สงครามจีน–พม่า ของ พระเจ้ามังระ

ดูบทความหลักที่: สงครามจีน–พม่า
การเดินทัพในสงครามจีน–พม่าครั้งที่3
หมิงรุ่ยแบ่งกองทัพบุกพม่า 2 ทาง

สงครามจีน–พม่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2308 มีเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพม่ากับจีนในเรื่องหัวเมืองไทใหญ่ ซึ่งกองทัพพม่าได้ยกเข้าดินแดนไทใหญ่และรุกคืบไปเรื่อย ๆ ทำให้พวกเจ้าฟ้าไทใหญ่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากจีน แต่จีนก็ยังไม่ส่งกำลังมาช่วยโดยรอเวลาที่เหมาะสมอยู่ และเวลานั้นก็มาถึงเมื่อจีนเห็นพม่ากำลังทำศึกติดพันอยู่กับอยุธยา จึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำราบพม่าลง แต่การณ์ก็ไม่ได้เป็นไปดังนั้น เมื่อกองทัพของพม่าที่นำโดยอะแซหวุ่นกี้, เนเมียวสีหตู, บะละมี่นทีน และเนเมียวสีหบดีที่กลับมาช่วยในภายหลังนั้นกลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะต่อกองทัพต้าชิงอันเกรียงไกร ทำให้แม่ทัพของราชวงศ์ชิงอย่างหลิวเจ้าแม่ทัพกองธงเขียว (บุกครั้งที่ 1) หยางอิงจวี่แห่งกองธงเขียว (บุกครั้งที่ 2) รวมถึงพระนัดดาหมิงรุ่ยแห่งกองธงเหลือง (ขึ้นตรงต่อฮ่องเต้) ขุนพลเอกแห่งราชวงศ์ชิงผู้พิชิตมองโกลและเติร์ก (บุกครั้งที่ 3) ต้องฆ่าตัวตายหนีความอัปยศ[4][5]

หลังทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ของหมิงรุ่ย จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตกพระทัยและกริ้วยิ่งนัก จึงทรงมีรับสั่งเรียกตัวองค์มนตรีฟู่เหิงซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของหมิงรุ่ย นักการทหารผู้ยิ่งใหญ่แห่งต้าชิงกลับมารับตำแหน่ง พร้อมด้วยแม่ทัพแมนจูอีกหลายนายเช่น เสนาบดีกรมกลาโหมอากุ้ย, แม่ทัพใหญ่อาหลีกุ่น, รวมทั้งเอ้อหนิงสมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ให้มารวมตัวกันเพื่อเตรียมบุกพม่าเป็นครั้งที่สี่ นับเป็นการรวมตัวกันของเสนาบดีระดับสูงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของพระองค์ โดยอาศัยกำลังทั้งจากทัพแปดกองธงและกองธงเขียว การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยฝ่ายจีนพยายามอย่างมากในการเข้ายึดหมู่บ้านก้องโตนอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ แต่บะละมี่นทีนก็ยังสามารถต้านเอาไว้ได้อย่างน่าประหลาดใจ ส่วนอีกด้านหนึ่งกองทัพจีนก็รุกคืบได้ช้ามาก เนื่องจากอะแซหวุ่นกี้ได้ส่งเนเมียวสีหตูคอยทำสงครามจรยุทธปั่นป่วนแนวหลังของต้าชิงเอาไว้ ทำให้ต้าชิงต้องพะวงหลังตลอดการศึก ถึงอย่างนั้นอะแซหวุ่นกี้เองก็มีกำลังไม่มากพอที่จะเอาชนะต้าชิงได้ในตอนนี้[6]

แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อกองทัพของเนเมียวสีหบดีกลับมาถึงหลังจากพิชิตกรุงศรีอยุธยาลงได้แล้ว อะแซหุว่นกี้จึงเปลี่ยนแผนโดยใช้กองทัพเข้าโจมตีจุดสำคัญในเวลาพร้อม ๆ กัน เพื่อบีบให้กองทัพต้าชิงที่กระจายตัวอยู่ถอยกลับมารวมกับกองทัพใหญ่ จากนั้นกองทัพพม่าจึงเข้าตีกระหนาบและล้อมกองทัพต้าชิงไว้ได้ แม้ชัยชนะจะอยู่ต่อหน้าแล้ว แต่อะแซหวุ่นกี้ก็ไม่ได้สั่งให้ทหารพม่าเข้าทำลายกองทัพต้าชิง ทำแต่เพียงล้อมเอาไว้แล้วบีบให้ยอมเจรจา[7] หลังจากการรบยืดเยื้อจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2312 พม่าและจีนก็พักรบเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยล้าเต็มทน และยิ่งนานไปยิ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งคู่ โดยฝ่ายต้าชิงที่ติดอยู่ในวงล้อมตัดสินใจยอมเจรจากับทางพม่า การสู้รบที่ยาวนานถึง 4 ปีก็จบลงมีการทำสนธิสัญญาก้องโตน เป็นการจบสงครามระหว่างพระเจ้ามังระกับจักรพรรดิเฉียนหลงลงในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2312

การรบครั้งนี้ทำให้ต้าชิงต้องสูญเสียฟู่เหิงและอาหลีกุ่น แม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพ ด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากนั้น 20 ปี เมื่อพระเจ้ามังระสิ้นไปแล้ว ราชวงศ์โก้นบองและจีนก็ได้ฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ในยุคของพระเจ้าปดุงหลังพระองค์ทรงพ่ายแพ้ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 2 ครั้ง โดยพม่ายอมส่งบรรณาการให้แก่อาณาจักรต้าชิง แลกกับการที่จีนยอมรับราชวงศ์โก้นบองของพม่า[8]

บทสรุปของสงคราม

  • ฝ่ายราชวงศ์ชิง ในสงครามจีน–พม่านี้นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของราชวงศ์ชิง และถือเป็นรอยด่างเล็ก ๆ ของจักรพรรดิเฉียนหลง จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก อีกทั้งพระองค์ยังต้องสูญเสียเสนาบดีกลาโหมผู้ร่วมแผ่เสนยานุภาพแทนพระองค์ถึง 2 คน ไม่ว่าจะเป็นหมิงรุ่ย, ฟู่เหิง และแม่ทัพใหญ่อาหลีกุ่น แต่ถึงแม้ต้าชิงจะไม่สามารถสยบพม่าได้อย่างราบคาบ แต่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พม่าเห็นถึงศักยภาพในการระดมกองทัพขนาดใหญ่ ที่สามารถสั่นคลอนราชวงศ์โก้นบองได้ตลอดเวลา
  • ฝ่ายราชวงศ์โก้นบอง เป็นการรบครั้งใหญ่ที่สุดและสูญเสียมากที่สุดในยุคของพระเจ้ามังระ แต่นั้นก็ทำให้ได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพระองค์ รวมถึงการใช้คนแบ่งงานให้แม่ทัพแต่ละนายได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ แม้จะสูญเสียทหารไปมากแต่ก็สามารถรักษาแผ่นดินเอาไว้ได้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่พระองค์ฝากไว้ให้ราชวงศ์โก้นบอง หลังจากสิ้นยุคพระองค์ไปแล้ว ขีดความสามารถทางการทหารของพม่าก็ไม่เคยกลับไปอยู่จุดเดิมได้อีกเลย

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ