การพระศาสนา ของ พระเจริญราชเดช_(อุ่น_ภวภูตานนท์_ณ_มหาสารคาม)

มอบที่นาสร้างวัดโสมนัสประดิษฐ์

วัดโสมนัสประดิษฐ์ เดิมเรียกว่า วัดโสมนัส ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองแสง ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เดิมตั้งอยู่ในเขตบ้านหนองแซง (ต่อมาเรียกว่า หนองแสง) เมืองวาปีปทุม ภายหลังจากท้าวอุ่น ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นที่พระพิทักษ์นรากร เจ้าเมืองวาปีปทุมองค์ใหม่แล้ว พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) จึงนำสารตรามาตั้งเมืองและปรึกษากับอุปฮาช (มหาพรหม) เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองวาปีปทุมชุดแรก ตลอดจนท้าวเพี้ยกรมการเมืองวาปีปทุม ว่าที่ตั้งเมืองวาปีปทุมเดิมมีชัยภูมิไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะสมแก่การตั้งเป็นเมืองสืบไป จึงได้เลือกทำเลใหม่โดยย้ายมาตั้งศูนย์กลางเมืองและที่ทำการเมือง ณ ริมหนองแสง (หนองแซง) พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองสืบมาและได้มีการสร้างวัดขึ้นหลายวัด [14] ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๐ พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ได้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระวรศาสนาจึงยกที่นาของตนให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งไว้สืบศาสนาของบ้านเมือง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดสระแคน ในกาลต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน ได้เดินทางมาตรวจการคณะสงฆ์ที่เมืองวาปีปทุม จึงได้ตั้งนามวัดใหม่ว่า วัดโสมนัสประดิษฐ์[15]

ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือที่วัดอุทัยทิศ

วัดอุทัยทิศ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๖๑ ถนนนครสวรรค์ บ้านนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ เดิมชื่อวัดสนามพิธี เพราะเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของเมืองมหาสารคาม และเป็นวัดที่นับว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษาทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร ตลอดจนมีถาวรวัตถุที่มั่งคงที่สุดในสมัยนั้น ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใต้นางใย ตามนามของหมู่บ้าน ในสมัยพระครูโยคีอุทัยทิศ (พิมพ์) เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดอุทัยทิศตามนามเจ้าอาวาส เมื่อครั้งพระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้เป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม ได้ทำการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยมูลกัจจายน์ขึ้นที่วัดแห่งนี้ โดยมีพระอาจารย์ปิ่น พระอาจารย์สังวาล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม และพระอาจารย์แก้ว วิชาธร เป็นครูสอนหนังสือไทย มีอาจารย์สีหาซึ่งเป็นฆราวาสเป็นครูสอนมูลกัจจายน์ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ส่งบุตรของท่านคือ ท้าวหล้า และท้าวฝั่น มาเรียนหนังสือไทยและมูลกัจจายน์ที่วัดแห่งนี้ วัดอุทัยทิศได้เปิดสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ และเปิดทำการสอนมาจนถึงปัจจุบัน[16]

สร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าเมืององค์แรก

เมื่อครั้งพระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้เป็นเจ้าเมืองมหาสารคาม ท่านได้ร่วมมือกับภริยาคือ อาชญาแม่ศรีสุมาลย์ (ศรี) สร้างพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (ลุง) ของพระเจริญราชเดช (อุ่น) และมีศักดิ์เป็นพระบิดาของอาชญาแม่ศรีสุมาลย์ พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของอาชญาแม่โซ่นแดง ชายาในพระเจริญราชเดช (กวด) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา (ป้า) ของพระเจริญราชเดช (อุ่น) และมีศักดิ์เป็นพระมารดาของอาชญาแม่ศรีสุมาลย์ ไว้คู่กันภายในวัดอุทัยทิศ บ้านนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษและคุณงามความดีของทั้งสองพระองค์ โดยสร้างเป็นเจดีย์มียอดทรงน้ำเต้าหรือดอกบัวเหลี่ยมศิลปะลาวหรือศิลปะล้านช้าง ตัวเรือนพระเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมมีฐานเอวขันทั้ง ๒ องค์ องค์ใหญ่เป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระเจริญราชเดช (กวด) องค์เล็กเป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของอาชญาแม่โซ่นแดง เจดีย์ทั้ง ๒ องค์ตั้งอยู่บนฐานบัลลังก์หรือฐานเอวขันฐานเดียวกัน[17] กาลต่อมา คุณวิไล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เกษคุปต์ ผู้เป็นทายาทพร้อมคณะได้มีศรัทธาในพระวรพุทธศาสนา จึงพร้อมใจกันสร้างพระพุทธเจดีย์ศรีเมืองขึ้น ณ วัดอุทัยทิศของบรรพบุรุษ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดิษฐานไว้บนยอดพระพุทธรูปปูนปั้นอิริยาบถ ๔ โดยประดิษฐานไว้ที่ซุ้มบทของพระเจดีย์ทิศละ ๑ องค์ สร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิด ๗ ปาง ประดิษฐานไว้ซุ้มชั้นสองรองลงมาของพระเจดีย์ ชั้นล่างสุดของพระเจดีย์มีรอยพระพุทธบาทจำลองและรูปพระบริษัท ๔ ประดิษฐานอยู่[18] นอกจากนี้ นางวิไล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เกษคุปต์ ผู้เป็นทายาทยังได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชนผู้ใจบุญร่วมก่อสร้างเสาหลักพระธรรมวัดอุทัยทิศขึ้น โดยสร้างเป็นเสาสูงมีจารึกหัวข้อธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ศุภฤกษ์ก่อสร้างวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เมื่อเวลา ๑๓.๔๐ น. โดยมีพระราชศีลโสภิตพร้อมคณะสงฆ์วัดอุทัยทิศเป็นองค์อุปถัมภ์ ลักษณะเสานั้นเป็นเสาคอนกรีตตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐโบกปูน ๒ ชั้น ฐานชั้นแรกเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๔ เมตร สูงจากพื้นดิน ๙๐ เซนติเมตร ฐานด้านบนกว้างด้านละ ๒.๗๕ เมตร สูงจากฐานชั้นล่าง ๒๐ เซนติเมตร ส่วนตัวเสาหินนั้นเป็นเสาคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๑.๑๕ เมตร มีย่อมุมทั้ง ๔ ทิศ สูง ๙ เมตร ยอดเสาประดับกลีบบัวค่ำบัวหงาย ยอดสูงสุดตั้งกงล้อเสมาธรรมจักร แต่ละด้านติดผนังคอนกรีตด้วยหินอ่อนจารึกข้อธรรมทาทับตัวอักษรด้วยสีแดง ส่วนล่างด้านทิศตะวันออกประดับรูปหล่อปูนปั้นนูนสูงเรื่องปฏิสนธิและนิพพานพร้อมประวัติของหลักธรรม ด้านทิศใต้เป็นรูปทรงออกผนวช ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปสัตว์ มนุษย์ เทวดากำลังทำความเคารพพระสถูป ด้านทิศเหนือทำเป็นรูปเสมาธรรมจักรมีกวางหมอบ ตอนล่างของรูปเป็นรายนามผู้บริจาครวม ๕๐ รายการ[19]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจริญราชเดช_(อุ่น_ภวภูตานนท์_ณ_มหาสารคาม) http://musemmangmaha.blogspot.com/2012/01/2470-250... http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4776.120 http://www.sarakhamclick.com/sarakham/ http://www.itrmu.net/web/02rs4/show-webcontent.php... http://www.itrmu.net/web/02rs4/show-webcontent.php... http://www.komchadluek.net/detail/20100716/66681/ http://www.bl.msu.ac.th/bailan/new/new_24_5_47.asp http://www.bl.msu.ac.th/mahachai/?name=eachpage http://district.cdd.go.th/suwannaphum/about-us/%E0... http://www.mahasarakham.go.th/index.htm