ชีวิต ของ พระเจ้าลูทวิชที่_2_แห่งบาวาเรีย

วัยเด็กและวัยรุ่น

ในยุคที่กษัตริย์มีความรับผิดชอบต่อการปกครองโดยทั่วยุโรป ลูทวิชแห่งบาวาเรียมักจะทรงทำพระองค์แบบผู้ไม่โตเต็มที่มาตลอด พระเจ้ามัคซีมีลีอานพระบิดามีพระประสงค์ที่จะให้การศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และภาระของการเป็นกษัตริย์กับมงกุฏราชกุมารลูทวิชและเจ้าชายอ็อทโทพระอนุชาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[2] ลูทวิชถูกตามใจกันมาตั้งแต่เด็กแต่มาถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยครูที่บังคับทั้งทางวินัยและการศึกษา กล่าวกันว่าการสาเหตุที่มีพระนิสัยที่ออกจะแปลกอาจจะเป็นผลมาจากความเครียดและความกดดันในการที่ทรงเติบโตขึ้นมาฐานะที่เป็นเจ้านาย ลูทวิชไม่ทรงมีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับพระบิดาและมารดาเท่าใดนัก ครั้งหนึ่งเมื่อที่ปรึกษาประจำพระองค์ของพระเจ้ามัคซีมีลีอานถวายคำแนะนำระหว่างที่ทรงเดินทุกวันว่าบางครั้งน่าจะชวนลูทวิชผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ออกเดินเป็นเพื่อนด้วย พระเจ้ามัคซีมีลีอานทรงตอบว่า “แล้วจะให้ฉันพูดอะไรกับลูทวิชเล่า? ในเมื่อเจ้าลูกชายของฉันไม่เคยสนใจในสิ่งใดที่คนอื่นพูด”[3] ลูทวิชกล่าวเรียกพระมารดาว่า “พระชายาของกษัตริย์องค์ก่อน” (my predecessor's consort) [4] ผู้ที่ทรงมีความสนิทสนมด้วยมากกว่าคือพระเจ้าลูทวิชที่ 1 แห่งบาวาเรียพระอัยยิกา พระเจ้าลูทวิชที่ 1 เองก็ทรงผู้มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดี และมีพระนิสัยที่ออกไปทางลึกลับเป็นปริศนาเช่นกัน ในที่สุดพระเจ้าลูทวิชที่ 1 ก็ทรงถูกบังคับให้สละราชสมบัติเพราะเรื่องฉาวโฉ่

ชีวิตของลูทวิชเมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นชีวิตที่มีความสุขบ้างเป็นครั้งคราว ในวัยเด็กจะทรงพำนักที่ปราสาทโฮเอินชวังเกาเป็นส่วนใหญ่ โฮเอินชวังเกาเป็นปราสาทแบบเทพนิยายที่พระบิดาเป็นผู้สร้างไม่ใกลจากสวอนเลคใกล้เมืองฟุสเซน การตกแต่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นตำนานของวีรบุรุษเยอรมัน บางครั้งก็จะเสด็จไปทะเลสาบชตาร์นแบร์คกับครอบครัว เมื่อยังเป็นวัยรุ่นทรงเป็นเพื่อนกับเจ้าชายพอล มัคซีมีลีอาน ลาโมราล จากครอบครัวเทิร์นและแท็กซิสผู้มีฐานะดี ชายหนุ่มทั้สองคนมักจะทำอะไรต่างๆด้วยกันเสมอรวมทั้งขี่ม้า, อ่านโคลงกลอน และจัดเล่นโอเปร่าโรแมนติกที่เขียนโดยริชชาร์ท วากเนอร์ แต่มาห่างเหินกันไปเมื่อเจ้าชายพอลทรงหมั้น นอกจากพอลแล้วลูทวิชก็ยังสนิทกับดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรียผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องจนตลอดพระชนมายุ ดัชเชสเอลิซาเบธต่อมาเป็นพระราชินีแห่งออสเตรียเมื่อทรงเสกสมรสกับจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย ทั้งสองพระองค์โปรดธรรมชาติและโคลงกลอนและทรงตั้งพระนามเล่นให้แก่กันว่า “เหยี่ยว” สำหรับลูทวิช และ “นกนางนวล” สำหรับเอลิซาเบธ

กษัตริย์แห่งบาวาเรีย

พระเจ้าลูทวิชที่ 2 แห่งบาวาเรีย

พระเจ้าลูทวิชขึ้นครองราชบัลลังก์บาวาเรียเมื่อพระชันษาได้เพียง 18 ปึหลังจากที่พระบิดาสวรรคต เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ลูทวิชยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การสวรรคตของพระเจ้ามัคซีมีลีอานที่ 2 เป็นไปอย่างกะทันหันหลังจากประชวรได้เพียงสามวัน[5] เพราะความที่ยังหนุ่มและมีพระโฉมงามทำให้ทรงเป็นที่นิยมทั้งในบาวาเรียและที่อื่นๆ ในบรรดาสิ่งแรกที่ทรงกระทำคือทรงเรียกตัววากเนอร์มายังราชสำนักมิวนิก [6] ลูทวิชทรงชื่นชมผลงานของวากเนอร์มาตั้งแต่ทรงได้ชมโอเปร่า โลเอินกรีน ของวากเนอร์ วากเนอร์ผู้ซึ่งขณะนั้นอายุ 51 ปีก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลูทวิชเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1864 เหตุที่โอเปร่าของวากเนอร์เป็นที่ต้องพระทัยลูทวิชก็เป็นเพราะเนื้อหาของโอเปร่าของวากเนอร์เต็มไปด้วยอุดมคติและจินตนาการแบบเทพนิยาย วากเนอร์มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเรื่องหนี้สินและมักจะมีเจ้าหนี้ไล่ตามอยู่เรื่อยๆ แต่วากเนอร์ก็มาได้พระเจ้าลูทวิชช่วยถ่ายถอนหนี้ให้ วากเนอร์กล่าวถึงลูทวิชว่า:

“อนิจจา ท่านช่างรูปงามปราดเปรื่อง มีชีวิตชีวาและความน่ารัก จนข้าพเจ้านึกกลัวว่าว่าชีวิตของท่านอาจจะละลายหายไปในโลกหยาบช้านี้ เหมือนความฝันชั่วแล่นถึงทวยเทพ”[7]

เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าไม่ได้พระเจ้าลูทวิช วากเนอร์คงจะไม่ได้เขียนโอเปร่าชิ้นต่อมา ลูทวิชทรงเรียกวากเนอร์ว่า “เพื่อน” แต่ความที่วากเนอร์มีนิสัยอันโอ่อ่าฟุ่มเฟือยของ จึงทำให้วากเนอร์ไม่เป็นที่ต้องใจของชาวบาวาเรียผู้ยังออกจะหัวโบราณ ในที่สุดลูทวิชก็ต้องขอให้วากเนอร์ออกจากเมือง

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์คือความกดดันในการมีผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และความสัมพันธ์กับปรัสเซีย ทั้งสองสถานการณ์กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในปี ค.ศ. 1867 เมื่อพระเจ้าลูทวิชทรงหมั้นกับดัชเชสโซฟี ชาร์ล็อทเทอ ในบาวาเรีย ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของลูทวิชเองและเป็นพระขนิษฐาของดัชเชสเอลิซาเบธ การหมั้นประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1867 แต่ทรงเลื่อนวันแต่งงานไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทรงถอนหมั้นในเดือนตุลาคม หลังจากการประกาศการถอนหมั้น โซฟีก็ได้รับพระราชสาส์นจากลูทวิชถึง “เอลซา” กล่าวโทษพระบิดาของโซฟีว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับโซฟีไม่สามารถดำเนินต่อไปได้และทรงลงพระนามว่า “ไฮน์ริช” (“เอลซา” และ “ไฮน์ริช” เป็นตัวละครจากโอเปร่าของวากเนอร์[8] ลูทวิชมิได้ทรงเสกสมรสจนตลอดพระชนมายุ โซฟีต่อมาทรงเสกสมรสกับเฟอร์ดินานด์ ฟิลลีป มารี, ดยุ้คแห่งอาลองชอง

เมื่อลูทวิชเป็นพันธมิตรออสเตรียในการต่อสู้กับปรัสเซียในสงครามเจ็ดปี ทรงพ่ายแพ้สงคราม สัญญาสงบศึกบังคับให้พระองค์ต้องยอมรับสนธิสัญญาการรักษาความสงบระหว่างปรัสเซียกับบาวาเรียในปี ค.ศ. 1867 สนธิสัญญาระบุว่าบาวาเรียต้องเข้าข้างปรัสเซียเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1870 มุขมนตรีปรัสเซียอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค ก็ยังขอให้ลูทวิชเขียนจดหมายสนับสนุนเรียกร้องให้ประกาศพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย เป็นไคเซอร์ของจักรวรรดิเยอรมันที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ลูทวิชได้รับเงินเป็นการตอบแทนในการสนับสนุนแต่เป็นการกระทำที่ลูทวิชต้องจำยอม การก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันทำให้บาวาเรียที่เคยเป็นแคว้นอิสระกลายมาเป็นแคว้นชั้นรอง เมื่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันขึ้น ความเป็นอิสระแก่ตัวของแคว้นบาวาเรียก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย ลูทวิชทรงประท้วงโดยการไม่ทรงเข้าร่วมพิธีการสถาปนาพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมันที่พระราชวังแวร์ซายส์ในปารีส[9]

ตลอดรัชสมัยลูทวิชทรงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายต่อเนื่องกันมาตลอด โดยเฉพาะกับริชชาร์ท ฮอร์นิช อัศวินองค์รักษ์, โยเซฟ ไคนซ์ นักแสดงชาวฮังการี, อัลฟอนส์ เวบเบอร์ ข้าราชสำนัก ในปี ค.ศ. 1869 ทรงเริ่มทรงบันทึกประจำวันที่ทรงบรรยายความรู้สึกส่วนพระองค์ และการทรงพยายามหยุดยั้งหรือควบคุมความต้องการทางเพศ และการที่ยังทรงยึดมั่นในความเป็นโรมันคาทอลิกอย่างแท้จริง บันทึกประจำวันฉบับดั้งเดิมสูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสำเนาที่เขียนก่อนสงคราม สำเนาบันทึกประจำวันและจดหมายส่วนพระองค์เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูทวิชต้องทรงต่อสู้กับพระองค์เองในความเป็นผู้รักเพศเดียวกันตลอดพระชนมายุ[10]

เมื่อบาวาเรียสิ้นเอกราช ลูทวิชก็ยิ่งกลายเป็นคนสันโดษมากขึ้นจากการออกท้องพระโรงและกับทำหน้าที่การปกครอง ในปี ค.ศ. 1880 ลูทวิชใช้เวลาเกือบทั้งหมดอย่างโดดเดี่ยวที่บริเวณเทือกเขาบาวาเรียแอลป์ซึ่งเป็นที่ทรงสร้างพระราชวังแบบเทพนิยายหลายแห่งโดยความช่วยเหลือของคริสทีอัน ยังค์ ผู้ออกแบบฉากละคร ทรงสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ทางเหนือซอกเขาโพลลัทไม่ไกลจากปราสาทโฮเอินชวังเกาที่เคยทรงพำนักเมื่อยังทรงพระเยาว์ ลินเดอร์โฮฟตั้งอยู่ที่หุบเขากรสแวงที่สร้างแบบหลุยส์ที่ 14 และเป็นปราสาทเดียวในสามปราสาทที่สร้างเสร็จ ปราสาทที่สามที่ทรงสร้างแต่ไม่เสร็จเช่นกันคือพระราชวังเฮเรินคีมเซ ที่ตั้งอยู่บนเกาะเฮเรินในทะเลสาบเคียมเซ บางส่วนสร้างแบบพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส ลูทวิชทรงสร้างปราสาททั้งสามเพื่อเป็นเทิดทูนตำนานนอร์ดิคเรื่องโลเอินกรีน (Lohengrin), ทริสทันและอิโซลด์ (Tristan and Isolde) และ แหวนแห่งนีเบอลุง (Der Ring des Nibelungen)

การถูกถอดจากบัลลังก์และการสวรรคต

พระเจ้าลูทวิชที่ 2 ในปิจฉิมวัยกางเขนอนุสรณ์ ณ ที่พบพระศพของพระเจ้าลูทวิชที่ทะเลสาบชตาร์นแบร์ค

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1886 รัฐบาลบาวาเรียแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าพระเจ้าลูทวิชถูกปลดจากการเป็นกษัตริย์เพราะไม่ทรงมีความสามารถใช้อำนาจด้วยพระองค์เองได้ ตามคำรายงานของจิตแพทย์ 4 คนที่บรรยายพระอาการว่าเป็นโรคหวาดระแวงทางจิต[11] แต่ในประกาศมิได้กล่าวถึงการตรวจทางพระวรกาย และแต่งตั้งให้เจ้าชายลุทโพลด์แห่งบาวาเรียพระปิตุลาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ศาสตราจารย์แบร์นฮาร์ท ฟ็อน กุทเทิน เป็นหัวหน้ากลุ่มจิตแพทย์ที่ให้คำบรรยายพระอาการทางจิต โดยใช้ “หลักฐาน” จากรายงานต่างๆ ที่รวบรวมมาจากข้าราชบริพารในพระราชสำนักและศัตรูทางการเมืองที่เกี่ยวกับพระจริยาวัตรที่ถือว่าแปลก หลักฐานที่กล่าวเป็นเพียงคำบอกเล่าซึ่งอาจจะได้มาจากการติดสินบนหรือการขู่เข็ญ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านี้จึงยังเป็นที่เคลือบแคลง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้าลูทวิชไม่มีอะไรผิดปกติแต่ทรงเป็นเหยื่อทางการเมือง[12] บางคนก็เชื่อว่าพระจริยาวัตรที่แปลกของพระเจ้าลูทวิชอาจจะเป็นผลมาจากการที่ทรงใช้คลอโรฟอร์มในการบำบัดการปวดพระทนต์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แทนที่จะเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาอย่างที่จิตแพทย์อ้าง ดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรียทรงออกความเห็นว่าพระเจ้าลูทวิชไม่ได้ทรงเป็นโรคจิตแต่เพียงแต่มีพระลักษณะนิสัยที่ออกไปทางลึกลับและเป็นปริศนา (eccentric) และทรงชอบอยู่ในโลกของความฝันและจินตนาการ และทรงกล่าวว่าถ้าพวกที่กล่าวหาจะปฏิบัติต่อพระเจ้าลูทวิชนุ่มนวลกว่านั้น เหตุการณ์ก็คงจะไม่ลงเอยด้วยความเศร้าอย่างที่เกิดขึ้น

หลังการประกาศพระเจ้าลูทวิชก็ถูกนำตัวไปจากนอยชวานชไตน์ที่เป็นที่ประทับในขณะนั้นไปยังปราสาทเบิร์กริมทะเลสาบชตาร์นแบร์คอย่างลับๆ หลังจากที่รัฐบาลพยายามที่จะจับกุมพระองค์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกที่พยายาม ลูทวิชก็สั่งจับผู้ที่จะมาจับพระองค์และทรงขู่ว่าจะลงโทษผู้ที่ทรงถือว่าเป็นกบฏต่างๆ นาๆ แต่ก็มิได้ทรงทำจริง นอกจากจะขังผู้ที่จะมาจับไว้ในปราสาทแต่ต่อมาก็ถูกปล่อย ต่อมาเมื่อพยายามอีกประชาชนจากหมู่บ้านใกล้ๆ นอยชวานชไตน์ก็ยกกำลังกันมาป้องกันพระองค์ และถวายคำเสนอว่าจะพาพระองค์หนีข้ามพรมแดนแต่ทรงปฏิเสธ และอีกครั้งหนึ่งกองทหารจากเค็มพตันถูกเรียกตัวมานอยชวานชไตน์แต่ก็มาถูกกักโดยรัฐบาล

ลูทวิชทรงพยายามเรียกร้องโดยตรงต่อประชาชนโดยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์:

“เจ้าชายลุทโพลด์ทรงตั้งใจจะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในแผ่นดินของข้าพเจ้าโดยมิใช่เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้า และบรรดารัฐมนตรีต่างกล่าวหาในเรื่องสถานะภาพทางจิตใจของข้าพเจ้าอย่างผิดๆ เพื่อที่จะหลอกลวงประชาชนที่รักของข้าพเจ้า และ (รัฐบาล) พร้อมที่จะเป็นกบฏ [...] ข้าพเจ้าขอให้ชาวบาวาเรียผู้จงรักภักดีให้ช่วยเรียกร้องและสนับสนุนผู้ที่สนับสนุนและมีความจงรักภักดีต่อข้าพเจ้า เพื่อให้แผนในการกบฏต่อกษัตริย์และแผ่นดินประสบความล้มเหลว”

คำประกาศนี้ลงพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ที่เมืองบัมแบร์คเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 แต่ถูกยึดโดยรัฐบาลเพราะความกลัวจากผลของการเผยแพร่ข้อเขียนนั้น โทรเลขถึงนักหนังสือพิมพ์และเพื่อนของลูทวิชเกือบทุกชิ้นถูกรัฐบาลสั่งสกัดกั้นทั้งสิ้น แต่ลูทวิชได้รับสาส์นจากมุขมนตรีปรัสเซียบิสมาร์ค ให้เดินทางไปมิวนิกเพื่อไปปรากฏพระองค์ต่อประชาชน แต่ลูทวิชทรงมีความรู้สึกว่าไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเป็นการตัดสินชะตาของพระองค์เอง รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายนคณะกรรมการจากรัฐบาลกลุ่มที่สองก็มาถึงปราสาท พระเจ้าลูทวิชทรงถูกจับเมื่อเวลาตีสี่และถูกนำตัวขึ้นรถม้า ทรงถามด็อกเตอร์กุดเด็นผู้เป็นผู้นำคณะกรรมการว่าทำไมจึงประกาศว่าพระองค์วิกลจริตได้ในเมื่อด็อกเตอร์กุดเด็นก็ไม่เคยตรวจพระองค์[13] แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าลูทวิชก็ถูกนำตัวจากนอยชวานชไตน์ไปยังปราสาทเบิร์กบนฝั่งทะเลสาบชตาร์นแบร์คทางใต้ของมิวนิกในวันนั้น

การสวรรคตของลูทวิชที่ทะเลสาบชตาร์นแบร์คเป็นเรื่องที่ยังที่น่าสงสัยกันอยู่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 เวลาหกโมงเย็นลูทวิชทรงขอออกไปเดินกับด็อกเตอร์กุดเด็น ด็อกเตอร์กุดเด็นตกลงและสั่งไม่ให้ยามเดินตามไปด้วย ทั้งลูทวิชและด็อกเตอร์กุดเด็นไม่ได้กลับมาจากการเดิน คืนเดียวกันร่างของทั้งสองคนก็พบลอยน้ำใกล้ฝั่งทะเลสาบชตาร์นแบร์คเมื่อเวลาห้าทุ่ม หลังจากที่สวรรคตก็มีการสร้างชาเปลเพื่อเป็นอนุสรณ์ตรงที่พบพระศพ ทุกวันที่ 13 มิถุนายนของทุกปีจะมีพิธีรำลึกถึงพระองค์

รัฐบาลประกาศว่าการสวรรคตของลูทวิชเป็นการฆ่าตัวตายโดยการจมน้ำตาย ซึ่งไม่เป็นความจริง[14] [15] สาเหตุการสวรรคตของลูทวิชไม่เคยมีการอธิบายอย่างเป็นจริง เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าลูทวิชทรงว่ายน้ำแข็งและที่บริเวณที่พบพระศพน้ำก็ลึกเพียงแค่เอว รายงานการชันสูตรพระศพก็บ่งว่าไม่มีน้ำในปอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสวรรคตโดยการจมน้ำตาย[16] สาเหตุการสวรรคตยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้เพราะราชวงศ์วิทเทลส์บัคยังไม่ยอมให้แก้ปัญหา[17] สาเหตุการสวรรคตจึงมีด้วยกันหลายทฤษฏี ทฤษฏีเชื่อกันว่าลูทวิชถูกลอบปลงพระชนม์โดยศัตรูขณะที่ทรงพยายามหนีจากเบิร์ก และอ้างกันว่าทรงถูกยิงตาย[18] แต่เจคอป ลิเดิลนักตกปลาประจำพระองค์กล่าวว่าสามปีหลังจากที่สวรรคต ลิเดิลถูกบังคับให้สาบานว่าจะไม่เอ่ยปากกับใครถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ลิเดิลก็ไม่ได้กล่าวอะไรกับใครแต่ทิ้งบันทึกที่มาพบเอาหลังจากที่ลิเดิลเสียชีวิตไปแล้ว ในบันทึกกล่าวว่าตัวลิเดิลเองซุ่มรอลูทวิชอยู่ในเรือที่จะพาพระองค์ไปกลางทะเลสาบเพื่อจะไปสมทบกับผู้ที่จะช่วยหลบหนีคนอื่นๆ แต่เมื่อทรงก้าวมาทางเรือ ลิเดิลก็ได้ยินเสียงปืนจากฝั่ง ลูทวิชล้มลงมาในเรือและสวรรคตทันที[19] [20] อีกทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าลูทวิชสวรรคตตามธรรมชาติอาจจะจากหัวใจวายหรือเส้นโลหิตในสมองแตก ระหว่างที่ทรงพยายามหลบหนีเพราะอากาศที่ทะเลสาบเย็น[21] บางคนก็เชื่อว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการเฉลยปัญหานี้คือการชันสูตรพระศพใหม่ เพื่อจะได้รู้กันเป็นที่แน่นอน เพราะถ้าทรงถูกยิงจริงก็เป็นสิ่งที่ง่ายที่จะพบแม้ว่าจะเกิดขึ้นนานมาแล้วก็ตาม

ร่างของลูทวิชทรงเครื่องแบบเต็มยศของ Order of the Knights of St. Hubert และตั้งที่ชาเปลหลวงที่วังหลวงที่มิวนิก ในมือขวาทรงถือช่อดอกมะลิที่ดัชเชสเอลิซาเบธทรงเก็บให้[22] หลังจากพิธีที่จัดอย่างสมพระเกียรติร่างของลูทวิชยกเว้นหัวใจก็ถูกนำไปไว้ในคริพต์ที่วัดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิก ตามประเพณีของบาวาเรียหัวใจของกษัตริย์จะใส่ในผอบเงินและส่งไปที่ชาเปลกนาเด็น (Gnadenkapelle) ที่ Chapel of the Miraculous Image ที่อาลเทิททิง ผอบของลูทวิชตั้งอยู่ข้างพระบิดาและพระอัยยิกาภายในชาเปล

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ