พระประวัติ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ประสูติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417[1] มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ มีพระเชษฐภคินีคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการอภิบาลจากเจ้าจอมมารดาตลับ หม่อมราชวงศ์ พึ่งบุญ และพระยาเวียงในนฤบาล (หรั่ง เกตุทัต)[2]

การศึกษา

พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป

เมื่อเจริญวัยขึ้นพระองค์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยเบื้องต้นกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยใช้เก๋งกรงนกภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทรงพระอักษร [3] เมื่อทรงศึกษาจบแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาต่อที่สำนักของบาบู รามซามี โดยใช้โรงเรียนทหารมหาดเล็กเป็นที่ถวายพระอักษรจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2426[3] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ในการส่งพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 พร้อมกัน 4 พระองค์ คือ

แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ทรงแยกกันเรียน โดยพระองค์พระองค์โปรดเกล้าฯ เสด็จไปศึกษาที่กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ โดยให้หมอเกาวัน เป็นผู้จัดการศึกษา[4] ในการนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น จึงมีเพียงครูชาวต่างชาติมาถวายพระอักษรที่ตำหนักครึ่งวัน และหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ถวายการสอนภาษาไทยอีกครึ่งวัน

พระองค์ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่ 2 ปี จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2431 จึงเสด็จไปศึกษาต่อในชั้นมัธยมอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต่อมาปี พ.ศ. 2434 ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิร์ช ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 ทรงสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม[5] จากนั้นจึงเสด็จกลับประเทศไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพที่มีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงได้รับพระสมญาว่า เฉลียวฉลาดรพี

พระราชพิธีโสกันต์

พระราชพิธีโสกันต์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้ตั้งพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 3 พระองค์พร้อมกันคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นการสมโภช 3 วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2427 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2427 แล้วจึงประกอบพระราชพิธีโสกันต์ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2427 [6] โดยโปรดให้ทรงเครื่องต้นทั้ง 4 พระองค์

ผนวช

หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ผ่านพ้นไปแล้ว จึงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ที่จะเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ได้ผนวชเป็นสามเณรพร้อมกันตามโบราณราชประเพณี โดยวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 เวลาย่ำค่ำ มีการเวียนเทียนสมโภชทั้ง 4 พระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เช้าวันรุ่งขึ้นแห่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์จากพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผนวชเป็นสามเณรโดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในคืนนั้นพระองค์เจ้าสามเณรทั้ง 4 พระองค์ทรงประทับแรมที่พระพุทธปรางค์ปราสาท เช้าวันถัดมาพระองค์เจ้าสามเณรทรงรับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เวลาย่ำค่ำจึงเสด็จไปอยู่ที่ตำหนักในวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[7] ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 ทั้ง 4 พระองค์จึงทรงลาผนวช ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร[8]

รับราชการ

พระองค์ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ทรงประกอบพระกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทยและศาลสถิตยุติธรรม ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ร.ศ. 115[9] เป็นสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ จัดการปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ จัดตั้งศาลมณฑล และศาลจังหวัด ทั่วประเทศ, ทรงเป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมายทั้งกฎหมายเก่า (พระไอยการต่าง ๆ) และในการร่างประมวลกฎหมายสมัยใหม่ที่รู้จักกันในนามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ทั้งยังทรงเป็นผู้ดำริให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย โดยพระองค์เองยังทรงมีบทบาทรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมาย ตลอดจนทรงทำการบรรยายให้เหล่าบรรดานักเรียนด้วยพระองค์เอง, ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งเทียบได้กับศาลฎีกาในปัจจุบัน, เมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา ตำแหน่งสุดท้ายทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดิน[10]

สิ้นพระชนม์

ในปี พ.ศ. 2462 พระองค์ประชวรด้วยพระโรคที่ต่อมลูกหมากและมีการแทรกซ้อนต่อไปยังพระวักกะ (ไต)[11] จึงทรงขอลาพักราชการในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 เพื่อรักษาพระองค์แต่อาการยังไม่ทุเลา ต่อมาจึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่พระโรคที่พระวักกะก็ยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเกินที่แพทย์จะเยียวยาได้ จนกระทั่งถึงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จึงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 45 ปี 9 เดือน 17 วัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศสจัดการถวายพระเพลิง ณ กรุงปารีส ตามที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์รับสั่งไว้[12][13] หลังจากนั้นหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ เสด็จไปรับและอัญเชิญพระอัฐิของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มาถึงประเทศไทยในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ในคราวนั้นเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หวนระลึกถึงรับสั่งของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ตรัสไว้ก่อนที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศสว่า

บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก และไม่ได้เห็นอีกจริง ๆ [14]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ http://www.dmgbooks.com/site/product.asp?intProdID... http://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/3... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/02...