บทบัญญัติ ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน_พ.ศ._2548

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางท้องที่หรือทั่วราชอาณาจักรก็ได้ มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมีหน้าที่เสนอแนะนายกรัฐมนตรี การประกาศสถานการณ์ฉูกเฉินใช้บังคับได้ไม่เกินคราวละสามเดือน โดยการต่ออายุเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้อีกกี่ครั้งก็ได้ คราวละไม่เกินสามเดือน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีทั้งนายกรัฐมนตรีประกาศก่อน แล้วจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี[1]

สถานการณ์ฉุกเฉิน หมายถึง สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือบางท้องที่ตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการก่อการร้าย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครอง เอกราช ผลประโยชน์ของชาติ ความปลอดภัยของประชาชน การป้องปัดหรือแก้ไขความเสียหายจากภัยพิบัติ (มาตรา 4)

สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือเชื่อว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สิน ของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติ (มาตรา 11)

อำนาจของนายกรัฐมนตรี

ในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ (มาตรา 9)

  1. ประกาศเคอร์ฟิว
  2. ห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุม หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบ
  3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
  4. ห้ามหรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
  5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่หนึ่ง
  6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจดังต่อไปนี้ (มาตรา 11)[3]:132–3

  1. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้โฆษณา หรือผู้สนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
  2. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ หรือวัตถุต้องสงสัยอื่น
  3. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ
    1. ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง
    2. ตรวจสอบจดหมาย หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสาร
    3. สั่งห้ามมิให้พลเมืองไทยออกไปนอกราชอาณาจักร หรือให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร
  4. ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
  5. ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงาน หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
  6. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารช่วยระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน

สำหรับกระบวนการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการร้องขอต่อศาล หากศาลอนุญาตก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ แต่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำผิดมิได้ และสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีก คราวละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 30 วัน[3]:133 ปิยบุตร แสงกนกกุล เห็นว่า หากพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม "ประกาศตามาตรา ๑๑ ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘" ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ได้ก็น่าจะเป็นหลักประกันให้แก่บุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ดีระดับหนึ่ง[4]

ความรับผิด และบทลงโทษ

ผู้เสียหายจากการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่สามารถฟ้องคดียังศาลปกครองได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด "เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น" ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (มาตรา 17)[3]:133

ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 18)

ใกล้เคียง

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระราชวังต้องห้าม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังดุสิต พระราชวังสนามจันทร์