ประวัติ ของ พระองค์เจ้าศรีสังข์

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระองค์เจ้าศรีสังข์ เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ที่ประสูติแต่หม่อมจัน[6] ซึ่งประสูติก่อนที่พระชนกจะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช[7] ทั้งนี้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มคนเข้ารีตและชาวยุโรปมาก จนบาทหลวงในยุคนั้นวาดฝันไว้ว่าหากพระมหาอุปราชพระองค์นี้ขึ้นเสวยราชสมบัติ คงจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และจะทรงชักนำให้คนไทยเข้ารีตตามพระองค์เป็นแน่ แต่ความหวังของบาทหลวงกลับไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทิวงคตไปเสียก่อน[1] หลังการทิวงคตของพระชนก พระมหากษัตริย์อยุธยาที่มีศักดิ์พระเจ้าอา (อาจเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์) ทรงรับพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปชุบเลี้ยงภายในพระบรมมหาราชวัง[1]

พระองค์เจ้าศรีสังข์เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่คนเข้ารีต ดังปรากฏความใน จดหมายมองซิเออร์เคอร์ ถึงมองซิเออร์ดารากอง ระบุว่า "...เจ้าองค์นี้มีอัธยาศัยอันดี คือพระทัยกว้างขวาง ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมเกินกว่าอายุและยิ่งกว่าคนไทยทั้งปวง ทั้งโปรดปรานพวกเข้ารีตและนับถือพวกฝรั่งเศส จึงมีพระประสงค์นักที่จะได้ไปเห็นของอันน่าพิศวง..."[1] พระองค์เจ้าศรีสังข์มีพระเชษฐภคินีต่างพระชนนีพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้ามิตร (ต่อมาได้พระนามใหม่ว่า ประทุม) เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[8]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เจ้าศรีสังข์และพระอนุชาพระองค์หนึ่ง สามารถหนีลอดเล็ดออกนอกกรุงได้ โดยอาศัยรอนแรมอยู่ตามป่าถึงสามเดือน เมื่อทราบข่าวว่าพม่าเลิกทัพแล้ว พระองค์เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จเข้าไปในเมืองบางกอก (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร) แล้วเสด็จออกไปถึงเมืองบางปลาสร้อย (ปัจจุบันคือจังหวัดชลบุรี) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2310 มีพระชันษา 22 ปี[1]

ลี้ราชภัย

ในกาลต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์กรุงเก่าอยู่ที่เมืองบางปลาสร้อย ก็ทรงหาวิธีการกำจัดผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์กรุงสยาม โดยได้จัดเรือให้ออกไปจับพระองค์เจ้าศรีสังข์มาไว้ที่เมืองจันทบุรีที่พระองค์ประทับอยู่ คนเข้ารีตที่ทราบเรื่องดังกล่าวจึงหาทางช่วยเหลือพระองค์เจ้าศรีสังข์ ซึ่งส่วนพระองค์นั้นมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปประทับยังทวีปยุโรป คนเข้ารีตผู้นั้นได้จัดหาเรือลำเล็กล่องจากเมืองบางปลาสร้อยผ่านโจรสลัดญวนและมลายูไปจนถึงเมืองฮอนดัต แต่เมื่อไปถึงแล้ว มองซิเออร์อาโตด์กลับแนะให้คนเข้ารีตผู้นั้นพาพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปไว้ที่เมืองเขมรแทน เพราะท่านไม่ไว้ใจม่อ ซื่อหลิน ผู้เป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศนัก[1] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า "๏ ในปีกุญ 1129 แลจุลศักราช 1129 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา ๆ แตกเสียกรุงแก่พม่า ๆ จับได้พระราชวงษานุวงษ์กระษัตริย์ไทยแลกวาดต้อนครอบครัวนำจากเมืองไทยไปเมืองพม่าเปนอันมาก เจ้าเสสังออกรบแพ้พม่า หนีจากกรุงศรีอยุทธยามาพึ่งพระบารมี พระบรมบพิตรณกรุงกัมพูชาธิบดี ๚"[9] ขณะที่ บันทึกตระกูลหมัก ระบุว่าพระองค์เจ้าศรีสังข์เคยเสด็จลี้ภัยในเมืองพุทไธมาศมาก่อน[3]

ในเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่า พระองค์เจ้าศรีสังข์ประทับที่เมือง "พราหมณ์ไบลชม" (Prambleichom) โดยได้รับการต้อนรับจากบาทหลวงเป็นอย่างดี และเมื่อพระนารายน์ราชารามาธิบดี กษัตริย์เขมร ทรงทราบเรื่องที่มีเจ้าไทยลี้ภัยในดินแดนของตน ก็ได้รับสั่งสอบถามข้อมูลกับพระองค์เจ้าศรีสังข์อยู่หลายเที่ยว กระทั่งกษัตริย์เขมรเสด็จออกรับพระองค์เจ้าศรีสังข์และถวายพระเกียรติยศให้เต็มที่[1] มีการรับรองพระองค์เจ้าศรีสังข์อย่างใหญ่โต[10] ทั้งยังสร้างวังซึ่งทำจากไม้ไผ่ขึ้นถวาย พระองค์เจ้าศรีสังข์ประทับในวังนี้โดยไม่สู้จะเต็มพระทัยนัก และทรงปริวิตกว่าอาจออกจากเมืองเขมรไม่ได้เป็นแน่[1] พระนารายน์ราชารามาธิบดีเองก็แสวงหาประโยชน์จากพระองค์เจ้าศรีสังข์ที่เป็น "เจ้าจากกรุงเก่า" เพราะหากพระองค์เจ้าศรีสังข์สามารถกลับมาเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยาได้อย่างที่รัฐบาลจีนต้องการ ทางกัมพูชาเองก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย[5] ฝ่ายเมืองพุทไธมาศที่ได้รับพระราชทานปืนใหญ่หล่ออย่างยุโรปสองกระบอกจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[10] ก็คิดหาทางบีบให้ฝ่ายบาทหลวงและทางกัมพูชาส่งตัวพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปยังเมืองพุทไธมาศแลกกับการปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกกุมขังอยู่[1] มองซิเออร์อาโตด์ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับพระองค์เจ้าศรีสังข์ ก็อยากช่วยบาทหลวงออกมาด้วย จึงเสนอสัญญาสี่ข้อ คือ ก่อนที่จะไปยังเมืองเขมรต้องปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกคุมขังเสียก่อน, หากพระองค์เจ้าศรีสังข์เสด็จไปพุทไธมาศแล้วจะต้องไม่ควบคุมกักขังพระองค์, ในการที่จะไปเมืองเขมรนี้มิใช่ไปในฐานะราชทูต เพียงแต่จะไปกราบทูลกับเจ้าศรีสังข์อย่างเดียวเท่านั้น และพระองค์เจ้าศรีสังข์จะเสด็จมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับพระองค์เอง[11] อย่างไรก็ตามพระองค์เจ้าศรีสังข์ทรงทราบเจตนาของม่อ ซื่อหลิน เป็นอย่างดี จึงรับสั่งว่า "การที่พระยาตากได้ส่งของดี ๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้นก็เท่ากับจะซื้อศีรษะของข้าพเจ้าเท่านั้น" พระองค์เจ้าศรีสังข์ไม่ยอมเสด็จไปเมืองพุทไธมาศอย่างที่ม่อ ซื่อหลินปรารถนา[11] ซึ่งเอกสารบางแห่งระบุว่า ม่อ ซื่อหลิน วางแผนที่จะจับกุมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วตั้งเจ้าจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นครองราชสมบัติแทน[12]

ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดพระองค์เจ้าศรีสังข์ดังเดิม ปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร พ.ศ. 2314 เนื้อหาระบุว่า "...มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษก ณ กรุงกัมพูชาธิบดี…ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น..."[4][5] จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีเมืองพุทไธมาศแตกพ่าย และยกทัพขึ้นไปตีเมืองเขมรต่อ พระองค์เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จลี้ภัยออกจากเมืองเขมร ปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี ระบุว่า "…พระองค์รามราชาบอกหนังสือมาถึง ฯลฯ ณ ศาลา ๆ เอาหนังสือบอกกราบทูลพระฯ ใจความว่า พระองค์อุทัย, เจ้าเสสัง, หนีไปแคว้นเมืองญวน ๆ ไม่ให้เข้าไปจึงยกทัพกลับมา พระองค์รามราชาให้ทหารไปเกลี้ยกล่อม พบกองทัพพระองค์อุทัย ได้รบกัน กองทัพพระองค์อุทัยแตก…"[4][5]

สิ้นพระชนม์

สองเดือนต่อมาหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพกลับกรุงธนบุรี พระองค์เจ้าศรีสังข์สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. 2314 ในแดนของกัมพูชา ดังปรากฏใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า "๏ ลุถึงเดือน 3 ในปีเถาะ 1133 นี้ เจ้าเสสังซึ่งเปนเจ้าไทยที่หนีจากกรุงศรีอยุทธยาครั้งเมื่อพม่ามาตีเมือง มาอยู่เมืองเขมรนั้นได้สิ้นพระชนม์ลง ๚"[2]

ใกล้เคียง

พระองค์เม็ญ พระองค์เจ้าดำ พระองคุลิมาลเถระ พระองค์เจ้าขุนเณร พระองค์เจ้าศรีสังข์ พระองค์เจ้านโรดม ปทุมบุปผา พระองค์เจ้าทับทิม พระองค์เจ้านโรดม มารี รณฤทธิ์ พระองค์เจ้านโรดม เวชชรา พระองค์เจ้าชื่น