การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง ของ พระเจ้าหลุยส์ที่_18_แห่งฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

การฟื้นฟูครั้งที่หนึ่ง

ภาพอุปมานิทัศน์การกลับมาของราชวงศ์บูร์บงในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1814 : พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงยกฝรั่งเศสขึ้นมาจากซากปรักหักพัง วาดโดย หลุยส์-ฟิลิปป์ เครปิน

เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงปกครองในฐานะนายพลแห่งราชอาณาจักรจนกระทั่งพระเชษฐาเสด็จถึงปารีสในวันที่ 3 พฤษภาคม เมื่อทรงเสด็จกลับ พระมหากษัตริย์ทรงแสดงพระองค์ต่อข้าราชบริพารโดยทรงจัดขบวนเสด็จผ่านเมือง พระองค์ประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์ในวันเดียวกัน ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระราชนัดดาทรงหมดสติเมื่อทอดพระเนตรเห็นตุยเลอรีส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนางประทับในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส[86]

วุฒิสภาของนโปเลียนได้เชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 คืนสู่ราชบัลลังก์ด้วยเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งการรับรองสาธารณรัฐและจักรวรรดิ ยอมรับการเลือกตั้งในระบบสองสภาทุกปี และยอมรับในธงไตรรงค์ของระบอบการปกครองดังกล่าว[87] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงต่อต้านรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาและทรงระบุว่าพระองค์ทรง "กำลังยุบวุฒิสภาปัจจุบันในอาชญากรรมทั้งหมดที่ก่อขึ้นโดยโบนาปาร์ตและทรงทำตามเสียงเรียกร้องของชาวฝรั่งเศส" รัฐธรรมนุญฉบับวุฒิสภาถูกเผาในโรงละครโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมบอร์โดซ์ และสภาเทศบาลแห่งลียงได้ลงคะแนนในสุนทรพจน์ที่สบประมาทวุฒิสภา[88]

มหาอำนาจผู้ยึดครองปารีสได้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ[89] พระเจ้าหลุยส์ทรงตอบสนองด้วยกฎบัตรปีค.ศ. 1814 ซึ่งมีบทบัญญัติที่แสดงถึงความก้าวหน้าจำนวนมาก เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร[90]และสภาขุนนาง[91], สื่อพึงพอใจในเสรีภาพ และบทบัญญัติ Biens nationaux[92]ที่จะยังคงอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าของปัจจุบัน[93] รัฐธรรมนูญมี 76 มาตรา การจัดเก็บภาษีต้องมีการลงมติโดยสภา ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกจะเป็นศาสนาประจำชาติฝรั่งเศส การที่จะมีสิทธิเป็นสมาชิกสภาผู้แทน คนหนึ่ง ๆ ต้องจ่ายเงินจำนวน 1,000 ฟรังก์ต่อปีเป็นภาษี และต้องมีอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งขุนนางเข้าไปยังสภาขุนนางตามพื้นฐานการสืบสายโลหิตหรือดำรงอยู่ตลอดชีพตามดุลยพินิจของพระองค์ ผู้แทนจะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปี และหนึ่งในห้าจะมีการเลือกตั้งทุกปี[94] มีพลเมือง 90,000 คนมีสิทธิลงคะแนนเสียง[95]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงลงพระนามในสนธิสัญญาปารีสในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 สนธิสัญญาได้ให้พรมแดนฝรั่งเศสอยู่ตามปีค.ศ. 1792 ซึ่งมีพรมแดนขยายไปทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ ประเทศไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและการยึดครองของพันธมิตรที่หกจะถอนตัวทันทีจากแผ่นดินฝรั่งเศส ข้อตกลงที่ใจกว้างนี้จะถูกย้อนกลับมาใช้ในสนธิสัญญาปารีสครั้งต่อไปหลังสมัยร้อยวัน (นโปเลียนกลับคืนสู่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1815) [96]

ในเวลาไม่นานนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงกลับไปคำนึงถึงหนึ่งในสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้มากมาย พระองค์และผู้ดูแลการคลังคือ บารอนหลุยส์ได้ถูกวิเคราะห์ว่าพยายามไม่ให้การคลังขาดดุล (ซึ่งมีหนี้สินจำนวน 75 ล้านฟรังก์ที่สืบต่อมาจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) และมีการใช้มารตรการทางการคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงมั่นพระทัยว่าชาวฝรั่งเศสไม่พอใจในการเก็บภาษียาสูบ ไวน์และเกลือ และภาษีในสินค้าเหล่านี้จะถูกยกเลิกเมื่อพระองค์ทรงได้รับการฟื้นฟูราชบัลลังก์ แต่พระองค์ไม่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกภาษีนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจลาจลในบอร์โดซ์ ค่าใช้จ่ายของกองทัพถูกตัดในงบประมาณประจำปีค.ศ. 1815 ในปีค.ศ. 1814 ค่าใช้จ่ายของกองทัพได้คิดเป็น 55% ของค่าใช้จ่ายรัฐบาล[97]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เคานต์แห่งอาตัวส์และพระนัดดาของพระองค์ คือ ดยุกแห่งอองกูแลมและแบร์รี เข้าร่วมประชุมสภาขุนนางในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1814 เมื่อมีการก่อตั้งสภาขึ้น สภามีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือ เจ้าชายตาแลร็อง[98] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงมีความสนพระทัยอย่างยิ่งในพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (ที่มีการวาดแผนที่ยุโรปใหม่หลังการสิ้นสุดนโปเลียน) ตาแลร็องเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงตกพระทัยในความตั้งใจของปรัสเซียที่จะผนวกราชอาณาจักรแซกโซนี ที่พระองค์ทรงสนพระทัยเนื่องจากพระมารดาของพระองค์ทรงเป็นเจ้าหญิงแซกโซนี และพระองค์ก็ทรงหวั่นเกรงอิทธิพลของปรัสเซียที่พยายามยึดครองเยอรมนี พระองค์ทรงหวังให้ดัชชีปาร์มาฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มา และต้องไม่ฟื้นฟูสิทธิของจักรพรรดินีมารี หลุยส์แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวเลือกได้รับการแนะนำจากพันธมิตร[99] พระเจ้าหลุยส์ทรงประท้วงการเพิกเฉยของพันธมิตรต่อเนเปิลส์ ที่ซึ่งผู้ช่วงชิงราชบัลลังก์อย่าง ฌออากีม มูว์รา ฝ่ายนโปเลียนได้ช่วงชิงราชบัลลังก์บูร์บงสายเนเปิลส์

ในนามของพันธมิตร ออสเตรียตกลงที่จะทรงกองทัพไปยังเนเปิลส์และถอดถอนพระเจ้าฌออากีม มูว์ราออกจากราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์มูว์ราทรงพยายามให้ความช่วยเหลืออดีตจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามอย่างชัดเจนตามสนธิสัญญา ในความเป็นจริงกษัตริย์มูว์ราไม่เคยทรงเขียนถึงนโปเลียน แต่พระเจ้าหลุยส์มีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายเนเปิลส์ด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทรงปลอมแปลงจดหมายและทรงให้เงินทุนสนับสนุนการเดินทัพของออสเตรียจำนวน 25 ล้านฟรังก์[100]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูราชบัลลังก์เนเปิลส์แก่ราชวงศ์บูร์บงในทันที ปาร์มาถูกมอบให้กับจักรพรรดินีมารี หลุยส์ตลอดพระชนม์ชีพ และราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มาจะได้รับดัชชีลุกกาจนกระทั่งการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดินีมารี หลุยส์

สมัยร้อยวัน

ดูบทความหลักที่: สมัยร้อยวัน
ยุทธการที่วอเตอร์ลูนำไปสู่จุดจบของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตในการพยายามกลับมาฝรั่งเศส และเป็นการรับประกันการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 นโปเลียน โบนาปาร์ตหลบหนีออกจากที่คุมขังที่เกาะเอลบาและขึ้นชายฝั่งฝรั่งเศส นโปเลียนมาถึงพร้อมกับทหารจำนวน 1,000 นายใกล้เมืองกานในวันที่ 1 มีนาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงกังวลในการมาถึงของนโปเลียน เนื่องจากกำลังทหารเหล่านั้นมีน้อยเกินกว่าจะเอาชนะพระองค์ได้ง่าย ๆ แต่มีปัญหาสำคัญสำหรับราชวงศ์บูร์บง พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงล้มเหลวในการล้างแนวคิดโบนาปาร์ตนิยมในหมู่ทหาร สิ่งนี้นำไปสู่การเอาใจออกห่างของกองทัพบูร์บงไปเข้ากับกองทัพฝ่ายโบนาปาร์ต นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงเข้าร่วมกองทัพในการต่อสู้กับนโปเลียนจากทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเนื่องจากทรงพระประชวรด้วยโรคเกาต์[101] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม นายพลซูลต์ ได้ส่งหลุยส์ ฟีลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1), เคานทฺ์แห่งอาตัวส์และนายพลแม็กโดนัลด์ไปจับกุมนโปเลียน[102]

การประมาณค่าของนโปเลียนต่ำเกินไปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้นำมาซึ่งหายนะ ในวันที่ 19 มีนาคม กองทัพที่ประจำการนอกกรุงปารีสได้แปรพักตร์ไปเข้ากับโบนาปาร์ต ปล่อยให้เมืองหลวงเสี่ยงต่อการถูกโจมตี[103] ในวันเดียวกัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงหลบหนีออกจากเมืองหลวงพร้อมองครักษ์จำนวนเล็กน้อย พระเจ้าหลุยส์ทรงตัดสินพระทัยไปยังลีล จากนั้นทรงข้ามพรมแดนเข้าไปในสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และประทับที่เกนต์[104] ผู้นำคนอื่น ๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียทรงถกเถียงในเรื่องชัยชนะครั้งที่สองของจักรวรรดิฝรั่งเศส โดยทรงประกาศว่าดยุกแห่งออร์เลอองควรจะเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 18[105]

อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนปกครองฝรั่งเศสไม่นานนัก เนื่องจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกองทัพภายใต้การนำของดยุกแห่งเวลลิงตันและจอมพลบลือเชอร์ในยุทธการที่วอเตอร์ลูในวันที่ 18 มิถุนายน ฝ่ายพันธมิตรได้มีฉันทามติให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[106]

ค.ศ. 1815 - 1824

ภาพ Old Bumblehead the 18th trying on the Napoleon Boots – or, Preparing for the Spanish Campaign, โดย จอร์จ ครูค์ชังค์ ล้อเลียน เหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จกลับฝรั่งเศสทันทีหลังการพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนเพื่อให้ทรงแน่พระทัยว่าการฟื้นฟูราชบัลลังก์ครั้งที่สองของพระองค์นั้นอยู่ใน "รถไฟสัมภาระของศัตรู" ซึ่งก็คือ ทหารของเวลลิงตัน[107] ดยุกแห่งเวลลิงตันได้ใช้ตัวพระเจ้าหลุยส์ในฐานะใบเบิกทางไปยังกรุงปารีส ซึ่งผู้คนได้ตั้งป้อมปราการที่ปฏิเสธจะยอมจำนนต่อพันธมิตร แต่ยินยอมจำนนต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา พระเจ้าหลุยส์เสด็จถึงคองเบรในวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งพระองค์ทรงออกประกาศคองเบร โดยระบุว่าคนทุกคนที่ทำงานรับใช้จักรพรรดิในสมัยร้อยวันจะไม่ถูกประหัตประหาร ยกเว้น "ผู้ยุยงปลุกปั่น" นอกจากนั้นยังเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 อาจจะทำผิดพลาดในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่หนึ่ง[108] ในวันที่ 29 มิถุนายน ผู้แทน 5 คนจากสภาผู้แทนและสภาขุนนางได้เข้าพบเวลลิงตันโดยพูดคุยเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าชายต่างชาติให้ขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เวลลิงตันปฏิเสธคำร้องของพวกเขาและประกาศทันทีว่า "[พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็น] ทางเลือกที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของฝรั่งเศส"[109] เวลลิงตันสั่งให้สภาสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์[110] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จเข้ากรุงปารีสในวันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยการต้อนรับที่อึกทึก สวนพระราชวังตุยเลอรีส์เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ตามคำบอกเล่าของดยุกแห่งเวลลิงตันที่ว่า มีเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชนดังไปทั่วซึ่งทำให้ในตอนเย็นเขาไม่สามารถพูดคุยกับกษัตริย์ได้เลย[111]

บทบาททางการเมืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 นับตั้งแต่สมัยร้อยวันได้ลดลงอย่างมากด้วยความสมัครใจของพระองค์เอง พระองค์ทรงสละราชกิจส่วนมากให้แก่สภาของพระองค์ พระองค์และคณะรัฐมนตรีได้ริเริ่มปฏิรูปในฤดูร้อนปีค.ศ. 1815 ในสภาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีกลุ่มของรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการที่ให้คำปรึกษาพระมหากษัตริย์ ได้ถูกยุบและแทนที่ด้วยองคมนตรีสภาที่เรียกว่า "Ministère de Roi" ดยุกแห่งอาตัวส์ ดยุกแห่งอ็องกูแลม และดยุกแห่งแบร์รีได้ถูกปลดออกจากคณะ "ministère" ชุดใหม่ และตาแลร็องได้รับการแต่งตั้งเป็น Président du Conseil คนแรก ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศส[112] ในวันที่ 14 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีได้ยุบกรมกองทัพที่ดูเหมือนว่าจะเป็น "กบฏ" ตำแหน่งขุนนางที่สืบตามสายโลหิตได้ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์โดยคณะรัฐมนตรี[113]

ในเดือนสิงหาคม มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนซึ่งกลับส่งผลที่ไม่เอื้ออำนวยต่อตาแลร็อง คณะรัฐมนตรีหวังให้เกิดผู้แทนราฎรสายกลาง แต่ผลการเลือกตั้งได้เอื้ออำนวยให้แก่พวกคลั่งเจ้า (Ultra-Royalist) เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "Chambre introuvable" ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมและเคานต์แห่งอาตัวส์ทรงกดดันให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงปลดคณะรัฐมนตรีที่หัวโบราณหรือล้าสมัย ตาแลร็องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงแต่งตั้งดยุกแห่งรีเชอลีเยอเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รีเชอลีเยอถูกเลือกเนื่องจากเขาได้รับการยอมรับจากพระราชวงศ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายปฏิกิริยา หรือ ฝ่ายขวา[114]

ความรู้สึกต่อต้านนโปเลียนมีอย่างมากในบริเวณภาคใต้ของฝรั่งเศสและนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดในฐานะ ความน่าสะพรึงกลัวขาว ซึ่งเป็นการกวาดล้างข้าราชการคนสำคัญที่รับราชการในสมัยนโปเลียนและมีการดำเนินการประหารชีวิตบุคคลเหล่านี้ ชาวฝรั่งเศสปฏิบัติการกวาดล้างอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้กับเจ้าหน้าที่ทางการเหล่านี้ กีโยม มารี อานน์ บรูเน (นายพลสมัยนโปเลียน) ถูกลอบสังหารอย่างทารุณและศพของเขาถูกโยนลงไปในแม่น้ำโรน[115] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเสียพระทัยต่อการกระทำนอกกฎหมายดังกล่าว แต่พระองค์ก็ยังทรงสนับสนุนให้ดำเนินคดีต่อนายพลเหล่านี้ที่คอยช่วยเหลือนโปเลียนในสมัยร้อยวันต่อไป[116][117] รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ตัดสินประหารชีวิต มีแชล แน นายพลของนโปเลียนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1815 ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นทุรยศ พระสหายของพระองค์คือ ชาร์ล ฟร็องซัวส์ มาควิส เดอ บอนเนและดยุกแห่งลาชาร์เตร ได้แนะนำให้พระองค์ลงโทษเขาในฐานะ "กบฏ"

พระเจ้าหลุยส์ทรงลังเลที่จะดำเนินการนองเลือด และสิ่งนี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรฝ่ายขวาไม่พอใจพระองค์อย่างมาก ซึ่งรู้สึกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงดำเนินการประหารชีวิตมากพอ[118] รัฐบาลได้ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ "กบฏ" ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1816 แต่คดีที่มีการดำเนินการไต่สวนแล้วกำหนดให้ดำเนินการจนครบกำหนดเวลา ในประกาศเดียวกันยังห้ามสมาชิกราชวงศ์โบนาปาร์ตในการถือครองทรัพย์สินหรือเสด็จกลับมายังฝรั่งเศส[119] เป็นที่คาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 50,000 - 80,000 คนถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลในระหว่างเหตุการณ์ความน่าสะพรึงกลัวขาวครั้งที่สอง[120]

พระบรมวงศานุวงศ์ จากซ้ายไปขวา: ชาร์ล ดยุกแห่งอาตัวส์, พระเจ้าหลุยส์ที่ 18, มารี แคโรไลน์ ดัชเชสแห่งแบร์รี, มารี เตแรซ ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม, หลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม และชาร์ล เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งแบร์รี

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1815 รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเป็นจุดจบสมัยร้อยวันของจักรพรรดินโปเลียนอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชอบในฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญานี้ได้สร้างความตึงเครียด โดยพรมแดนของฝรั่งเศสได้ลดลงมาอยู่ในเขตแดนที่ระบุไว้ในค.ศ. 1790 ฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินสำหรับกองทัพที่เข้าไปครอบครองดินแดนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ในจำนวนเงิน 150 ล้านฟรังก์ต่อปี ฝรั่งเศสยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตรจำนวน 700 ล้านฟรังก์[121]

ในปีค.ศ. 1818 สภาได้ผ่านกฎหมายทหารโดยเพิ่มจำนวนทหารในกองทัพมากกว่า 100,000 นาย ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ดยุกแห่งรีเชอลีเยอประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้มหาอำนาจถอนกองทัพออกไปในช่วงต้นเพื่อแลกกับเงินจำนวนมากกว่า 200 ล้านฟรังก์[122]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเลือกรัฐมนตรีสายกลางจำนวนมาก ในฐานะที่พระองค์ทรงอยากเอาใจประชาชน สิ่งนี้ได้สร้างความตกตะลึงอย่างมากแก่พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ ซึ่งทรงเป็นกลุ่มคลั่งเจ้า[123] พระเจ้าหลุยส์ทรงหวั่นพระทัยถึงในวันที่เสด็จสวรรคต ทรงเชื่อว่า เคานต์แห่งอาตัวส์ พระอนุชาซึ่งเป็นรัชทายาทของพระองค์ จะทรงยุบรัฐบาลสายกลางเพื่อนำไปสู่ระบอบเผด็จการของพวกคลั่งเจ้า ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี[124]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงโปรดเจ้าชายสืบสายพระโลหิต เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิปป์ ดยุกแห่งออร์เลออง และมักจะทรงหาโอกาสดูถูกเจ้าชายโดยตลอด[125] ทรงปฏิเสธพระอิสริยยศ "รอยัลไฮเนส" ของเจ้าชาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่ทรงพอพระทัยบทบาทของพระบิดาในดยุกที่ทรงลงคะแนนเสียงให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ดยุกแห่งแบร์รี พระนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ถูกลอบปลงพระชนม์ที่โรงละครโอเปราปารีสในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820 พระราชวงศ์โศกเศร้าเสียพระทัยอย่างมาก[126] และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงละทิ้งกฎโบราณราชประเพณีโดยทรงร่วมพระพิธีฝังพระศพพระนัดดา ซึ่งในขณะที่ก่อนหน้านี้พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสไม่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตใด ๆ ได้[127] การสิ้นพระชนม์ของดยุกแห่งแบร์รีทำให้ราชตระกูลออร์เลอองมีแนวโน้มที่จะสืบราชบัลลังก์มากขึ้น

ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี กรุงปารีส

ดยุกแห่งแบร์รีเป็นพระราชวงศ์เพียงองค์เดียวที่ทรงสามารถให้กำเนิดพระบุตรได้ พระชายาของพระองค์ได้ตั้งพระนามโอรสที่ประสูติในเดือนกันยายน หลังจากที่บิดาสิ้นพระชนม์ว่า อ็องรี ดยุกแห่งบอร์โดซ์[126] มีพระนามลำลองว่า "ดิเยอดองเน" (Dieudonné; พระเจ้าประทาน) โดยพระราชวงศ์บูร์บงเพราะพระองค์ถูกคิดว่าจะเป็นผู้สร้างความปลอดภัยแก่ราชวงศ์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์บูร์บงก็ยังคงเป็นที่คลางแคลง รัฐสภาได้เสนอให้แก้กฎหมายแซลิกเพื่อให้ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์[128] ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1820 รัฐสภาได้ยอมรับกฎหมายเพิ่มจำนวนผู้แทนราษฎรจาก 258 ที่นั่งเป็น 430 ที่นั่ง สมาชิกสภาพิเศษจะได้รับเลือกจากย่านที่มั่งคั่งที่สุดในแต่ละจังหวัด บุคคลเหล่านี้จะมีคะแนนเสียงคนละสองคะแนน[129] ในช่วงเวลาเดียวกันในฐานะที่เป็น "กฎหมายสองคะแนนเสียง" พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงรับการเข้าเฝ้าทุกวันพุธจากสุภาพสตรีที่มีชื่อว่า โซอี ทาลอง และทรงมีรับสั่งไม่ให้ใครรบกวนขณะที่ทรงอยู่กับเธอ มีข่าวลือว่าพระองค์ทรงสูบยานัตถุ์ผ่านทางหน้าอกของเธอ[130] ซึ่งทำให้เธอได้รับฉายาว่า "tabatière" (กล่องยานัตถ์) [131] ในปีค.ศ. 1823 ฝรั่งเศสลงมือแทรกแซงทางการทหารในเหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการกบฏต่อต้านพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏ[132]โดยการนำของดยุกแห่งอ็องกูแลม[133]

สวรรคต

พระพลานามัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรุดลงในฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ. 1824 พระองค์ทรงทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน, โรคเกาต์และเนื้อตายเน่า ทั้งเปียกและแห้ง ในพระเพลา (ขา) และกระดูกสันหลัง พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1824 โดยทรงแวดล้อมด้วยเหล่าพระราชวงศ์และข้าราชการบางคน ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อคือ พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงครองราชย์ในฐานะ พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส[134]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้าย และเป็นเพียงพระองค์เดียวหลังจากค.ศ. 1774 ที่เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงครองราชย์ พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี ซึ่งเป็นสุสานของเหล่าพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ