สื่อมวลชนและที่ตั้ง ของ พระคัมภีร์คนยาก

จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมบนผนังด้านนอกของอารามโมลโดวิตาในโรมาเนีย
ดูบทความหลักที่: จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนังคือภาพเขียนบนพื้นผิวที่ฉาบด้วยปูนพลาสเตอร์ คำว่าจิตรกรรมฝาผนังในภาษาอังกฤษ “mural” มาจากภาษาลาตินว่า “muralis” ซึ่งเป็นงานที่มีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับงานโมเสกหรืองานกระจกสี และเป็นงานที่มีอายุยืนยาวอยู่ได้นานถ้าอยู่ในสภาพดี แต่ง่ายต่อการเกิดความเสียหายถ้าถูกความชื้นและรอยด่างจากควันเทียน จิตรกรรมฝาผนังที่บรรยายเรื่องราวมักจะเขียนกันบนตอนบนของผนังตอนบนหรือบนเพดาน และตอนล่างก็อาจจะเขียนให้ดูเหมือนหินอ่อนหรือม่าน นอกจากบริเวณดังกล่าวแล้วก็ยังมีเขียนกันตามโค้ง, เพดานโค้ง และ โดม

จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปะที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการตกแต่งในสิ่งก่อสร้างของโรมันโบราณ จิตรกรรมฝาผนังตกแต่งสิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดพบในสุสานใต้ดินแห่งกรุงโรม ภาพที่วาดหลายภาพเป็นรูปเคารพของพระเยซูในรูปแบบ “ชุมพาบาลผู้ประเสริฐ” (Good Shepherd) ที่มักจะเป็นภาพของชายหนุ่มไม่มีเครา ที่มีแกะคล้องอยู่บนไหล่ อีกหัวข้อหนึ่งที่นิยมกันคือ “แม่พระและพระกุมาร”, “โยนาห์” ถูกโยนลงทะเล, และ “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” ภาพเขียนภาพหนึ่งที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่ในสุสานอเรลลีที่เป็นภาพแรกๆ ของพระเยซูที่กลายมาเป็นภาพที่เขียนโดยทั่วไป เป็นภาพชายชาวยิวมีหนวดสวมเสื้อคลุมยาว ภาพนี้เป็นภาพที่ทรงทำการเทศนาแก่ฝูงแกะและแพะไม่ใช่แก่กลุ่มชน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น จิตรกรรมฝาผนังต่อมากลายมาเป็นงานศิลปะที่นิยมใช้ตกแต่งคริสต์ศาสนสถานโดยทั่วไป

หัวข้อเรื่องที่เขียนจากคัมภีร์ไบเบิลจะพบโดยทั่วไปในบริเวณต่าง ๆ ที่ประชากรนับถือคริสต์ศาสนาโดยทั่วไป ในโรมาเนียมีกลุ่มคริสต์ศาสนสถานที่ต่างจากคริสต์ศาสนสถานอื่นๆ ที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งภายนอกและภาพในโบสถ์กันอย่างอร่ามหรูหรา บนซุ้มโค้งใหญ่เป็นภาพ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย

นอกจากนั้นแล้วจิตรกรรมฝาผนังก็ยังเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปในอิตาลีที่วาดโดยวิธีที่เรียกว่า “จิตรกรรมฝาผนังปูนสด” หรือ “fresco” ที่เขียนบนปูนพลาสเตอร์ที่เพิ่งฉาบเสร็จที่ยังมีความชื้นอยู่บ้าง งานเขียนชิ้นเอกหลายชิ้นจากสมัยยุคกลาง จนถึง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงมีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันอยู่หลายแห่ง ชิ้นที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของการเขียนบรรยายเรื่องจากคัมภีร์ไบเบิลมิได้เป็นงานเขียนที่สร้างขึ้นสำหรับคนยากจนและเป็นงานเขียนสำหรับผู้มีอำนาจและมีฐานะดี คืองานเขียนภาพบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนโดยไมเคิล แอนเจโลระหว่าง ค.ศ. 1508 ถึง ค.ศ. 1512 สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2

การเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยเฉพาะทางตอนใต้ที่ผนังมักจะมีขนาดที่กว้างกว่าผนังที่สร้างกันทางตอนเหนือที่จะนิยมการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่า ในอังกฤษจิตรกรรมฝาผนังมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้นเพราะถูกทำลายไปมากระหว่างการปฏิรูปศาสนา งานจิตรกรรมฝาผนังชั้นดีมีพบอยู่บ้างในเยอรมนีและสเปน

งานโมเสก

ดูบทความหลักที่: งานโมเสก
งานโมเสกจากราวปี ค.ศ. 1118 ภายในอะยาโซเฟียในอิสตันบุลในตุรกี เป็นภาพจักรพรรดิจอห์นที่ 2 โคมเนนอสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์และพระมเหสีไอรีนขนาบแม่พระและพระกุมาร

งานโมเสกเป็นศิลปะตกแต่งบนพื้นราบโดยใช้ชิ้นหินหรือแก้วหลากสีฝังบนปูน งานโมเสกทองจะใช้การแปะแผ่นทองคำเปลวลงบนแผ่นกระจกใส และฝังด้านที่เป็นแผ่นทองคำเปลวลงบนปูน สีทองที่เห็นก็จะเป็นสีทองที่ลอดมาจากกระจกทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการขีดข่วนหรือการร่อน การใช้โมเสกสีทองมักจะใช้ในการสร้างฉากหลังของตัวรูปแบบที่ทำให้ภาพดูสว่างเรือง การฝังโมเสกทำได้บนพื้นผิวที่ราบเท่ากันที่แบนหรือโค้งที่มักจะใช้ในการตกแต่งเพดานโค้งหรือโดม คริสต์ศาสนสถานที่ตกแต่งด้วยโมเสกแทบทั้งสถานจะดูเหมือนเป็นห้องที่อาบด้วยภาพและลวดลายไปทั้งห้อง

งานโมเสกเป็นการตกแต่งที่นิยมกันทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน และเนื่องจากความคงทนของงานทำให้มีการนำไปใช้ในการตกแต่พื้นด้วย ที่เริ่มด้วยการตกแต่งด้วยกรวดชิ้นเล็ก ๆ หรือแผ่นกระเบื้องหินอ่อนชิ้นเล็ก ช่วงศาสนาคริสต์ยุคแรกก็จะนิยมการตกแต่งด้วยกระเบื้องกระจกบนผนังและเพดานโค้ง ตัวอย่างก็ได้แก่การตกแต่งเพดานโค้งที่มิได้เป็นเรื่องราวภายในที่เก็บศพซานตาคอแสตนซาในกรุงโรม ซึ่งเป็นที่เก็บพระศพของคอนสแตนตินาพระราชธิดาในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 แต่ตัวอย่างที่ดีของการตกแต่งอันวิจิตรจากปลายสมัยโรมันก็เห็นจะเป็นการตกแต่งมุขโค้งด้านสกัดของโบสถ์ซานตาพูเดนเซียนาในกรุงโรม ส่วนการตกแต่งที่โบสถ์ซานตาพราสเซเดไม่ไกลนักเป็นการตกแต่งงานโมเสกแบบไบแซนไทน์

งานโมเสกเป็นการตกแต่งที่นิยมกันเป็นอันมากในสมัย ไบแซนไทน์ที่มักจะพบทั่วไปในกรีซ, ตุรกี, อิตาลี, ซิซิลี, รัสเซีย และอื่นๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการใช้โมเสกทองในการตกแต่งโดมของมหาวิหารเซนต์พอลในกรุงลอนดอนเป็นภาพ “กำเนิดมนุษย์ แต่งานโมเสกเป็นงานที่หาดูได้ยากในบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ในยุโรปตะวันตก นอกไปจากปรากและอาเคิน

งานสลักหิน

ประติมากรรมที่แกะจากหินเป็นงานศิลปะที่ถาวรที่สุดในการสร้างภาพ ความทนทานต่อสภาพภาวะอากาศทำให้เป็นวิธีที่ใช้ในการสร้างสิ่งตกแต่งประดับภายนอกคริสต์ศาสถานที่อาจจะเป็นทั้งรูปสลักลอยตัวหรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้าง หรือเป็นแผงภาพนูน รูปสลักที่ใช้ตกแต่งภายนอกสิ่งก่อสร้างที่คงอยู่อย่างไม่เสื่อมโทรมเท่าใดนักมาจนถึงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็มาถูกฝนกรดกัดกร่อนทำลายเสียหายไปมากอย่างรวดเร็ว แต่รูปสลักหินที่ใช้ตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างยังคงรักษารูปทรงไว้เป็นอย่างดีเช่นรูปสลักภาพชุดชีวิตของนักบุญยอห์นให้บัพติศมาภายในมหาวิหารอาเมียงในฝรั่งเศส หรือรูปสลักบนฉากหินที่มหาวิหารซอลสบรีในอังกฤษ

ประติมากรรมสลักหินของคริสต์ศาสนามีพื้นฐานมาจากรูปสลักบนโลงหินของโรมันที่มักจะเป็นภาพสลักตกแต่ง โลงหินของคริสเตียนมักจะมีภาพตกแต่งที่เป็นแผงขนาดเล็กที่เป็นเรื่องราวหรือภาพพระเยซูบนบัลลังก์ล้อมรอบด้วยนักบุญ ในสมัยไบแซนไทน์ในอิตาลีการตกแต่งด้วยประติมากรรมนูนก็เริ่มนำไปใช้ในการตกแต่ง “คาเทดรา”, “แท่นเทศน์”, “ซุ้มชิโบเรียม” และสิ่งอื่นๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน ประติมากรรมสลักหินบนเสามักจะเป็นประติมากรรมตกแต่งแทนที่จะเป็นการบรรยายเรื่องราว ประติมากรรมที่บรรยายเรื่องราวในยุโรปตะวันตกมารุ่งเรืองที่สุดในสมัยโรมาเนสก์ และ สมัยกอทิก โดยเฉพาะในการตกแต่งมุขด้านหน้าด้านตะวันตก (West Front) ของมหาวิหาร ที่แพร่ขยายไปทั่วยุโรป ในอังกฤษการตกแต่งสถาปัตยกรรมด้วยประติมากรรมสลักหินที่เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ที่เด่นที่สุดจะเป็นการตกแต่งฉากหินที่เป็นช่องเล็กช่องน้อยบนมุขด้านหน้าด้านตะวันตก แต่งานเหล่านี้ก็ถูกทำลายเสียหายไปมากระหว่างการปฏิรูปศาสนา

หน้าต่างประดับกระจกสี

หน้าต่างประดับกระจกสีสร้างโดยการตัดกระจกสีเป็นชิ้นเล็กและนำมาประกอบเป็นภาพตามแม่แบบที่ร่างไว้โดยเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่ว ภายในกรอบแข็งที่ทำด้วยโลหะ รายละเอียดเช่นรายละเอียดบนใบหน้าก็อาจจะใช้วิธีวาดบนผิวกระจก และย้อมด้วยสีเหลืองสดเพื่อทำให้บริเวณที่ขาวเด่นขึ้น ผลที่ออกมาก็จะเป็นภาพที่อร่ามตาด้วยสีสัน และเพิ่มความสว่างให้แก่บริเวณภายในของตัวโบสถ์ด้วย ขณะที่ตัวหน้าต่างประดับกระจกสีจะใช้เป็นการบรรยายเรื่องราว ถ้าตะกั่วที่ใช้ในการเชื่อมได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดีหน้าต่างก็จะคงทนอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายร้อยปี

ในอิตาลีระหว่างสมัยไบแซนไทน์หน้าต่างมักจะปิดด้วยแผ่นอะลาบาสเทอร์บางๆ ที่แม้จะไม่เป็นรูปแต่ก็จะเป็นลวดลายเมื่อแสงส่องผ่าน งานอะลาบาสเทอร์ชิ้นที่เป็นรูปก็มีบ้างเช่นแผ่นอะลาบาสเทอร์ที่เป็นภาพพระวิญญาณบริสุทธิ์ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตรในกรุงโรม งานกระจกสีที่เป็นภาพแรกที่สุดเท่าที่ทราบเป็นภาพพระเศียรของพระเยซูขนาดเล็กที่บางชิ้นหลุดหายไปที่พบในคูไม่ไกลจากอารามลอร์ชที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 นอกจากนั้นก็มีแผ่นกระจกสีไม่มากนักจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11 ที่ปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ แผ่นแรกที่สุดเป็นแผ่นกระจกสีสี่แผ่นของพระเจ้าเดวิดและประกาศกสามองค์ที่มหาวิหารเอาก์สบวร์คในเยอรมนีที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1100 หน้าต่างประดับกระจกสีเป็นงานศิลปะหลักของการตกแต่งมหาวิหารและคริสต์ศาสนสถานต่างๆ ในฝรั่งเศส, สเปน, อังกฤษ และ เยอรมนี ในอิตาลีก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักที่สำคัญคือหน้าต่างที่สร้างโดยดุชโชที่มหาวิหารซีเอนา และที่ฐานของโดมที่มหาวิหารฟลอเรนซ์ที่ออกแบบโดยศิลปินฟลอเรนซ์ของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่รวมทั้งโดนาเทลโล, เพาโล อูเชลโล และ ลอเร็นโซ กิเบอร์ติ

จิตรกรรมแผง

ดูบทความหลักที่: จิตรกรรมแผง

จิตรกรรมแผงคืองานจิตรกรรมที่เขียนบนแผ่นไม้ ก่อนที่จะมีการเขียนด้วยสีน้ำมันที่ริเริ่มโดยศิลปินชั้นครูในเนเธอรแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จิตรกรรมแผงก็จะเขียนด้วยวิธีที่เรียกว่า “เทมเพอรา” โดยการผสมสีฝุ่นกับไข่แดง และเขียนลงบนพื้นขาว สีสันจะเกิดขึ้นจากชั้นสีต่างๆ ที่จิตรกรเขียนด้วยฝีแปรงสั้นๆ รายละเอียดสุดท้ายก็มักจะตกแต่งด้วยทองคำเปลว เมื่อมีการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป การเขียนภาพก็ทำได้ง่ายขึ้น และ จิตรกรก็สามารถเขียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 การเขียนด้วยวิธีที่ว่านี้ทำกันในอียิปต์ในการเขียน “ภาพเหมือนผู้ตาย” ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพที่อยู่เป็นอันมาก จิตรกรรมแผงเทมเพอราเป็นศิลปะที่นิยมทำกันในสมัยไบแซนไทน์และเป็นวิธีที่นิยมในการเขียน “ไอคอน” การเขียนด้วยเทมเพอราเป็นวิธีการเขียนที่ต้องทำกันอย่างประณีตบรรจง ซึ่งทำให้ภาพที่เขียนมักจะมีขนาดเล็ก และมักนำมาติดกันเป็นแผงโดยการใช้บานพับที่เรียกว่า “บานพับภาพสอง” หรือ “บานพับภาพสาม” หรือ “บานพับภาพหลาย” (polyptych) ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพบนบานพับ จิตรกรรมแผงที่ใช้เป็นฉากแท่นบูชายังคงมีเหลือให้เห็นอยู่โดยเฉพาะในอิตาลีที่รวมทั้งงานเขียนจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยศิลปินเช่นดุชโช, ชิมาบูเย และ จอตโต ดี บอนโดเน

เมื่อเทคนิคการเขียนภาพเปลี่ยนไปเป็นการเขียนด้วยสีน้ำมันจิตรกรรมแผงสีน้ำมันก็มาแทนที่จิตรกรรมแผงเทมเพอรา สีน้ำมันมีคุณสมบัติที่ทำให้สีดูอร่ามและลึกกว่าการเขียนด้วยสีฝุ่น ที่ทำให้ผิวภาพมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติมากกว่า

งานสีน้ำมันบนผ้าใบ

ดูบทความหลักที่: จิตรกรรมสีน้ำมัน

สีน้ำมันประกอบด้วยรงควัตถุผสมกับน้ำมันเมล็ดฝ้ายหรือน้ำมันชนิดอื่น ซึ่งเป็นวัสดุการเขียนที่ใช้เวลแห้งนาน ที่เป็นวิธีการเขียนที่ทำให้ศิลปินสามารถนำไปใช้ในการเขียนภาพแนวต่างๆ ได้ เช่นการเขียนบนแผงไม้แข็ง แต่เพราะความยืดหยุ่นของสีผสมทำให้ใช้เขียนบนผ้าใบที่ทำจากผ้าลินินเนื้อแน่นก็ได้ ทั้งน้ำมันเมล็ดฝ้ายและผ้าลินินจึงต่างก็เป็นผลิตผลของพืชชนิดเดียวกันที่ปลูกกันทางยุโรปตอนเหนือ การขึงผ้าใบบนกรอบสามารถทำให้สร้างภาพเขียนขนาดใหญ่ได้มากกว่าการเขียนบนแผ่นไม้ที่ทำกันมาแต่เดิม นอกจากนั้นน้ำหนักของภาพก็ยังเบากว่าและขนย้ายได้สะดวกกว่า แต่ง่ายต่อการได้รับความเสียหายระหว่างการขนย้ายมากกว่า

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จิตรกรรมสีน้ำมันจะเขียนกันอย่างปราณีตบรรจงเพื่อสร้างความราบมันและสว่างเรืองจากชั้นสีต่างๆ เพื่อเลียนแบบคุณสมบัติของการเขียนด้วยเทมเพอรา ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การใช้สีน้ำมันเพิ่มความเป็นอิสระมากขึ้น และการใช้ฝีแปรงก็กว้างและหยาบขึ้นจนสามารถเห็นฝีแปรงแบบต่างๆ ได้

สีน้ำมันเดิมเป็นวิธีการเขียนที่นิยมกันในการเขียนฉากแท่นบูชาและในที่สุดก็มาแทนที่การเขียนด้วยเทมเพอรา ความง่ายของการเขียนภาพขนาดใหญ่ด้วยสีน้ำมันนอกจากจะสามารถทำให้จิตรกรสามารถสร้างฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่กว่าเดิมได้ และมาแทนที่บานพับภาพที่ประกอบด้วยแผงเล็กๆ มาเชื่อมติดต่อกัน แต่ยังมีน้ำหนักเบากว่าไม้มาก ซึ่งทำให้สามารถใช้ติดตั้งบนเพดานได้ จิตรกรสามารถเขียนภาพบนผ้าใบที่ขึงไว้ในกรอบก่อนที่จะนำไปติดตั้งได้ โดยไม่ต้องใช้การตั้งนั่งร้านขึ้นไปเขียนกันบนเพดาน จิตรกรเวนิสเช่นทิเชียน, ทินโทเรตโต และ เพาโล เวโรเนเซต่างก็เขียนงานโดยวิธีนี้ ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เขียน “ทุกขกิริยาของพระเยซู” เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่

งานไม้

คุณสมบัติของไม้เหมาะกับการใช้ในการเป็นศิลปะตกแต่งต่างๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน ที่อาจจะเป็นงานแกะสลัก, งานปะแผ่นไม้บนผนัง หรือ งานฝังไม้กับวัสดุอื่น ไม้สามารถนำไปขัดเงา, ทาสี หรือ ปิดทองก็ได้ งานที่ทำก็อาจจะเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว งานที่แกะอย่างปราณีตโดยช่างฝีมือเช่นงานของทิลมัน รีเมนชไนเดอร์ หรือ งานสลักฉากแท่นบูชาที่คาลคาร์ทางตอนเหนือของเยอรมนี หรืองานแกะที่นั่งในบริเวณร้องเพลงสวดที่บาดชูสเซนรีดทางตอนใต้ของเยอรมนี เป็นงานที่ดูเหมือนมีชีวิตจิตใจ แต่งานแกะสลักไม้เหล่านี้ต้องได้รับการอนุรักษ์จากราและแมลงที่จะสร้างความเสียหายให้แก่เนื้อไม้

ในสมัยไบแซนไทน์งานแกะสลักจะนิยมการแกะงาช้างมากกว่าไม้ และส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นงานแกะสลักศิลปะคริสต์ศาสนาขนาดเล็ก, แผง หรือ เฟอร์นิเจอร์ เช่นงานแกะ “บัลลังก์แม็กซิมัส” สำหรับแม็กซิมัสแห่งราเวนนาผู้เป็นพระสังฆราชแห่งราเวนนา ที่เป็นภาพแกะนูนที่เป็นเรื่องราวของพระคัมภีร์ไบเบิลและนักบุญ ประติมากรรมไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่ยังมีอยู่เป็นงานไม้โอ้คทาสีปิดทองเป็นภาพการตรึงกางเขนของพระสังฆราชเยโรที่ทำระหว่าง ค.ศ. 969 ถึง ค.ศ. 971 ภายในมหาวิหารโคโลญ หลังจากนั้นประติมากรรมไม้ก็มีเหลืออยู่มาขึ้นทั้งในรูปของกางเขน, รูปสลักทั้งเล็กและใหญ่ที่อาจจะเป็นพระแม่มารีกับพระบุตร หรือ นักบุญ เฟอร์นิเจอร์ไม้ในคริสต์ศาสนสถานก็จะสลักเสลากันอย่างละเอียดสวยงามตามแต่กำลังทรัพย์ นอกจากนั้นก็ยังมีการสลักคาน และปุ่มไม้บนเพดาน ส่วนการแกะสลักฉากกางเขนก็ทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา งานแกะไม้โดยเฉพาะการแกะฉากแท่นบูชาในเยอรมนีมารุ่งเรืองที่สุดในสมัยปลายกอธิค/ต้นเรอเนสซองซ์ ในเบลเยียมการแกะสลักไม้มารุ่งเรืองที่สุดในสมัยบาโรกเมื่อมีการแกะแท่นเทศน์ขนาดใหญ่กันอย่างแพร่หลาย

งานโลหะ

งานโลหะของคริสต์ศิลป์มีหลายรูปหลายแบบตั้งแต่กางเขนขนาดเล็กไปจนถึงประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สร้างเป็นอนุสรณ์ให้แก่ผู้เสียชีวิตอันหรูหรางดงาม หรือในรูปของฉากกางเขนอันวิจิตร โลหะที่ใช้ก็มีตั้งแต่ทองคำเปลวหรือเงินถักไปจนถึงการหล่อสัมริด และ เหล็กดัด งานโลหะมักจะใช้ในการสร้างภาชนะที่ใช้สำหรับการทำพิธีศีลมหาสนิท, ในการสร้างเชิงเทียน และการตกแต่งขอบคันด้วยลวดลายและเทคนิคการสร้างงานโลหะแบบต่างๆ โลหะสามารถใช้ในการหล่อหลอม, ตี, บิด, สลัก, ฝัง และ ลงยา ถ้าอนุรักษ์อย่างถูกต้องก็จะเป็นงานที่คงทนอยู่ได้เป็นเวลานาน โลหะส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นทอง, เงินลงยา และ สัมริดลงยา

ตั้งแต่สมัยไบแซนไทน์ตอนต้นก็เริ่มจะมีงานโลหะที่เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับการทำพิธีศีลมหาสนิทออกมาในหลายรูปหลายแบบ บางชนิดเช่น “จานขนมปังศักดิ์สิทธิ์” (Paten) ที่พบที่อันติโอคมีการตกแต่งผิวโลหะ (Repoussé) เป็นลวดลายภาพเกี่ยวกับศาสนา จากคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก็เริ่มมีการสร้างกางเขนแบบไบแซนไทน์ และถ้วยอาร์ดาห์จากไอร์แลนด์ที่ตกแต่งด้วยการลงยาคลัวซอนเน (Cloisonné) ตั้งแต่สมัยโรมาเนสก์เป็นต้นมาก็มีงานโลหะต่าง เช่นการประดับแท่นบูชาด้วยทองที่มหาวิหารบาเซิล (ค.ศ. 1022), ประตูสัมริดของมหาวิหารมอนรีอาลโดยโบนันโน ปิซาโน (ค.ศ. 1185), อ่างศีลจุ่มอันวิจิตรที่โบสถ์นักบุญมีคาเอล ฮิลเดสไฮม์ (ค.ศ. 1240) และหีบใส่มงคลวัตถุและงานตกแต่งแท่นเทศน์ของมหาวิหารโคโลญ, งานตกแต่งแท่นบูชา และ สิ่งตกแต่งอื่นๆ เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1400 โดนาเทลโลประติมากรผู้มีชื่อเสียงถูกจ้างให้สร้างรูปลักษณ์สำหรับฉากสำหรับบาซิลิกาซานอันโตนิโอที่ปาดัว

พหุศิลป์

ดูบทความหลักที่: สื่อผสม

การสร้างงานศิลปะด้วยวัสดุหลายอย่างเป็นเรื่องที่ทำกันตามปกติ เช่นจิตรกรรมสีน้ำมันมักจะอยู่ในกรอบลงยาอันงดงามหรูหรา สิ่งที่ตกแต่งอย่างอร่ามเรืองรองมักจะเป็นการตกแต่งที่ใช้สื่อผสมโดยการผสานงานศิลปะประเภทต่างๆ เช่นจิตรกรรมและประติมากรรมเข้าเป็นงานชิ้นเดียวกัน

ที่บาซิลิกาซานมาร์โค งานที่มีชื่อเสียงฉากแท่นบูชาทองซานมาร์โค (Pala d'Oro) เป็นฉากแท่นบูชาที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีฉะนั้นลักษณะงานจึงมีทั้งอิทธิพลของศิลปะไบแซนไทน์และศิลปะกอธิค ฉากแท่นบูชาทองทำด้วยทองคำฝังด้วยเอนนาเมล, อัญมณี และ ไข่มุก งานสลักหินแข็งและงานแกะอัญมณีถือกันว่าเป็นงานที่มีคุณค่าในสมัยโบราณที่ใช้ช่างทองผู้มีฝีมือเป็นผู้ทำ ในสมัยบาโรกการใช้สื่อผสมก็เจริญถึงจุดสูงสุดเมื่อมีการสร้างแท่นบูชาจากงานฝังหินประดับ[3] (Pietra dura) และหินอ่อน, ไม้และโลหะ ที่มักจะมีจิตรกรรมสีน้ำมันประกอบด้วย งานบางชิ้นก็ออกมาเหมือนงานลวงตาที่ทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกว่าได้เห็นมโนทัศน์

งานสื่อผสมอื่นที่นิยมกันก็ได้แก่ประติมากรรมสำหรับสักการะโดยเฉพาะภาพพระแม่มารี ที่มักจะมีพระพักตร์ที่เขียนบนปูนพลาสเตอร์ แต่ก็มีบ้างที่ขี้ผึ้ง, งาช้าง, กระเบื้อง และ เครื่องดินเผาสีหม้อใหม่[4] (terracotta) ประติมากรรมก็มักจะทรงเครื่องอย่างหรูหราด้วยผ้าซาตินตกแต่งด้วยเปียโลหะ และ ลูกไม้, ไข่มุก, ประคำ และบางครั้งก็จะมีอัญมณี หรือสิ่งตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ถวายโดยผู้ศรัทธา

งานสื่อผสมอีกแบบหนึ่งที่สำคัญคืองาน “จัดฉาก” (Tableau) ที่อาจจะเป็นฉาก “พระเยซูในสวนเกทเสมนี” ที่นิยมสร้างกันในสุสานในเยอรมนี หรือ ฉาก “ความโทมนัส” ที่มักจะเป็นงานชุดที่ตั้งภายในคริสต์ศาสนสถานในเยอรมนีและฝรั่งเศส หรือ “การประสูติของพระเยซู” ที่ทำกันโดยทั่วไประหว่างเทศกาลคริสต์มัส

ใกล้เคียง

พระคัมภีร์คนยาก พระคันธารราฐ พระคันธารราษฎร์ พระคันธกุฎี พระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์หลัก พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเคลือบแคลง พระคัมภีร์ฉบับพระเจ้าเจมส์ พระคัมภีร์ไบเบิลภาษาละติน

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระคัมภีร์คนยาก http://amasis.com/biblia/ http://artchive.com/artchive/T/tintoretto.html http://www.classicalmosaics.com/photo_album.htm http://www.initaly.com/regions/friuli/tiepolo.htm http://www.invenicetoday.com/art-tour/churches/chu... http://www.orthodoxphotos.com/Monasteries_and_Chur... http://www.ourpasthistory.com/architecture/archite... http://www.paradoxplace.com/Perspectives/Venice%20... http://www.sacred-destinations.com/england/st-paul... http://www.scultura-italiana.com/Biografie/Di%20Ba...