ในราชสำนักของพระเชษฐา ของ พระเจ้าหลุยส์ที่_18_แห่งฝรั่งเศส

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส เคานต์แห่งพรอว็องส์ ในช่วงรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงพระประชวรด้วยโรคฝีดาษและสิ้นพระชนม์ในหลายวันต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม[20] ดอแฟ็ง หลุยส์ ออกุสต์ ทรงสิบราชบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในฐานะ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16[21] ในฐานะที่เป็นพระอนุชาองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงได้รับพระยศเป็นมองซิเออร์ (Monsieur) พระองค์ทรงปรารถนามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก พระองค์พยายามขอพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสภาของพระมหากษัตริย์ในปีค.ศ. 1774 แต่ล้มเหลว เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกปล่อยไว้ในสภาวะถูกลืมเลือนทางการเมืองที่พระองค์ทรงเรียกว่า "เป็นช่องว่าง 12 ปีในชีวิตทางการเมืองของข้าพเจ้า"[22] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระราชทานรายได้จากดัชชีแห่งอาล็องซงแก่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1774 การพระราชทานดัชชีนี้ให้เพื่อเสริมเกียรติภูมิเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส แต่ที่ดินดังกล่าวมีรายได้เพียง 300,000 ลีฟเรอ (livre) ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่เคยสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มาก[11]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสเสด็จทั่วฝรั่งเศสมากกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ ที่แทบไม่เคยเสด็จจากแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ใน ค.ศ. 1774 พระองค์เสด็จกับคลอทิลด์ไปแชมเบรีเพื่อพบกับเจ้าบ่าวของพระนางคือ ชาร์ลส์ เอ็มมานูเอล เจ้าชายแห่งพีดมอนต์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ซาร์ดิเนีย ใน ค.ศ. 1775 พระองค์เสด็จเยือนลียงพร้อมกับพระปิตุจฉาที่ยังไม่ได้เสกสมรสของพระองค์คือ เจ้าหญิงอาเดลาอีดและเจ้าหญิงวิกตัวร์ในขณะไปผ่อนคลายอิริยาบถในโรงอาบน้ำที่วีชี[10] การเสด็จพระราชดำเนินภูมิภาคสี่หนของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสมีก่อนปีค.ศ. 1791 รวมระยะเวลาสามเดือน[23]

ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 นายแพทย์ลาซอน แพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตยืนยันว่าพระนางทรงพระครรภ์[24] ในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 สมเด็จพระราชินีมีพระประสูติกาลพระราชธิดา ทรงพระนาม เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ชาร์ล็อตแห่งฝรั่งเศสและทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นเกียรติ มาดามรัวยาล การประสูติของพระราชธิดาได้คลายความกังวลพระทัยของเคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ซึ่งยังอยู่ในสถานะรัชทายาทในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพราะกฎหมายแซลิกตัดสิทธิหญิงในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[25][26] แต่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นรัชทายาทอยู่อีกไม่นานนัก ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1781 สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสคือ ดอแฟ็ง หลุยส์ โจเซฟ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสและพระอนุชาคือ เคานต์แห่งอาตัวส์ ทรงเป็นพระบิดาอุปถัมภ์ในฐานะตัวแทนของจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาในสมเด็จพระราชินี[27] เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสองค์ที่สองคือ เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1785 ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสก็เลื่อนอีก[28]

เจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เคานต์เตสแห่งพรอว็องส์ พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส วาดโดยฌอง-แบ็ฟติสต์-อังเดร เกาติเยร์ ดี อโกที ในปีค.ศ. 1775

ใน ค.ศ. 1780 อานน์ นอมปาร์ เดอ เคามองต์ เคานต์เตสแห่งบัลบี เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงตกหลุมรักนางสนองพระโอษฐ์คนใหม่ของพระชายาและตั้งเธอให้เป็นพระสนม[29] ส่งผลให้ความรักที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของทั้งสองหมดลงโดยสิ้นเชิง[30] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสได้ตั้งศาลาสำหรับพระสนมบนที่ดินซึ่งจะเป็นที่รู้จักในนามว่า Parc Balbi ที่แวร์ซาย[31]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงใช้พระชนม์ชีพอย่างเงียบ ๆ และกิจวัตรประจำ ทรงไม่มีกิจนับแต่พระองค์ทรงประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเองใน ค.ศ. 1774 พระองค์มักทรงประทับในห้องสมุดขนาดใหญ่ของพระองค์ที่มีหนังสือกว่า 11,000 เล่มที่พลับพลาของบัลบี พระองค์ทรงอ่านหนังสือหลายชั่วโมงของเช้าทุกวัน[32] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1780 พระองค์ยังทรงเป็นหนี้รวมฃมากถึงสิบล้านลีฟเรอ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระเชษฐาทรงจ่ายให้[33]

เจ้าชายหลุยส์ทรงร่วมทุนในเครื่องถ้วยเปลือกไข่ลายหนักซึ่งถูกเรียกว่า "ปอร์ชเลนเดอเมอซีเยอ" (Porcelaine de Monsieur) ในภาพตัวอย่างมาจากค.ศ. 1780

มีการประชุมสภาชนชั้นสูง (สมาชิกประกอบด้วยแมจิสเทรต, นายกเทศมนตรี, ขุนนางและนักบวช) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปด้านการคลังตามข้อเสนอของเสนาบดีการคลัง ชาร์ล อเล็กซองดร์ เดอ คาโลน เหตุการณ์นี้ให้เคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปมูลวิวัติของคาโลน มีโอกาสที่รอคอยมานานในการสถาปนาพระองค์เองในการเมือง[34] การปฏิรูปนี้เสนอภาษีทรัพย์สินใหม่[35] และสภาส่วนภูมิภาคที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ซึ่งจะมีสิทธิมีเสียงในการเก็บภาษีอากรท้องถิ่น[36] ญัตติของคาโลนถูกบุคคลสำคัญปฏิเสธโดยสิ้นเชิงและเป็นผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเขา อาร์กบิชอปแห่งตูลูซ เอเตียง ชาร์ล เดอ โลมีนี เดอ เบรียง สืบกระทรวงของคาโลน เบรียงพยายามกอบกู้การปฏิรูปของคาโลน แต่ที่สุดก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้บุคคลสำคัญอนุมัติการปฏิรูป พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงผิดหวังและทรงยุบสภา[37]

จากนั้น การปฏิรูปของเบรียงถูกส่งให้ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสด้วยหวังว่าการปฏิรูปจะได้รับอนุมัติ (ปาร์เลเมนต์รับผิดชอบต่อการให้สัตยาบันพระราชกฤษฎีกา แต่ละแคว้นมีปาร์เลเมนต์ของตนเอง แต่ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสำคัญที่สุด) ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสปฏิเสธยอมรับข้อเสนอของเบรียงและประกาศว่า การเก็บภาษีอากรใหม่ใด ๆ จะต้องได้รับอนุมัติจากสภาฐานันดร (รัฐสภาในนามของฝรั่งเศส) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเบรียงวางพระองค์เป็นปรปักษ์กับการปฏิเสธนี้ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องทรงนำ "ลีเดอจัสติส" (Lit de justice) มาใช้ ซึ่งจดทะเบียนพระราชกฤษฎีกาในปาร์เลเมนต์แห่งปารีสโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปที่ต้องการ วันที่ 8 พฤษภาคม สมาชิกชนชั้นสูงของปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสองคนถูกจับกุม เกิดการจลาจลในแคว้นเบรอตาญ แคว้นพรอว็องส์ แคว้นบูร์กอญและแคว้นเบอาร์นเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมพวกเขา ขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่นวางแผนการความไม่สงบดังกล่าว ซึ่งล่อลวงประชาชนให้ต่อต้านลีเดอจัสติส ซึ่งค่อนข้างไม่เป็นที่โปรดปรานของขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่น นักบวชก็เข้าร่วมอุดมการณ์ภูมิภาคและประณามการปฏิรูปภาษีของเบรียงเช่นกัน เบรียงยอมแพ้ในเดือนกรกฎาคมและตกลงเรียกประชุมสภาฐานันดรใน ค.ศ. 1789 เขาลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และแทนที่ด้วยเสนาบดีการคลังชาวสวิส ฌาคส์ เน็คเกร์[38]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1788 มีการประชุมสภาชนชั้นสูงครั้งที่สองโดยเน็คเกร์ เพื่อพิจารณาการประชุมสภาฐานันดรในลำดับต่อไป[39] ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสได้แนะนำว่าฐานันดรควรจะเป็นเช่นเดิมนับตั้งแต่การประชุมครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. 1614 (ซึ่งหมายความว่าพระและขุนนางสามารถมีผู้แทนมากกว่าฐานันดรที่สาม) [40]ชนชั้นสูงปฏิเสธข้อเสนอ "ผู้แทนร่วม" เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นชนชั้นสูงเพียงพระองค์เดียวที่ลงคะแนนเสียงให้เพิ่มจำนวนผู้แทนฐานันดรที่สาม[41] เน็คเกร์เพิกเฉยการตัดสินของชนชั้นสูงและเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มผู้แทนเป็นการพิเศษ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ทรงทำอย่างที่คาดไว้ในวันที่ 27 ธันวาคม[42]

การเกิดขึ้นอย่างรุนแรงของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติฝรั่งเศส

การประชุมสภาฐานันดรได้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 ในการให้สัตยาบันที่จะปฏิรูปทางการคลัง[43] เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการต่อต้านฐานันดรที่สามและข้อเรียกร้องในการปฏิรูปภาษี ในวันที่ 17 มิถุนายน ฐานันดรที่สามได้ประกาศตนเองเป็น สมัชชาแห่งชาติ เป็นสภาที่ไม่ใช่สำหระบฐานันดรแต่สำหรับประชาชน

เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ดำเนินการต่อต้านการประกาศตนครั้งนี้อย่างแข็งขัน ในขณะที่เสนาบดีที่มีชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ฌาคส์ เน็คเกร์ ได้มีความตั้งใจที่จะประนีประนอมกับสภาใหม่ที่ถูกประกาศขึ้นนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงลังเลพระทัยอย่างที่เป็นมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมัชชาได้ประกาศตั้งตนเองเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ในวันที่ 11 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเน็คเกร์ออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วกรุงปารีส ในวันที่ 12 กรกฎาคม ได้มีการใช้ดาบเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่สวนตุยเลอรีส์โดยกองทหารของชาร์ล เออแฌน เจ้าชายแห่งล็องแบ็สก์ได้จุดชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์การทลายคุกบัสตีย์ในสองวันถัดมา[44][45]

ในวันที่ 16 กรกฎาคม เคานต์แห่งอาตัวส์เสด็จออกจากฝรั่งเศสพร้อมพระชายาและพระโอรส รวมทั้งข้าราชบริพารมากมาย[46] เคานต์แห่งอาตัวส์และครอบครัวเสด็จไปพำนักที่ตูริน เมืองหลวงของพระสัสสุระ ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย และพำนักด้วยกันกับครอบครัวของเจ้าชายแห่งกงเต[47]

เคานต์แห่งพรอว็องส์ตัดสินพระทัยที่จะยังประทับอยู่ที่แวร์ซาย[48] เมื่อพระราชวงศ์วางแผนที่จะหลบหนีออกจากแวร์ซายไปยังแม็ส เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงแนะนำไม่ให้พระมหากษัตริย์เสด็จไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำ[49]

พระราชวงศ์ถูกบังคับให้เสด็จออกจากแวร์ซายเมื่อเกิดเหตุการณ์การเดินขบวนของสตรีไปยังแวร์ซายในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789[50] พระราชวงศ์กลับมาประทับที่ปารีสอีกครั้ง ซึ่งเคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาได้เข้าประทับในพระราชวังลุกซ็องบูร์ ในขณะที่พระราชวงศ์ที่เหลือประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์[51] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1791 สมัชชาแห่งชาติได้ผ่านกฎหมายจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแก่หลุยส์ ชาร์ลในกรณีที่พระราชบิดาสวรรคต ในการที่ทรงครองราชย์เมื่อขณะทรงพระเยาว์ กฎหมายนี้ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการจากพระญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดหลุยส์ ชาร์ลที่สุดในฝรั่งเศส (ในขณะนั้นคือเคานต์แห่งพรอว็องส์) และคนต่อมาคือหลุยส์ ฟิลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ข้ามเคานต์แห่งอาตัวส์) ถ้าหากดยุกแห่งออร์เลอ็องไม่สามารถปฏิบัติราชกิจได้ คณะผู้สำเร็จราชการจะมาจากการเลือกตั้ง[52]

เคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาเสด็จหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียร่วมกับพระราชวงศ์ แต่พระราชวงศ์ได้ล้มเหลวในเหตุการณ์การเสด็จสู่วาแรนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791[53]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ