสิ้นสุด เขาเข้าสู่พนมเปญพร้อมกับกลุ่มของตู สามุต ซึ่งเขากลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับพรรคที่ถูกกฎหมาย เอียง ซารี และฮู ยวนกลับมาเป็นครูในโรงเรียนมัธยมเอกชนที่ฮู ยวนช่วยในการก่อตั้งขึ้น เขียว สัมพันกลับจากปารีสใน พ.ศ. 2502 และไปสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยพนมเปญ และได้ออกหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ L'Observateur และถูกสั่งปิดในปีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของพระนโรดม สีหนุจับเขียว สัมพันเปลื้องผ้าและถ่ายรูปโชว์ในที่สาธารณะ เขียว สัมพัน ฮู นิม และฮูยวนถูกบังคับให้เข้าร่วม

การแตกแยกภายในพรรค

เมื่อ พ.ศ. 2498 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรแบ่งออกเป็นสองขั้วคือฝ่ายในเมืองนำโดยตู สามุต และฝ่ายชนบทนำโดยเซียว เฮง ทั้งสองกลุ่มต้องการปฏิวัติแต่มีเป้าหมายต่างกัน ฝ่ายในเมืองเป็นกลุ่มที่เน้นความร่วมมือกับเวียดนามเหนือและยอมรับว่าพระนโรดม สีหนุเป็นผู้ที่ช่วยให้กัมพูชาได้รับเอกราช จากฝรั่งเศส เป็นผู้นำที่เป็นกลาง กลุ่มนี้หวังว่าพระนโรดม สีหนุจะแยกตัวออกจากฝ่ายขวา และปรับมาร่วมมือกับฝ่ายซ้ายได้ การที่เจ้าสีหนุ ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางและไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น[10] จะทำให้เกิดประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อ “ปลดปล่อย” เวียดนามใต้ และมีแนวโน้มว่าพระองค์จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายเป็นแบบฝ่ายซ้ายแทน อีกกลุ่มหนึ่งเน้นความสำคัญของชนบท และต้องการกำจัดชนชั้นนายทุนให้หมดไป ฝ่ายชนบท ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังที่ในท้องที่ชนบทต่าง ๆ กลับสนับสนุนในมีการต่อสู้เพื่อล้มล้าง “ระบบขุนนาง” ของเจ้าสีหนุโดยเร็วที่สุด

ใน พ.ศ. 2502 เซียว เฮงยอมมอบตัวต่อรัฐบาลและให้ข้อมูลที่ตั้งพรรคในเขตชนบท ทำให้รัฐบาลทำลายที่ตั้งของพรรคได้ถึง 90% ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2503 จำนวนกองกำลังคอมมิวนิสต์ในกรุงพนมเปญและเมืองอื่น ๆ ของกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้เขตอำนาจของตู สามุตเป็นส่วนใหญ่ เหลือสมาชิกไม่ถึงร้อยคนใน พ.ศ. 2503

ใกล้เคียง

พรรคความหวังใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์ (พม่า) พรรคคอมมิวนิสต์มลายา พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี